ผีปะกำ เป็นเทพเจ้าสูงสุดองค์เดียวที่ชาวกูย/กวยอะจีง (ชาวกูยที่มีอาชีพเลี้ยงช้าง) เคารพบูชาเป็นเทพเจ้าที่สำคัญยิ่ง เพราะให้ความคุ้มครองและผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของชาวกูย/กวยอะจีงตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เกี่ยวกับอาชีพคล้องช้าง การครองชีพ การเจ็บไข้ได้ป่วย การมีโชคลาภ เคราะห์กรรม หรืออาจกล่าวได้ว่า วิถีชีวิตในสังคมของชาวกูย/กวยอะจีง มีผีปะกำเป็นที่พึ่งและยึดเหนี่ยวจิตใจ ผีปะกำ คือผีที่สิงสถิตอยู่ในหนังปะกำ ซึ่งทำมาจากหนังกระบือ หรือหนังวัว หรือเครือไม้ ชาวกูย/กวยเชื่อว่า เชือกปะกำที่ใช้ในการคล้องช้าง คือที่รวมของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นพระครูปะกำ หมอช้างต้นตระกูล และญาติพี่น้องที่ล่วงลับ ซึ่งเชื่อถือกันว่า ผีปะกำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เชือกปะกำดังกล่าวจะนำมาฟั่นเกลียวให้เป็นเชือกยาวประมาณ ๔๐ เมตร หรืออาจยาวมากกว่านี้ก็ได้ตามความต้องการ ปลายเชือกข้างหนึ่งทำเป็นบ่วงบาศ หรือปลอกคู่ (ปลอก ๒ วง)ทำด้วยหนังกระบือ หรือหนังวัว หรือเครือไม้ ( ภาษากูย/กวยเรียก อะวาลแปรง) ใช้สำหรับสวมรวบขาหน้า หรือขาหลัง ทั้งคู่ของช้างเข้าด้วยกัน ทำให้ช้างวิ่งหรือเดินไม่ได้ การเก็บรักษาเชือกปะกำ ชาวกูย/กวยอะจีงจะสร้างศาลผีปะกำ ให้เทพเจ้าผีปะกำได้ประทับอยู่ โดยมากสร้างอยู่ทางทิศตะวันออกของเรือนพัก ใช้เสา ๔ ต้น สูงประมาณ ๒ เมตร หรือสูงเหนือหัว มิให้เด็กและสตรีเอื้อมมือถึง มีหลังคามุงเป็นการถาวร เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็อัญเชิญผีปะกำมาประทับและห้ามรื้อถอนหรือทำการซ่อมแซมอย่างใดทั้งสิ้น ภายในศาลปะกำจะเป็นที่เก็บรวบรวมหนังปะกำ และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เครื่องเซ่นไหว้ และจะมีสิ่งของสำคัญประจำอยู่ คือหมอนเล็กๆ ๑ ใบ กรวยขันธ์ ๕ จำนวน ๑ ชุด แก้วน้ำพร้อมน้ำเต็ม ๑ ใบ เชือกปะกำชนิดทำด้วยหนังกระบือ หรือหนังวัว หรือเครือไม้ บ่วงบาศ หรือปลอก ๒ วง อาจทำด้วยหนังกระบือ หรือหนังวัว หรือเครือไม้