ประเพณีการกวนข้าวทิพย์ เป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ ที่สอดแทรกเข้ามาในพิธีกรรมของพระพุทธศาสนา ถือเป็นพิธีที่กระทำกันในเดือนสิบ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๑ เลิกราไปในรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ และมาได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา โดยภาคกลางนิยมจัดทำกันในวันวิสาขบูชา แต่ในภาคอีสานนิยมทำกันในวันก่อนออกพรรษาหนึ่งวัน
จากความเชื่อในครั้งพุทธกาล ที่นางสุชาดาปรุงข้าวมธุปายาสถวายพระพุทธองค์ ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือกันว่าข้าวมธุปายาสเป็นของวิเศษเมื่อทำขึ้นจึงเรียกว่า ข้าวทิพย์
ชาวบ้านจะพร้อมใจกันทำในเทศกาลออกพรรษา ถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นการสักการบูชา ถ้าใครได้รับประทานจะเป็นสิริมงคลกับตนเอง การกวนข้าวทิพย์ต้องอาศัยแรงศรัทธา แรงใจ ความสามัคคีเหตุที่ทำในวันออกพรรษา เพื่อถวายเป็นเครื่องสักการะบูชาและรับเสด็จพระพุทธองค์ที่เสด็จจากจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์