ประวัติความเป็นมา “เสาหงส์” เป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญโดยทั่วไป เนื่องจากชาวมอญนับถือหงส์เป็นสัญลักษณ์ของ ชนชาติ เสาหงส์นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังธงตะขาบซึ่งเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ตามตำนานเล่าว่ามีชาวมอญไปพลต้นจันทน์ยืนต้นตายอยู่ในป่า ลักษณะของต้นจันทน์ดังกล่าวเป็นลำต้นตงสวยงาม จึงได้ตัดต้นจันทร์ดังกล่าวมาปักไว้ในบริเวณวัดของหมู่บ้านที่ตนพักพิงอยู่ เพื่อแขวนธงตะขาบบูชาพระพุทธเจ้า ในภายหลังได้ปรับให้สวยงาม และมีความหมายมากขึ้น จึงแกะไม้เป็นรูปหงส์ประดับไว้ที่ปลายเสา ต่อมาได้พัฒนารูปแบบของเสาให้สะดวก และสวยงามยิ่งขึ้น โดยเพิ่มเสาตะเกียบกระหนาบเสาหงส์ดังกล่าวเพิ่มสีสันและลวดลายต่าง ๆ บางวัดจะสร้างเสา ๒ ต้นคู่แล้วแต่กำลังศรัทธาของแต่ละชุมชน ในปัจจุบันบางวัดได้พัฒนาการทำเสาหงส์ด้วยท่อเหล็ก เพื่อความคงทน ความสูงของเสาประมาณ ๑๐ เมตร ก่อปูนถืออิฐเป็นแท่น เพื่อให้ดูสวยงามและสง่าเป็นราศีของวัดอย่างหนึ่ง เสาหงส์นี้มักจะสร้างบริเวณหน้าวัด เพื่อให้ประชาชนที่ผ่านไปมามองเห็นอย่างเด่นชัด “เสาหงส์” เป็นสิ่งประดับตกแต่งบ้านเมืองอย่างหนึ่ง ทว่าธงนั้นงามเฉพาะเวลากลางวันครั้นยามกลางคืนก็มองไม่เห็น ต่อมาจึงมีคนคิดผนวกโคมไฟขึ้นบนเสานั้นด้วยออกแบบให้เป็นรูปหงส์คาบโคมไฟห้อยลงมา ไม่เกี่ยวกับความเชื่อของชาวมอญ อันเป็นต้นกำเนิดของเสาหงส์ในหมู่ชาวมอญเมืองไทย และกลายเป็นประเพณีนิยมและรับรู้กันทั่วไปว่าวัดที่มี “เสาหงส์” แสดงว่าเป็นวัดมอญ “ธงตะขาบมอญ” ในบริเวณเชิงเขาสิงฆุตตระมีตะขาบใหญ่ตัวหนึ่งเที่ยวจับช้างกินเป็นอาหาร เมื่อกินเนื้อช้างแล้วก็เอากระดูกและงาช้างมาทำรังเป็นที่อยู่อาศัยวัดความสูงได้ประมาณ ๗ ชั่วลำตาล เมื่อนานวันเข้าช้างในบริเวณเขาสิงฆุตตระลดน้อยลงและหายาก จึงได้เที่ยวไปหาล่าช้างเป็นอาหารยังสถานที่ห่างไกลออกไป ที่บริเวณภูเขาสิงฆุตตระนั้น มีฤาษีอาศัยอยู่ ๑๐ ตน มีชื่อว่า ระคะ สิริ ทัตตะ สิรินทะ ทันตะ -๒- อาขัมมะ เอกกะ โกชะ อมตะ สีทันตะ ทั้ง ๑๐ ตนนี้เป็นผู้มีฌานและอภิญญา และได้ทำกติกากันไว้ว่าทุกคืนพวกเราจะแสดงแสงประทีปให้ปรากฏแก่กันและกัน หากวันใดไม่เห็นแสงประทีปบนภูเขาที่ฤาษีตนใดอาศัยอยู่ เหล่าฤาษีซึ่งเป็นสหายกันทั้งหมดจะต้องไปประชุมพร้อมกันที่ภูเขาแห่งนั้น เพื่อจะได้รับทราบสาเหตุความเป็นไปแห่งฤาษีตนที่ไม่แสดงแสงประทีปนั้น จำเนียรกาลต่อมา ฤาษีผู้เป็นหัวหน้าชื่อว่าราคะได้เกิดเจ็บป่วยขึ้น จึงไม่ได้แสดงแสงประทีปให้ปรากฏ เหล่าฤาษีนอกนั้นไม่เห็นแสงประทีปของท่าน จึงได้มาประชุมกันยังที่อยู่ของราคะฤาษีกันทั้งหมด แม้ฤาษีเหล่านั้นจะช่วยกันรักษาอย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถจะรักษาอาการป่วยของราคะฤาษีให้ทุเลาลงได้ และได้ถึงแก่อนิจกรรมไปในที่สุด ราคะฤาษีเมื่อตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินในเมืองแห่งหนึ่ง ปกครองไพร่ฟ้าประชาชีอย่างสงบร่มเย็น ต่อมาพระองค์เกิดประชวรปวดพระเคียรอย่างแรงกล้า แม้พวกแพทย์หลวงจะถวายการรักษาอย่างไรก็ตามอาการประชวรก็ไม่สงบ พระองค์จึงรับสั่งให้บวงสรวงเทวดา ตกกลางคืนเทวดาบันดาลให้พระองค์ทรงพระสุบินว่า ข้าแต่มหาบพิตร อาการประชวรปวดพระเศียรของพระองค์ ถ้าจะให้หายขาดนั้น พระองค์จะต้องนำเอาแก่นจันทน์ไปขอขมาลาโทษหมู่ฤาษีที่อาศัยอยู่ที่ภูเขาสิงฆุตตระโน้น ครั้นรุ่งอรุณพระองค์ทรงรับสั่งให้หมู่เสนามาตย์นำเอาแก่นจันทน์ขาวประมาณ ๗ ลำเรือมุ่งหน้าไปสู่ภูเขาสิงฆุตตระ เมื่อเสด็จไปถึงที่อยู่ของหมู่ฤาษี หมู่ฤาษีจึงถามขึ้นว่าพระองค์พากันมาจากสถานที่แห่งไหนหรือพระราชาตรัสถามว่า พระคุณท่านไปไหนกันหมดหรือเรามาเพื่อจะขอขมาลาโทษพระคุณท่านทั้งหลาย หมู่ฤาษีได้ฟังพระองค์ตรัสอย่างนั้น จึงพากันหัวเราะแล้วทูลกับพระองคืว่า ในอดีตกาลชาติที่ผ่านมาแล้วนั้น พระองค์เป็นอาจารย์ของพวกเรามีชื่อว่า ราคะฤาษี เมื่อพระองค์ได้จุติไปแล้ว ด้วยเหตุที่พระองค์มีใจผูกพันอยู่กับทรัพย์สิ่งของ จึงได้ไปเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วบอกต่อไปอีกว่าแก่นจันทน์ขาวที่พระองค์นำมานั้น ขอให้พระองค์นำไปฝนที่บริเวณพระเศียรของพระองค์เถิด พระราชาจึงนำแก่นจันทน์ขาวไปฝนที่พระเศียรของพระองค์ ปรากฎว่าอาการปวดพระเศียรหายขาดเป็นปลิดทิ้ง พระองค์พร้อมด้วยพฤฒามาตย์ราชบริพาร ได้เสด็จประพาสชมบริเวณรอบ ๆ ภูเขาแห่งนั้น พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นกองงาช้างที่ตะขาบทำรังไว้ที่เชิงภูเขาแห่งนั้นเข้า จึงรับสั่งให้ราชบริพารที่ติดตามเสด็จขนงาช้างงาลงเรือจนเต็ม ๗ ลำเรือ แล้วพระองคืก็ทูลลาหมู่ฤาษีแล้วเสด็จกลับยังพระนคร ขณะที่เรือกำลังแล่นออกไปนั้น ก็พอดีกับเวลาที่ตะขาบได้กลับมาจากกันเที่ยวหาช้างกินเป็นอาหาร มันไม่พบรังของมันซึ่งแต่เดิมตั้งตระหง่านประมาณ ๗ ชั่วลำตาล มันเที่ยวตามหาบนบกจนทั่วก็ไม่พบ จึงตามไปที่ทะเลก็ได้พบกับเรือ ๗ ลำที่บรรทุกงาช้างของตนกำลังแล่นออกไป มันจึงไล่ตามไปอย่างกระชั้นชิด ณ บริเวณกลางทะเลใหญ่ที่เรือแล่นไปนั้น มีปูยักษ์อาศัยอยู่ตัวหนึ่ง มีชื่อว่า คันธัพพะ ปูมันเหลือบไปเห็นตะขาบที่กำลังไล่ตามเรือมาด้วยความโกรธ ปูจึงคิดในใจว่าน่าจะมีเหตุไม่ดีบางประการ และเป็นอันตรายกับตนเป็นแน่ จึงได้อ้าก้ามค้างไว้เพื่อป้องกันตัว ปรากฏว่าเรือทั้ง ๗ ลำ มีขนาดเล็กกว่าช่วงระยะอ้าก้ามของปูจึงลอดไปได้โดยไม่กระทบกับก้ามปูแต่อย่างใด ส่วนตะขาบด้วยเหตุที่มันตัวใหญ่มากเมื่อไล่ตามเรือไปตัวของมันกระทบถูกก้ามปูเข้า ปูจึงได้หนีบตะขาบจนขาดเป็น ๓ ท่อน ตาย ณ ที่ท่ามกลางทะเลใหญ่นั้น เนื้อตะขาบที่ขาดจนลงไปนั้น กุ้งมังกรมีชื่อว่า โกสะ กินจนหมดสิ้น พระราชาครั้งเสด็จถึงพระนครแล้วก็รับสั่งให้ขนงาช้างที่นำมาแต่ภูเขาสิงฆุตตระสร้างเป็นปราสาท ๗ ชั้น ในอาณาบริเวณพระราชวังของพระองค์ อยู่มาวันหนึ่งพระองค์ทรงสุบินว่า มีตะขาบยักษ์ตัวหนึ่งจะมาทำลายปราสาทที่พระองค์สร้างไว้ เมื่อพระองค์ตื่นจากบรรทมแล้วก็รับสั่งให้โหรหลวงทำนายสุบินของพระองค์ โหรหลวงได้ถวายคำทำนายว่า เหตุที่พระองค์ทรงสุบินเช่นนั้น เป็นเพราะพระองค์ได้นำเอางาช้างซึ่งเป็นรังที่อยู่อาศัยของตะขาบมาทำปราสาท และเป็นสาเหตุให้ตะขาบต้องจบชีวิตลงด้วยถูกปูหนีบ จึงเกิดความอาฆาตในพระองค์ พระราชาจึงตรัสถามว่า แล้วเราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร โหรหลวงจึงได้ถวายคำแนะนำว่า ขอให้พระองค์นำเอาผ้าผืนใหญ่เขียนเป็นรูปตะขาบ แล้วนำไปแขวนไว้บนยอดปราสาท เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า ตะขาบเป็นเจ้าของปราสาทหลังนี้ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ตะขาบ และเป็นการขอขมาลาโทษ จะได้หมดเวรหมดกรรมต่อกัน สำหรับประเพณีแห่หงส์ธงตะขาบ มักจัดขึ้นในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี