ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 38' 52.0562"
17.6477934
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 7' 13.8644"
100.1205179
เลขที่ : 198438
มวยไทยพระยาพิชัยดาบหักและมวยท่าเสา
เสนอโดย อุตรดิตถ์ วันที่ 30 กันยายน 2567
อนุมัติโดย อุตรดิตถ์ วันที่ 30 กันยายน 2567
จังหวัด : อุตรดิตถ์
0 103
รายละเอียด

มวยไทยพระยาพิชัยดาบหัก คือมวยไทยที่สืบทอดมาจากพระยาพิชัยดาบหัก ทหารเอกแห่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วีรกษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย ผู้คิดค้นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวจากหลากหลายศาสตร์ หนึ่งในนั้นมีศิลปะการต่อสู้มวยท่าเสา มวยไทยโบราณของภาคเหนือ จนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการขนานนามว่า มวยไทยพระยาพิชัยดาบหักและมวยท่าเสา

มวยท่าเสา เป็นมวยไทยภาคเหนือที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากำเนิดขึ้นเมื่อใด และใครเป็นครูมวยคนแรก แต่จากหลักฐานที่ปรากฏ ทำให้ทราบว่าครูมวยท่าเสาที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่ง คือ ครูเมฆ ผู้มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องความคล่องแคล่วว่องไว เด็ดขาด มีลีลาท่าทางที่สวยงาม และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะไม้เตะ ถีบ และศอก เป็นที่เลื่องลือ จนกระทั่งพระยาพิชัยดาบหัก สมัยที่ยังเป็นนายทองดี ฟันขาว ถึงกับปฏิญาณตนว่า จะต้องมาขอเรียนศิลปะมวยไทยกับสำนักท่าเสาให้ได้ ซึ่งก็ได้มาเป็นลูกศิษย์ของครูเมฆ สมความตั้งใจ ได้รับการประสิทธิประสาทวิชามวยไทยท่าเสา และได้นำความรู้ที่ได้รับไปผสมผสานกับมวยจีน และศาสตร์อื่นๆ จนเกิดเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

พระยาพิชัยดาบหัก วีรบุรุษผู้กล้า เดิมชื่อ จ้อย เกิดในปี พ.ศ. ๒๒๘๔ ที่บ้านห้วยคา เมืองพิชัยจังหวัดอุตรดิตถ์ มีนิสัยชอบชกมวยมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี บิดานำไปฝากกับท่านพระครูวัดมหาธาตุ เมืองพิชัย ได้ศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉาน และซ้อมมวยไปด้วย ต่อมาได้ศึกษาชั้นเชิงมวยจากครูเที่ยงที่บ้านแก่ง และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ทองดี ฟันขาว” และไปเรียนมวยที่ท่าเสาเป็นลูกศิษย์ครูเมฆ ซึ่งมีชื่อเสียงในการสอนมวยมาก ในขณะนั้นนายทองดี ฟันขาว อายุได้ ๑๘ ปี ได้มีโอกาสชกมวยในงานไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ กับนายถึก ศิษย์เอกของครูนิล สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ ชื่อเสียงนายทองดี ฟันขาว กระฉ่อนไปทั่วเมืองทุ่งยั้ง ลับแล พิชัย และเมืองฝาง ต่อมาได้ไปศึกษาการฟันดาบที่เมืองสวรรคโลก และเดินทางไปเมืองตากร่วมเที่ยวงานพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดใหญ่ เจ้าเมืองตาก (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) จัดให้มีมวยฉลอง นายทองดี ฟันขาว ได้เข้าไปเปรียบมวย และชกมวยกับครูห้าว ครูหมึก จนสามารถเอาชนะได้ เจ้าเมืองตากพอใจมาก และชักชวนให้ไปอยู่ด้วย นายทองดี ฟันขาว จึงได้ถวายตัวเป็นทหารของเจ้าเมืองตาก (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ตั้งแต่บัดนั้น

พระยาพิชัยดาบหักเป็นนักรบผู้เชี่ยวชาญในการออกศึกทุกรูปแบบ เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิชัยอาสา เจ้าหมื่นไวยวรนาถ และพระยาสีหราชเดโช ตามลำดับ ตำแหน่งสุดท้ายได้กลับมาปกครองแผ่นดินเกิดคือ เจ้าเมืองพิชัย

มวยไทยพระยาพิชัยดาบหัก เป็นองค์ความรู้มวยไทยที่พระยาพิชัยดาบหักได้สร้างสรรค์เอาไว้ โดยท่านได้ผสมผสานความรู้ด้านมวยไทย ดาบไทย มวยจีน และลีลางิ้ว เกิดเป็นองค์ความรู้มวยไทยของท่าน ซึ่งเป็นเอกเทศไม่ขึ้นต่อใคร ความรู้ส่วนใดที่ได้รับการครอบครูมา ท่านก็ยังคงรักษารูปแบบ ลีลา เชิงมวยพิธีกรรม วิธีการของครูมวยท่านนั้นๆ ไว้ นอกจากนี้พระยาพิชัยดาบหักยังได้คิดค้นสร้างรูปแบบมวยไทยเป็นของท่านเอง ฉะนั้นมวยไทยพระยาพิชัยดาบหักจึงไม่เหมือนใคร โดยอาจกล่าวได้ว่า มวยไทยของพระยาพิชัยดาบหักนี้ เป็น “มวยครบเครื่อง” คือใช้นวอาวุธได้ครบทุกมิติของการต่อสู้ จึงสามารถรุก รับได้กับคู่ต่อสู้ทุกคน และเป็นมวยที่ให้ความสำคัญกับ “พื้นฐานมวยไทย” และ “พิธีกรรม” เป็นอย่างมาก จะไม่เน้นการจำ “กลมวยหรือแม่ไม้มวย” แต่จะฝึกให้คิดสร้าง “เชิงมวย” ในการรุก รับ เอาเองตามสถานการณ์ ฉะนั้นผู้ฝึกจึงต้องชำนาญใน “พื้นฐาน”

ปรัชญาและแนวคิด

บ่อเกิดของมวยท่าเสาและมวยไทยพระยาพิชัยดาบหัก เกิดมาจากการเป็นเมืองหน้าด่าน ซึ่งคนไทยต้องต่อสู้เพื่อรักษาบ้านรักษาเมือง ปรัชญามวยและแนวคิดของมวยท่าเสาและมวยไทยพระยาพิชัยดาบหัก จึงมุ่งการรักษาชีวิตของตนเองและเผด็จศึกฝ่ายตรงข้ามในขณะเดียวกันในการป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้เกิดภัยอันตรายจากคู่ต่อสู้ มวยท่าเสาจะใช้การหลบหลีกและตอบโต้อย่างทันควัน แต่มวยไทยพระยาพิชัยดาบหักจะใช้การหลบหลีก – ปัด – ป้อง – ปิด ก่อนตอบโต้ เพราะได้มีการแก้ไขมวยท่าเสาให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น แต่ทั้งมวยท่าเสาและมวยไทยพระยาพิชัยดาบหักต่างมุ่งเผด็จศึกคู่ต่อสู้เมื่อมีโอกาสเหมือนกัน มวยอุตรดิตถ์และมวยไทยพระยาพิชัยดาบหักจึงไม่เน้นการป้องกันตัวแต่อย่างเดียว แต่จะเน้นการเผด็จศึกควบคู่กันไปในขณะเดียวกัน โดยมวยไทยพระยาพิชัยดาบหักจะใช้ท่าย่าง ๘ ทิศ และท่ามือ ๔ ทิศ ในการป้องกันอันตรายจากคู่ต่อสู้ด้วยการหลบหลีก – ปัด – ป้อง –ปิด ก่อนเปิดเข้ากระทำ คือ รับก่อนรุกหรือรับขณะรุกเมื่อบุกโจมตี แต่อาจเปิดเข้ากระทำได้เมื่อโอกาสเปิดให้เช่นกัน เพื่อให้บรรลุถึงชัยชนะตามวัตถุประสงค์ในการต่อสู้ ในขณะที่ทำการต่อสู้ มวยไทยพระยาพิชัยดาบหักจะไม่เปิดช่องว่างในร่างกายให้คู่ต่อสู้อย่างเด็ดขาด เช่น เวลาเตะ มือจะต้องไม่ตก เพราะไม่แกว่งแขนเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้แก่การเตะ เมื่อเตะ ถีบ หรือเข่าแล้ว เท้าที่ใช้จะต้องวางลงข้างหน้าเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองถูกเตะตัดขาที่ยืนอยู่ ฯลฯ และนักมวยจะต้องสามารถเปลี่ยนเหลี่ยมเพื่อมิให้ตนเองเป็นเป้าหมายที่ไม่เคลื่อนไหว นักมวยจะต้องสามารถเปิดเข้าทำและแก้ไขอาวุธของคู่ต่อสู้ในขณะเดียวกัน ผู้ที่สามารถแก้ไขหรือป้องกันไม้มวยของคู่ต่อสู้โดยไม่มีอันตรายเกิดขึ้นแก่ตนเอง ย่อมสามารถทำอันตรายคู่ต่อสู้ได้เสมอ การเรียนมวยไทยพระยาพิชัยดาบหักจึงต้องเริ่มต้นที่การเรียนศิลปะป้องกันตัวก่อน แล้วจึงเรียนศิลปะการเอาชนะคู่ต่อสู้ นักมวยจะต้องหลบเลี่ยงอันตรายไม่ว่าในระหว่างการรับหรือการรุก นักมวยจะต้องเรียนการรับก่อนรุก เรียนแก้ก่อนผูก และต้องเรียนรู้จุดอ่อนของตนเองและของคู่ต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเองและพิชิตคู่ต่อสู้ เพราะไม้ตายของเราคือจุดว่างของคู่ต่อสู้ที่เกิดขึ้น เราจะต้องรุกเข้าหาจุดว่างหรือจุดอ่อนของคู่ต่อสู้เพื่อเผด็จศึกอย่างรวดเร็วเมื่อมีโอกาส แต่จะไม่มุ่งเผด็จศึกโดยเปิดช่องว่างของตนเองให้แก่คู่ต่อสู้อย่างเด็ดขาด

กลยุทธ์

มวยไทยพระยาพิชัยดาบหักมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน คือ การไม่ยอมเจ็บตัว โดยต้องการให้การเจ็บหนักเป็นเบา และเบาเป็นหาย และถ้าไม่เจ็บตัวเลยจะดีที่สุด เพราะการเจ็บตัวในสนามรบก็คือความตาย และการเจ็บตัวในการต่อสู้ป้องกันตัวก็คือความพ่ายแพ้ซึ่งอาจนำมาซึ่งความอับอายหรือความตายในที่สุด ดังนั้น มวยไทยพระยาพิชัยดาบหักจึงพยายามหลีกเลี่ยงการเจ็บตัวอย่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยอาศัยความคล่องแคล่วว่องไวและความรวดเร็วเช่นเดียวกับมวยท่าเสาในการต่อสู้ ในวัตถุประสงค์ของการไม่ยอมเจ็บตัว มวยไทยพระยาพิชัยดาบหักจะมีกลยุทธ์โดยการเลือกใช้มวยประเภทอ่อน หรือประเภทแข็งเข้าต่อสู้ มวยประเภทอ่อนคือการไม่เข้าต่อสู้ในมุมเฉียงซ้ายหรือมุมเฉียงขวาของคู่ต่อสู้ หรือแม้กระทั่งด้านหลังคู่ต่อสู้ เพื่อมิให้คู่ต่อสู้ใช้อาวุธโดยถนัด และให้คู่ต่อสู้ตกเป็นเป้าอาวุธฝ่ายเรา นั่นคือ การไม่เข้าปะทะทางด้านหน้าของคู่ต่อสู้ ส่วนมวยแข็ง คือ การเข้าต่อสู้ตรงด้านหน้าของคู่ต่อสู้ ถ้าหากฝ่ายเราแข็งแรงกว่าและมีอาวุธรุนแรงที่จะทำอันตรายคู่ต่อสู้ได้สะดวก มวยไทยพระยาพิชัยดาบหักจึงสามารถใช้ทั้งกลยุทธ์มวยอ่อนหรือมวยแข็งตามแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

การสืบทอด

องค์ความรู้มวยไทยของพระยาพิชัยดาบหัก ได้สืบทอดต่อกันมาในหมู่ทายาทลูกหลานสายเลือดของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สายสุกล “เชาวนปรีชา” ซึ่งเป็นทายาทสกุลหนึ่งของพระยาพิชัยดาบหัก การสืบทอดเป็นลักษณะสอนกันในครอบครัว รูปแบบของ “พ่อสอนลูก ลูกสอนหลาน” ต่อๆ กันมา จนกระทั่ง เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ สิบตำรวจตรี อาจารย์ดุสิต (ตุ๊) เชาวนปรีชา ทายาทพระยาพิชัยดาบหัก ได้ก่อตั้งสำนักดาบพิชัยรณยุทธ์ ที่บ้านเลขที่ ๓๓/๑ ถนนเจษฎาบดินทร์ ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อสอนถ่ายทอดวิชาดาบ วิชามวย วิชาคาถาอาคม ของพระยาพิชัยดาบหักให้ลูกหลานญาติมิตร ตลอดจนเด็ก เยาวชน บุคคลผู้สนใจในศาสตร์ด้านนี้

จวบจนปัจจุบัน ทายาทพระยาพิชัยดาบหักที่เป็นอาจารย์ใหญ่ของสำนักดาบพิชัยรณยุทธ์ และเป็นผู้สืบทอด ถ่ายทอดวิชาดาบ วิชามวย วิชาคาถาอาคมของพระยาพิชัยดาบหัก คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์หัสดินทร์ เชาวนปรีชา ข้าราชการบำนาญของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มีทั้งการสอนทุกวันพุธ ถึงวันพฤหัสบดี เวลา ๑๘.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และจัดให้มีการอบรมต่อเนื่องหลักสูตร ๓๐ ชั่วโมง และมีการเรียนการฝึกที่บ้านเลขที่ ๔/๑๙ ถนนเจษฎาบดินทร์ ซอย ๖ ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ในวันจันทร์ อังคาร เวลา ๑๘.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. ซึ่งเป็นบ้านพักของ ผศ.หัสดินทร์ ผู้ที่มาเรียนที่บ้านจะเป็นรุ่นพี่ที่มาเพิ่มเติมทักษะมวย เพื่อให้วิชามวยไทยพระยาพิชัยดาบหักคงอยู่กับชาวอุตรดิตถ์และประเทศไทยสืบไปนานเท่านาน

ศิลปะการต่อสู้มวยไทยพระยาพิชัยดาบหักและมวยท่าเสา เป็นมรดกอันทรงคุณค่าที่พระยาพิชัยดาบหักได้มอบไว้ให้กับลูกหลาน ซึ่งได้มีการสืบสาน รักษา และเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านศิลปะแม่ไม้มวยไทย ผ่านครูมวย และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนถือเป็นอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจของลูกหลานพระยาพิชัยดาบหัก ประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมทั้งเป็นศิลปะประจำชาติและเผยแพร่เกียรติภูมิของประเทศที่เป็นมรดกวัฒนธรรมสู่สากลตลอดมา

เอกสารอ้างอิง:มวยพระยาพิชัยดาบหัก ทายาทยุทธศิลป์สำนักมวยท่าเสา, กรกฎาคม ๒๕๕๕

สถานที่ตั้ง
วัดใหญ่ท่าเสา
ตำบล ท่าเสา อำเภอ เมืองอุตรดิตถ์ จังหวัด อุตรดิตถ์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ อีเมล์ uttaraditculture65@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ อีเมล์ uttaraditculture65@gmail.com
ถนน ประชานิมิตร
ตำบล ท่าอิฐ อำเภอ เมืองอุตรดิตถ์ จังหวัด อุตรดิตถ์ รหัสไปรษณีย์ 53000
โทรศัพท์ 055403092 โทรสาร 055403093
เว็บไซต์ https://uttaradit.m-culture.go.th/th
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่