ประวัติความเป็นมาของการทำเปลญวน
ชาวบ้านในหมู่บ้านดงพยุง อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อครั้งก่อนสมัยปู่ยาตายายได้ใช้ผ้าขาวม้าเป็นวัสดุในการผูกเปลให้ลูกนอนในบ้านและตามต้นไม้หรือขณะไปทำงานการเกษตรทำนาเพื่อเป็นการพักผ่อนเนื่องจากผ้าที่แขวนเปลไม่คงทนและไม่ถาวร อีกทั้งไม่มีอากาศถ่ายเทได้ไม่สะดวก จึงทำให้เกิดภูมิปัญญาท้องถิ่นประกอบกับมีเศษผ้าที่ผ่านการคัดเลือกนำเฉพาะผ้าที่ทนทานไม่ขาดง่ายจากหนุ่มสาววัยแรงงานที่ไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯได้นำเศษวัสดุผ้าที่สวยงามมายังในหมู่บ้าน ที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกจึงเกิดนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าวัสดุเศษผ้าที่เหมาะสม จนเกิดการแปรสภาพสินค้าเป็นเปลญวนขึ้น
วัสดุที่ใช้
เศษผ้าที่เหลือใช้จากโรงงานเป็นเส้น ๆ , เศษไม้ที่เหลือใช้ยาวประมาณ 1 เมตร และตะปู 2 ดอก
ขั้นตอนการทำ
1. นำเศษผ้าที่เหลือใช้จากโรงงานเป็นเส้นๆมาแยกเป็นสีๆ
2. นำเศษผ้ามาแยกม้วนไว้เป็นแต่ละสีตามความหนาของผ้า
3. เตรียมเศษไม้ที่เหลือใช้ยาวประมาณ 1 เมตร มาตีตะปูโดยมีความกว้างของตะปู 2 ดอก ห่างกัน 30 ฟุต
4. นำวัสดุเศษผ้าที่เตรียมไว้สำหรับทำหูเปลมาพันกับตะปูทั้งหมด 7 รอบ
5. นำเศษผ้ามาสานเป็นบ่วงไขว้กันลักษณะคล้ายถักเปียให้มีความยาว 10 นิ้ว แล้งจึงนำปลายทั้ง 2 ข้าง ผูกเข้าหากันให้เป็นห่วงวงรี จึงได้หูเปลจำนวน 14 หู โดยทำตามขั้นตอนที่ 5 อีก 1 รอบ จึงจะได้หูเปล 2 ข้าง
6. นำหูเปลมาสานขึ้นต้นด้วยเศษผ้าที่เตรียมไว้ในขั้นตอนที่ 2 โดยเก็บหูไว้ 2 อัน จะเหลือหู 12 อัน เริ่มถักหูแรกโดยขึ้นต้นสอดผ้าลักษณะเงื่อนพิรอด ถักไปเรื่อยๆจนครบ 12 หู (ครบ 1 แถว)
7. นำเศษผ้าอีก 1 สีที่เตรียมไว้โดยผูกกับหูแรก แถวที่ 1 แล้วนำมาถักเป็นเงื่อนพิรอดกับแถวที่ 1 ถักไปเรื่อยๆจนครบ 12 ช่อง จะได้แถวที่ 2
8. ทำตามวิธีตามขั้นตอนที่ 6 และขั้นตอนที่ 7 สลับสีกันไปมาทั้งสองสีไปเรื่อยๆจนครบ 14 แถว
9. นำหูที่เหลืออีกข้างมาผูกกับต้นเสาเพื่อทำการต่อเปลที่ถักเสร็จแล้ว 14 แถว นำปลายเศษผ้าจากแถวที่ 14 มาถักต่อหูที่เตรียมไว้โดยถักสลับฟันปลากันไปมาเหมือนถักเปล ตามขั้นตอนที่ 6 และขั้นตอนที่ 7 จนไปสุดแถว (แถวที่ 15)
10. นำปลายผ้าที่ถักเสร็จแถวที่ 15 แต่ละข้างให้สอดบ่วงด้านข้างไปจนสุดหูเปลอีกด้านเพื่อใช้ปรับความลึกตื้นของเปลนอน
จำหน่ายในราคาส่ง(จำนวนมาก) 80 บาท/อัน จำหน่ายในราคาปลีกราคา 100 บาท/อัน
ช่วยสร้างรายได้และเป็นศูนย์พัฒนาของหมู่บ้านทำให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มชุมชนและเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน