แหล่งศิลาแลง ด้วยองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญ คือ ออกไซด์ของเหล็ก อะลูมิเนียม และซิลิคอน ศิลาแลงจึงแข็งแกร่งกว่าดินทั่ว ๆ ไป และแข็งแกร่งกว่าอิฐที่เป็นดินเผาไฟ ดินชนิดนี้พบได้ในบริเวณป่าเขตร้อนที่มีฝนตกชุก เมื่อนำขึ้นจากใต้พื้นดินใหม่ ๆ จะอ่อนจนสามารถตัดแต่งเป็นรูปร่างต่าง ๆได้ แต่เมื่อถูกอากาศนาน ๆ เข้าก็จะค่อย ๆ แข็งกระด้าง เกิดรูพรุน และคงรูปร่างอยู่อย่างนั้นเนิ่นนานนับพันปี คนไทยเรารู้จักที่จะนำศิลาแลงขึ้นมาจากให้พื้นดิน มาตัดสร้างจำหลักเป็นโกลน หรือเป็นแกนกลางของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มาตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัย โดยเฉพาะเมืองกำแพงเพชร ที่เขตอรัญญิก แหล่งศิลาแลงขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ แทบจะใจกลางเมืองกำแพงเพชร ด้วยความสะดวกตรงพื้นที่นี้จึงมีการจัดสร้างวัดวาอารามขึ้นหลายแห่ง เกือบจะ 30 แห่งในพื้นที่กว้างแค่ไม่เกิน 100 ไร่ การก่อสร้างคือขุดเอาศิลาแลงจำหลักให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ เรียงซ้อนกัน หรือต่อกันไปเป็นรูปร่างเรียบร้อยก็พอดีแข็งตัว โบกปูนทับ จำหลักลวดลาย ระบายสีหรือลงรักปิดทอง เท่านั้นนั้นก็เรียบร้อย วัดวาอารามมากมายจึงเกิดขึ้นที่เขตอรัญญิก เพราะการก่อสร้างต่าง ๆ ทำได้โดยง่าย ด้วยแหล่งศิลาแลงอยู่ให้เนินอรัญญิกนั่นเอง
ปัจจุบัน มีการนำผงศิลาแลง มาย้อมผ้าฝ้ายและฝ้าไหม จะได้สีน้ำตาล แล้วนำมาทอเป็นผืนผ้า คณะกรรมากรได้พิจารณาคัดเลือกให้เป็นสีผ้าประจำจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชรได้เป็นอย่างดี