ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 19° 16' 53.6009"
19.2815558
ลองจิจูด (แวง) : E 97° 57' 27.8982"
97.9577495
เลขที่ : 73541
หนองจองคำ
เสนอโดย admin group วันที่ 24 พฤษภาคม 2554
อนุมัติโดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555
จังหวัด : แม่ฮ่องสอน
0 2785
รายละเอียด

สถานที่ตั้ง สวนสาธารณะหนองจองคำ ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ประวัติหนองจองคำ เป็นชื่อหนองน้ำใหญ่ใจกลางเมืองแม่ฮ่องสอน เรียกชื่อตามสถานที่สำคัญที่อยู่ใกล้เคียงคือ วัดจองคำ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ตามเขตเมือง จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเมืองแม่ฮ่องสอน คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มาช้านาน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ได้รับการบอกเล่ามาจากบรรพบุรุษอีกทอดหนึ่ง ได้เล่าว่า หนองจองคำไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากแต่เกิดขึ้นโดยน้ำมือของมนุษย์โดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากสมัยก่อนซึ่งเป็นยุคสร้างบ้านแปงเมืองได้มีการขุดดินบริเวณหนองจองคำไปปั้นอิฐเพื่อสร้าง กองมูสี่สู่ หรือเจดีย์สี่องค์ในบริเวณทางรถยนต์ขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยกองมู ปัจจุบันเหลือเพียงร่องรอยบางส่วนเท่านั้น และสร้างทางเดินขึ้นดอยจากวัดพระนอนจนถึง ยอดต่อหมู่ หรือบริเวณพระยืนกลางดอยกองมูในปัจจุบัน ยอดต่อหมู่เป็นภาษาพม่า เพี้ยนมาจากคำว่า เหย้าต่อหมู่ เหย้าแปลว่า ถึง ต่อหมู่แปลว่า พระพุทธรูป รวมความแล้วจึงแปลว่า ถึงพระพุทธรูป ซึ่งต้องใช้อิฐเป็นจำนวนมาก โดยสร้างเตาเผา ณ บริเวณด้านข้างของอาคารพระปริยัติธรรมในปัจจุบัน จนมีหมอ กวามนำเอาเรื่องราวเหล่านี้ไปแต่งเป็นเพลงไตทำนองล่องคงเป็นเพลงเกี้ยวสาว ปรากฏอยู่ท่อนหนึ่งว่า “ ก้าแปงฮักซู้ดก๋อย เจ๋มเมื่อไฟลามฮ้าโตนหลอย ปา ยอดต่อหมู่ เย้าเน.. ” แปลว่า “ รักเธออย่างสุดซึ้ง ตั้งแต่ไฟลามไหม้ดอยและหน้าผาจนถึงยอดต่อหมู่ เลยนะ ” เพลงนี้สามารถบอกคนรุ่นหลังได้ว่าการสร้างกองมูสี่สู่และยอดต่อหมู่นั้น เกิดขึ้นมานานแล้ว เช่นเดียวกับการขุดดินปั้นอิฐที่หนองจองคำเพื่อสร้าง ศาสนสถานดังกล่าว ในที่สุดบริเวณที่ขุดเอาดินไปปั้นอิฐก็กลายเป็นหลุมใหญ่ ประกอบกับเป็นพื้นที่ต่ำอยู่แล้ว น้ำจากทุกทิศทั้งน้ำฝน น้ำใช้ น้ำจากบ่อน้ำที่รายรอบหนองน้ำ และน้ำแม่ฮ่องสอนบางส่วนก็ไหลลงมารวมกัน โดยเฉพาะด้านทิศเหนือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ กุงแกบ ” ซึ่งเป็นที่สูงมีบ่อน้ำที่เป็นตาน้ำจำนวนมาก เมื่อล้นจากหนองจองคำก็ไหลลงไปทางใต้ผ่านหน้าเรือนจำเก่าไปสู่ ถ้ำพัศดี พวกพัศดีในสมัยนั้นก็ได้ทำครกน้ำเทคโนโลยีชาวบ้านสำหรับตำข้าวเพื่อเอาไว้กินและเลี้ยงคนคุก ชาวบ้านเรียกว่า “ ครกน้ำพัศดี ” ปัจจุบันคือบริเวณอาคารที่ทำการป๊อกหนองจองคำ บริเวณด้านทิศใต้ซึ่งเป็นด้านหน้าของหนองจองคำ คือด้านที่ติดกับวัดจองคำมีการสร้างเข่งผี หรือศาลสำหรับเซ่นไหว้ผีเจ้าที่ ที่ดูแลหนองน้ำ เรียกว่า “ เข่งนายขาวแขนปุ๊ด ” ตามความเชื่อของชาวไตที่มักให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำ ป่า ที่ทำกิน หรือแม้แต่เครื่องมือทำกิน สัตว์เลี้ยงไว้ใช้งาน ตามจารีตดังกล่าวพอถึงวันพระ โดยเฉพาะวันเดือนเพ็ญหรือวันเดือนดับชาวบ้านมักจะนำ ก๊อกซอมต่อ หรือสะตวงไปเซ่นไหว้ด้วยความเคารพ ยำเกรง การที่เชื่อว่ามีผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยดูแลคุ้มครองนั้น ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าจับสัตว์น้ำในหนองไปรับประทาน เพราะเชื่อว่าหากฝ่าฝืน อาจจะมีอันเป็นไป ปัจจุบันความเชื่อนี้ได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยเชื่อถือเท่าไรนัก บางส่วนยังจับไปรับประทานหรือจับไปขาย ต่อมา มีการสร้างศาลาในหนองน้ำด้านทิศใต้ขึ้นสามหลัง หลังแรกเป็นศาลาของวัดจองกลาง หลังที่สองเป็นศาลาของนายจองจ่าเป็นผู้สร้างถวาย และหลังที่สามเป็นศาลาของวัดจองคำ ศาลาเหล่านี้เป็นศาลาจำวัดสำหรับพ่อศีลแม่ศีล สองหลังแรกถูกรื้อไปเพราะเหตุใดไม่มีใครทราบ แต่หลังสุดท้ายถูกรื้อทิ้งเพราะกลายเป็นศาลาร้างเนื่องจากมีผู้นำศพคนที่ถูกยิงตายมาไว้บนศาลา พ่อศีลแม่ศีลกลัวไม่กล้าพักนอนจำวัดก็เลยร้างไป ในสมัยนั้นหนองจองคำจะเต็มไปด้วยดอกบัวหลวง ออกดอกสีชมพูสะพรั่งเต็มไปหมด เด็กๆชอบว่ายน้ำลุยโคลนเข้าไปเก็บดอกบัวให้พ่อแม่นำไปถวายวัด บางคนก็จะเก็บหัวบัวเพื่อนำไปทำขนมหวาน ในอดีต มีการจัดงานในบริเวณหนองจองคำ เรียกว่า “ ปอยเฮือ ” ตรงกับเดือนห้า หรือวันปีใหม่เมืองของทุกปีเสียงดนตรีพม่าจะดังระงมไปหมด มีการแข่งเรือกันอย่างสนุกสนาน เป็นเรือพายลำขนาดกลางที่นำมาจากชุมชนแถบลุ่มน้ำต่างๆ เช่นลุ่มน้ำปาย ลุ่มน้ำแม่สะงา ลุ่มน้ำแม่สะมาด โดยการบรรทุกเกวียนมาทำการแข่งขันกันโดยเฉพาะ สมัยนั้นในเดือนห้าน้ำในหนองจะมาก เนื่องจากมีน้ำแม่ฮ่องสอนไหลลงสู่หนองจองคำ แต่หากเป็นฤดูทำนาหรือฤดูฝนน้ำจะน้อย เพราะเหตุว่าน้ำแม่ฮ่องสอนจะถูกผันไปทำการเกษตรจนแทบแห้งขอดนั่นเองเคยมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ท้ายหนองไปขอน้ำจากผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดโดยขอให้ผันน้ำลงหนองเพื่อให้ครัวเรือนที่อยู่ท้ายหนองได้ใช้น้ำเพื่อประโยชน์ในการเกษตร ปัจจุบันหนองจองคำถูกปรับปรุงโดยการทำพนังกั้นน้ำรอบหนองน้ำที่หล่อเลี้ยงจึงเกิดจากการจัดการน้ำของสำนักงานเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนโดยมีน้ำแม่ฮ่องสอนเป็นสายหลักซึ่งจะทำการผันน้ำลงมาเป็นระยะรวมทั้งน้ำซึมน้ำซับและน้ำฝนที่เกิดเองตามธรรมชาติส่วนน้ำทิ้งจากชุมชนจะไหลลงสู่ร่องน้ำที่ทำไว้รอบๆหนองจองคำไม่ได้ไหลลงสู่หนองน้ำแต่อย่างใด แต่ก็อาจมีน้ำเสียซึมผ่านลงสู่หนองบ้าง ตามวิธีการศึกษาของกรมชลประทานได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรมีการขุดลอกเอาโคลนตมจากหนองน้ำออกไป น้ำจึงจะสะอาดไม่เน่าเสีย

คำสำคัญ
หนองจองคำ
สถานที่ตั้ง
หนองจองคำ
ตำบล จองคำ อำเภอ เมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัด แม่ฮ่องสอน
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน
บุคคลอ้างอิง นางสุชาธิณี สมนาค
อีเมล์ wt_maehonghson@hotmail.com
ถนน ขุนลุมประพาส
ตำบล จองคำ อำเภอ เมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัด แม่ฮ่องสอน รหัสไปรษณีย์ 58000
โทรศัพท์ 053-614417 โทรสาร 053-614303
เว็บไซต์ www.maehongsonculture.com
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่