ผักพื้นบ้านชาวไทยรามัญ
ผักหนาม
ผักหนาม:เป็นผักพื้นบ้านพื้นเมืองที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างแท้จริง แม้ว่าผักหนามจะเกิดขึ้นทุกภาคของแผ่นดินไทย แต่ผักหนามเป็นที่รู้จักและนิยมกินกันอย่างมากในหมู่ชาวบ้านชนบทแถบภาคอีสาน และภาคเหนือ เป็นผักที่เก็บตามริมคลอง หนอง บึง ที่อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร
ผักหนาม เรียกตามลักษณะของผักที่มีหนามเกาะเต็มลำต้น หนามอ่อนที่อยู่ตามยอดอ่อนกินได้เพราะหนามนิ่ม หนามจะแข็งไปเรื่อยๆ ตามอายุความแก่ของลำต้น ผักหนาม มีลักษณะเป็นเหง้าเหมือนผักประเภทเหง้าทั่วไป เช่น กล้วย ต้นคูน ต้นบุก ต้นอีรอก เป็นต้น มีเหง้าฝังอยู่ในดิน ชอบความชุ่มชื้น ดังนั้นผักหนามจึงเกิดและเติบโตตามแอ่งน้ำ ริมน้ำทั่วไปในพื้นที่สูง ตามริมน้ำบนภูเขา ถ้าบริเวณที่ผักหนามขึ้น น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ก็สามารถมียอดผักหนามให้กินกันทั้งปี แต่โดยทั่วไปน้ำท่าชุ่มฉ่ำก็เฉพาะหน้าฝน ดังนั้นผักหนามจึงมีให้เก็บกินได้ถ้วนทั่วก็เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น
ผักหนาม ก็จะเป็นหนึ่งในผักพื้นบ้านที่เกิดตามธรรมชาติที่ชาวบ้านนิยมเข้าป่าหาผัก ผักที่ได้รวมกันมามีหลายชนิดในแต่ละฤดูกาล ฉะนั้นในฤดูกาลต้นหนาม ชาวบ้านก็จะเก็บผักหนาม ผักอีรอก เก็บเห็ดต่างๆ เรียกว่าเข้าป่าทีนึงก็ได้ผักมาหลายชนิดทีเดียว
ผักหนาม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lasia spinosa Thw. เป็นไม้ล้มลุก ลักษณะผักหนามจะแทงยอดขึ้นมาจากเหง้า เลื้อยไปตามดิน บ้างก็แทงตรง บ้างก็งอหงิก ทั้งนี้เพราะลำต้นอวบน้ำ ไม่มีแก่นไม้ คล้ายผักประเภทต้นคูน หรือลำต้นสายบัว คือเป็นโพรงอากาศอยู่ภายใน ใบมีขอบหยักเว้าลึกออกเป็นแฉกๆ รอยเว้าลึกเข้าไปเกือบถึงเส้นกลางใบ แฉกใบกว้าง ก้านใบยาว ก้านใบมีสีเขียว สีแดงเลือดหมู ใบอ่อนจะม้วนเป็นแท่งกลม ปลายแหลม ช่อดอกเป็นแท่งและดอกย่อยอัดแน่น มีกาบหุ้มช่อดอกสีน้ำตาล ก้านช่อดอกยาวมีหนามและไม่อร่อยเป็นที่สุด โดยทั่วไปชาวบ้านกินลำต้นอ่อนของผักหนาม จะกินแบบต้มแล้วเอาไปจิ้มสารพัดน้ำพริกประดามีของชาวบ้านเป็นหลักใหญ่ เพราะผักหนามที่สุกจะมีรสพิเศษของผัก คือออกรสหวานปนรสขม บางครั้งมีรสเปรี้ยวนิดๆ ขื่นหน่อยๆ ถือว่าอร่อยเป็นที่สุด เมื่อได้น้ำพริกรสเข้มข้น เผ็ด เค็ม เปรี้ยว ที่ลงตัว หรือต้มกับหางกะทิ รสหวานมันของกะทิเพิ่มความนุ่มนวลและรสชาติให้กับผักอร่อยยิ่งขึ้น
ข้อควรระวัง:ผักหนาม กินสดไม่ได้ เพราะมียาง ทำให้คันคออย่างมากและมีพิษ เพราะมีสารชื่อ hydrocyanic acid