ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 32' 54.1291"
13.5483692
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 59' 50.9161"
100.9974767
เลขที่ : 29238
ประเพณีแห่ธงตะขาบ
เสนอโดย - วันที่ 1 มกราคม 2553
อนุมัติโดย ฉะเชิงเทรา วันที่ 29 มีนาคม 2567
จังหวัด : ฉะเชิงเทรา
1 1829
รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

“ประเพณีแห่ธงตะขาบ” เป็นวัฒนธรรมของชาวรามัญหรือชาวมอญ ที่มาตั้งรกรากอยู่ในตำบลพิมพาบริเวณวัดพิมพาวาส (ใต้) ตำบลพิมพา อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประเพณีที่ชาวมอญถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีจุดประสงค์ในการประกอบพิธีกรรม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยจัดกิจกรรมประเพณีแห่ธงตะขาบในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ คือ ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๔ เมษายน ของทุกปี

จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีคนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ ทั้งชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยเชื้อสายมอญ มีประเพณีอันงดงามที่แสดงถึงความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตของชาวฉะเชิงเทราหลายประเพณี เช่น ประเพณีแห่ธงตะขาบ ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวรามัญและเป็นประเพณีสำคัญของชาวรามัญหรือชาวมอญ เนื่องจากเป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างการทำธงกระดาษและหัตถกรรมพื้นบ้านที่แสดงถึงความละเอียดอ่อน โดยผู้ทำธงกระดาษจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจและได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษโดยตรงจากรุ่นสู่รุ่น โดยรายละเอียดของการพับจะมีตัวอย่าง ดังนี้ ตัวตะขาบ ๑ ตัว จะมี 9 ราวนม นมละ 14 ช่วง และนมตะขาบจะอยู่เป็นนมคู่ หากเป็นตะขาบตัวผู้จะต้องมี 2 ปาก และหากเป็นตะขาบตัวเมียจะมีเพียงปากเดียวเท่านั้น เมื่อทำตัวตะขาบเสร็จเรียบร้อยแล้วผู้ทำก็จะนำแป้ง หวี กระจก ผม 1 ปอย และผ้าเช็ดหน้าไปแขวนไว้ที่ปากตะขาบ

ธงตะขาบแต่เดิมใช้เป็นธงกระดาษ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้ผ้าในการทำแทน และในปัจจุบันจะใช้เชือกเส้นขอบผูกขวางคั่นด้วยซี่ไม้ไผ่ จากนั้นใช้เสื่อผืนยาวปิดทับตรงส่วนของลำตัว ด้านของปลายไม้ที่ยื่นออกทั้งสองข้างจะประดับด้วยช้อนผูกห้อยแทนขาทุกซี่ โดยทำสลับกับการผูกพู่กระดาษเพื่อเพิ่มสีสันและความสวยงาม ส่วนหัวและหางสานจะผูกด้วยโครงไม้ปิดกระดาษสี ถือเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่สร้างสรรค์และสวยงามเป็นอย่างมาก

ประเพณีแห่ธงตะขาบในจังหวัดฉะเชิงเทรา จะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย ระหว่างวันที่ 12 - 16 เมษายน ของทุกปี ปัจจุบันประเพณีแห่ธงตะขาบนิยมแห่ทางบกมากกว่าทางเรือ ไม่เหมือนแต่ก่อนที่การคมนาคมยังไม่ทั่วถึง ก็จะนิยมใช้เรือในการแห่ทางน้ำ โดยส่วนมากในขบวนจะใช้กำลังคนในการเดินขบวนและใช้ยานพาหนะเพียงไม่กี่คันในการแห่ ผู้คนที่ร่วมเดินขบวนก็จะแต่งกายแบบพื้นเมืองอย่างสวยงามทั้งชายและหญิง ต่างคนก็จะถือธงตะขาบกันคนละอันและเดินรวมกันไปยังวัด เมื่อขบวนถึงวัดเรียบร้อยชาวบ้านก็จะนำธงตะขาบที่ทำการแห่มานั้น ไปผูกไว้กับต้นเสาในศาลาวัดเพิ่มเริ่มทำพิธี จากนั้นเมื่อถึงเวลาเริ่มพิธีพระสงฆ์ก็จะนำสายสิญจน์มาพันไว้รอบธง ลำดับต่อไปก็จะเป็นพิธีถวายธงโดยจะเริ่มต้นด้วยการกล่าวบทนมัสการคุณพระศรีรัตนตรัย ตามด้วยการสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ตามลำดับ หลังจากพิธีถวายธงเสร็จสิ้นลงแล้วก็จะถึงคิวของชาวบ้านที่จะต้องขึ้นไปแก้ธงตะขาบ จากนั้นนำธงตะขาบไปชักไว้บนยอดเสาหงส์ เป็นอันเสร็จพิธี

การจัดพิธีแห่ธงตะขาบ นอกจากจะเป็นการจัดเพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ยังจัดขึ้นเพื่อแก้บนตามความเชื่อของชาวบ้านที่ได้มาบนบานศาลกล่าวศาล ๓ หลัง ได้แก่ ศาลพ่อหนุ่ม ศาลพ่อแก่ และศาลเจ้าพ่อช้างพัน เพื่อขอให้ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน การเงิน เมื่อประสบผลสำเร็จตามที่ได้บนบานไว้ก็จะทำธงตะขาบตามขนาดความยาวที่บนไว้มาแก้ โดยจะมาแก้บนทุกวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่เล่าต่อกันมาว่า ทุกครั้งที่มีลมพัดแรงจนธงตะขาบส่ายไปมา จะถือว่าเป็นการบอกรับบุญกุศลของบรรพบุรุษว่าได้รับส่วนบุญส่วนกุศลแล้ว เป็นสิ่งที่สื่อว่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้ขึ้นสวรรค์ ถือเป็นการจบพิธีกรรมที่สมบูรณ์และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ในสังคมแต่ละพื้นที่ล้วนมีความเชื่อ พิธีกรรมต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป เพราะแต่ละพื้นที่มีผู้คน จากหลายเชื้อชาติมาอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้มีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน แต่ละสังคมก็จะมีความเชื่อที่แตกต่างกัน อย่างประเพณีแห่ธงตะขาบของชาวรามัญในพื้นที่บางปะกง ก็มีศาสนาเป็นตัวเชื่อมประสาน ความเชื่อ ความศรัทธา เป็นกุศโลบายที่แสดงออกถึงความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย เป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยเตือนสติให้แก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ประเพณีแห่ธงตะขาบเป็นประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ โดยการนำภูมิปัญญาที่สืบสานส่งต่อมาจากคนรุ่นก่อนมาเป็นประเพณี และใช้เป็นพิธีในการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ ที่สำคัญ คือ เป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน เป็นการรวมกำลังคนในชุมชนมาร่วมแรงร่วมใจแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ และทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้งานประเพณีที่สำคัญของชุมชนออกมาอย่างบรรลุเป้าหมายและดีที่สุด

สถานที่ตั้ง
วัดพิมพาวาส (ใต้)
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน 2 ซอย - ถนน -
อำเภอ บางปะกง จังหวัด ฉะเชิงเทรา
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สภาวัฒนธรรมอำเภอบางปะกง
บุคคลอ้างอิง นายคำนึง แสงทอง
เลขที่ 19/1 หมู่ที่/หมู่บ้าน 7 ซอย - ถนน -
ตำบล บางสมัคร อำเภอ บางปะกง จังหวัด ฉะเชิงเทรา รหัสไปรษณีย์ 24180
โทรศัพท์ 0859695286 โทรสาร -
เว็บไซต์ -
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่