ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 7° 12' 31.4071"
7.2087242
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 43' 31.9987"
99.7255552
เลขที่ : 89424
ประเพณีใหว้พระจันทร์
เสนอโดย สุปรียา ท้ายห้วน วันที่ 2 มิถุนายน 2554
อนุมัติโดย ตรัง วันที่ 3 มกราคม 2556
จังหวัด : ตรัง
1 696
รายละเอียด

ประเพณีไหว้พระจันทร์ เป็นประเพณีที่บรรพบุรุษของคนจีนในตำบลทุ่งยาว ซึ่งส่วนใหญ่อพยพจากแผ่นดินจีน มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทย โดยมาตั้งรกรากในตำบลทุ่งยาวได้นำประเพณีที่ตนเคารพนับถือมาปฏิบัติและถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลังได้ยึดถือปฏิบัติสืบมา ช่วงเวลาที่จัดวันที่ ๑๕ เดือน ๘ ตามปฏิทินจีน เวลา ๑๘.๐๐ - ๐๑.๐๐ น.

ความเป็นมาจากตำนาน เทพธิดาฉางเอ๋อ กับเทพโหว ในอดีตมีเทพธิดาองค์หนึ่งนามว่า ฉางเอ๋อ ครองคู่กับเทพโหว ผู้พิชิตพระอาทิตย์ทั้ง ๙ ดวง ได้รับพระราชทานยาวิเศษจากองค์เง็กเซียนฮ่องเต้ ซึ่งยาวิเศษดังกล่าวหากทานเข้าไปจะสามารถเหาะเหินได้ ครั้งหนึ่งเทพทั้งสองกระทำความผิดอาญาสวรรค์ จึงถูกสาปให้กลายเป็นสามัญชนธรรมดา ครันอยู่ไปนานวันเข้า ฉางเอ๋อเกิดอยากคืนกลับไปเป็นเทพดังเดิม จึงแอบขโมยทานยาวิเศษจนสามารถเหาะกลับไปสวรรค์ แต่เนื่องด้วยกลัวความผิดที่แอบขโมยทานยาเพียงคนเดียว จึงไม่กล้าที่จะเหาะกลับไปสวรรค์ จึงได้เหาะไปอยู่บนดวงจันทร์ แล้วไม่สามารถเหาะกลับลงมาได้อีก จึงได้อาศัยอยู่บนดวงจันทร์โดยมีเพียงต้นอบเชย และคางคกสามขา (เซียมซู้) อยู่เป็นเพื่อน แต่ในขณะที่อยู่บนดวงจันทร์ก็ได้ช่วยเหลือเหล่ามนุษย์บาโลกอยู่ตลอดเวลา จนคนทั่วไปยกย่องกราบไหว้ให้เป็นเทพธิดาหรือเจ้าแม่พระจันทร์ โดยถือเอาวันที่ ๑๕ เดือน ๘ ตามปฏิทินจีน เป็นวันไหว้พระจันทร์ เพราะถือว่าในช่วงเวลาดังกล่าวพระจันทร์สวยงามที่สุด

ความเป็นมาจากประวัติศาสตร์จีน ในอดีตชาวฮั่นถูกรุกรานจากมองโกล เข้าครอบครองแผ่นดิน ชาวบ้านถูกกดขี่ข่มเหงจากทหารมองโกล จึงคิดอุบายที่จะขับไล่ทหารมองโกล โดยจัดทำขนมเป๊ยะก้อนใหญ่ ไส้หนา ใส่จดหมายนัดแนะชุมนุมกันในขนมดังกล่าว เพื่อตบตาทหารมองโกล โดยข้อความในจดหมายนัดแนะวันที่ ๑๕ เดือน ๘ ซึ่งเป็นวันไหว้เจ้าแม่ในดวงจันทร์ เป็นวันขับไล่ทหารมองโกล เมื่อถึงวันดังกล่าวจึงได้เลี้ยงสุรา มอมเมาทหารมองโกลจนเมามาย แล้วใช้มีดหั่นผักที่มีฆ่าทหารมองโกลจนแพ้พ่ายไป

ความมุ่งหมายของประเพณี

๑. เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณของบรรพชนที่มีความกตัญญูต่อชาติ

๒. มุ่งเน้นให้มีความสามัคคีในหมู่คณะ ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ

๓. มุ่งเน้นให้มีความกตัญญู รู้คุณของธรรมชาติที่เราอาศัยอยู่

ขั้นตอนปฏิบัติงานหรือพิธีกรรม

๑. ในช่วงกลางวันจะมีการไหว้เทพเจ้าบรรพบุรุษ ในบ้านเรือน ของตน

๒. ไหว้เทพเจ้าที่เคารพนับถือในตำบล/หมู่บ้าน

๓. ไหว้บรรพชนผู้ไร้ญาติ โดยมีการจัดของเซ่นไหว้บริเวณหน้าบ้าน

๔. ช่วงบ่ายก่อนค่ำจะมีการตกแต่งโต๊ะไหว้พระจันทร์ ของแต่ละบ้านให้สวยงาม ถูกต้องตามประเพณี โดยมีของไหว้ตามประเพณี อาทิเช่น ขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋สีขาวหรือเหลือง ธัญพืช ๕ ชนิด ผลไม้มงคล ๕ ชนิด อาหารเจ ๕ ชนิด น้ำชา ดอกเบญจมาศ ขันน้ำมนต์ ชุดเครื่องแป้ง ชุดจำลองเทพเจ้า เป็นต้น

๕. ประกอบพิธีเซ่นไหว้จนพระจันทร์ขึ้นเต็มดวง ในช่วงเวลา ๒๓.๐๐ -๐๑.๐๐ น.

๖. เมื่อไหว้เสร็จตามเวลาที่เหมาะสม จะมีการเผาเครื่องกระดาษต่างๆ แล้วจุดประทัด

ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง

เชื่อว่า หากหญิงคนใดได้ร่วมพิธีไหว้ดังกล่าว จะมีผิวพรรณที่งดงาม อีกทั้งเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี เฉกเช่นเดียวกับเทพธิดาฉางเอ๋อ ที่สถิตอยู่บนดวงจันทร์

คุณค่าของประเพณี

สาระของประเพณี มุ่งหวังที่จะสอนให้คนรุ่นหลัง รู้จักความกตัญญูต่อบรรพชนที่เสียสละเพื่อบ้านเมือง รู้คุณของธรรมชาติที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ รู้รักสามัคคีในการอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือกัน อีกทั้งให้เชิดชูความรักที่ดีงามที่มีต่อสรรพสิ่งในโลก

การสืบทอดประเพณี

ถ่ายทอดสาระ เจตนาของประเพณีให้ทุกคนได้รู้ เข้าใจและปฏิบัติ ก่อให้เกิดความยึดมั่น หวงแหนในประเพณีของตน พร้อมที่จะรักษา สืบทอดประเพณีนี้สู่ชนรุ่นหลังต่อไป

งานนี้ทำร่วมกับงานอาหารดีด้วย “ด้วยความที่คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในเขตเทศบาล ต. ทุ่งยาวหรือที่อยู่ใกล้เคียงจะเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว และมีประเพณีจีนต่างๆ ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ประเพณีการไหว้พระจันทร์ ก็ถือว่าเป็นประเพณีหนึ่งที่ชาวทุ่งยาวสืบทอดปฏิบัติกันมาโดยตลอด ตามความเชื่อที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษในเรื่องของวันไหว้พระจันทร์ที่เกิดขึ้นมาจากกู้ชาติของชาวจีนมองโกลในอดีต ที่เมื่อก่อนคนจีนตกอยู่ภายใต้อำนาจของคนมองโกล และก็เกิดมีขบวนใต้ดินกู้ชาติขึ้น โดยมีการนัดหมายกันว่าในคืนวันเพ็ญเดือน 8 จะทำการฆ่าชาวมองโกลให้สิ้นราบ และก็สามารถทำได้สำเร็จ ดังนั้นพอถึงวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจีน จึงมีการจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์อยู่ตามหน้าบ้านของทุกคน เพื่อระลึกถึงการกู้ชาติจากชาวมองโกล สำหรับการจัดงานประเพณีไหว้พระจันทร์ของชาวตำบลทุ่งยาวมีการจัดติดต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบันก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามความเหมาะสม โดยสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการจัดงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ นั้น สิ่งของจำนวน 3 อย่างด้วยกัน นั่นก็คือ ต้นอ้อย เผือก และขนมเปียะ ทั้งนี้กิจกรรมภายในงานก็จะมีการประกวดโต๊ะไหว้พระจันทร์ การประกวดธิดาพระจันทร์ และการแสดงบนเวทีของนักเรียน นักศึกษาตลอดทั้ง 3 วันของการจัดงาน และที่สำคัญก็จะมีพิธีอัญเชิญตะกร้าศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีกรรมที่ทำควบคู่กับงานประเพณีไหว้พระจันทร์มาช้านาน โดยพิธีกรรมนี้สามารถทำได้เฉพาะในเดือนแปดเป็นระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น เพื่อมาทำลายดวงชะตาของผู้ที่มีความศรัทธา นอกจากนี้ก็ยังมีการปล่อยโคมไฟยี่เป็ง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของงานประเพณีไหว้พระจันทร์

สถานที่ตั้ง
ตลาดเทศบาลตำบลทุ่งยาว
เลขที่ 46 หมู่ที่/หมู่บ้าน 2 ซอย - ถนน -
ตำบล ทุ่งยาว อำเภอ ปะเหลียน จังหวัด ตรัง
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
นายสุรศักดิ์ เอ้งฉ้วน
บุคคลอ้างอิง นายเสรี พันธุศักดิ์
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน พัทลุง
ตำบล ทับเที่ยง อำเภอ เมืองตรัง จังหวัด ตรัง รหัสไปรษณีย์ 92000
โทรศัพท์ 075217586 โทรสาร 075217585
เว็บไซต์ -
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่