ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 6° 4' 16.824"
6.0713400
ลองจิจูด (แวง) : E 101° 59' 30.7604"
101.9918779
เลขที่ : 99566
ชื่อบ้านนามเมือง “ประวัติอำเภอสุไหงโก-ลก”
เสนอโดย นราธิวาส วันที่ 18 มิถุนายน 2554
อนุมัติโดย นราธิวาส วันที่ 23 สิงหาคม 2564
จังหวัด : นราธิวาส
0 2383
รายละเอียด

คำว่าสุไหงโก-ลกเป็นชื่อเรียกตามชื่อแม่น้ำที่กั้นเขตแดน ระหว่างไทยกับมาเลเซีย “สุไหงโก-ลก” เป็นภาษามลายูท้องถิ่น แยกความหมายได้เป็น ๒ คำ คือสุไหงหมายถึง คลองหรือแม่น้ำโก-ลกหมายถึงมีดชนิดหนึ่งที่ชาวพื้นเมืองนิยมใช้กันมีลักษณะปลายงอ เมื่อรวมทั้งสองคำเข้าด้วยกัน สุไหงโก-ลก จึงหมายถึง แม่น้ำคด หรือคลองคด อำเภอสุไหงโก-ลก เดิมเป็นเพียงตำบลหนึ่งเรียกว่าตำบลปูโยะขึ้นกับอำเภอสุไหงปาดี ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้แยกตำบลปูโยะ ออกเป็น ๓ ตำบล คือ ตำบลปูโยะ ตำบลปาเสมัส และตำบลสุไหงโก-ลก

วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๘๓ ได้ยกฐานะตำบลสุไหงโก-ลก ขึ้นเป็นเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก

วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๑ ได้ยกฐานะจากตำบลปูโยะเป็นกิ่งอำเภอสุไหงโก-ลก

วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๖ ได้ยกฐานะ เป็นอำเภอสุไหงโก-ลก จนถึงปัจจุบัน

สุไหงโก-ลกเดิมเป็นป่าดงดิบรกร้างว่างเปล่าในเขตตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงปาดี ความเป็นป่าทึบทำให้ชาวบ้านเรียกว่าป่าจันตุหลีหมายความว่า ทึบจนเรียกไม่ได้ยิน เหมือนหูหนวก เมื่อเริ่มมีผู้เข้ามาหักร้างถางพง จากชื่อป่าจันตุหลีเปลี่ยนเป็น สุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นภาษามลายู มาจากคำว่า สุไหงแปลว่า แม่น้ำ ลำคลอง และคำว่า โก-ลก แปลว่าคดเคี้ยว ถ้าเป็นคำนามหมายถึง มีดพร้า ที่คนพื้นเมืองนิยมใช้ เมื่อนำคำว่าสุไหงรวมกับโก-ลก จึงหมายถึง แม่น้ำที่คดเคี้ยว หรือแม่น้ำมีดอีโต้ ชาวบ้านคงเรียกชื่อเมืองตามแม่น้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ ปัจจุบันแม่น้ำสายนี้เป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้มีการกรุยทางเพื่อก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมไปรัฐกลันตันโดยกำหนดตั้งสถานีรถไฟในเขตป่าจันตุหลีซึ่งต่อมาก็คือสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นสถานีรถไฟสถานีสุดท้ายของประเทศไทยที่มีระยะไกลที่สุด ชาวบ้านปูโยะที่เห็นการณ์ไกลได้เริ่มเข้ามาจับจองที่ดิน บ้างก็ขออนุญาตทำสวนยางพาราแต่ยังไม่มีการปลูกสร้างบ้านเรือน ชุมชนที่ชาวปูโยะติดต่อค้าขายมีเฉพาะรันตูปันยังของรัฐกลันตันซึ่งมีราษฎรอยู่อาศัยและประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลักแหล่งแล้ว

แม้ว่าจะเปิดการเดินรถไฟเป็นรถรวมจากหาดใหญ่ไปสิ้นที่สถานีสุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ แต่ราษฎรก็ยังไม่ได้รับความสะดวกเนื่องจากถูกจับจองไว้โดยมิได้ก่อประโยชน์ ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ นายวงศ์ ไชยสุวรรณ อาศัยที่ดินหลังสถานีรถไฟ ของนายฉ่ำ พร้อมนายฮวด นายซั้ว นายกวาซ่อง นายเจ๊ะหมัด นายหลีหลง และนายหวัง รวม ๗ คน เป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงซึ่งมีทั้งคนไทย คนมุสลิม และคนจีนร่วมกันพัฒนาเมือง สุนทรธรรมพาที ๒๕๐๑ นับเป็นต้นแบบแห่งสังคมพหุลักษณ์ที่มีเสน่ห์ยิ่ง ปี พ.ศ.๒๔๗๒ กำนันตำบลปูโยะถึงแก่กรรม นายวงศ์ ไชยสุวรรณจึงได้รับแต่งตั้งเป็นกำนันได้พัฒนาจนเริ่มกลายเป็นเมือง ได้อาศัยเงินจากเพื่อน ๕ คนได้ ๕๐๐ บาท ตัดถนนถึง ๓๑ สาย ลักษณะถนนตัดพาดผ่านกันเป็นตาหมากรุก จึงมีสี่แยกจำนวนมาก แต่เชื่อว่านั้นคือแนวคิดการป้องกันการลุกลามของไฟเมื่อเกิดอัคคีภัย ดังนั้นจึงมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพมากมายตำบลปูโยะมีประชากรถึง ๑๒,๓๐๐ คน ทางราชการจึงแยกเป็น ๒ ตำบล คือตำบลปูโยะและตำบลสุไหงโก-ลก

ต่อเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ล่องใต้มาตรวจราชการที่ตำบลสุไหงโก-ลก นายวงศ์ ไชยสุวรรณได้ร้องขอให้ตั้งท้องถิ่นนี้ขึ้นเป็นเทศบาลฯพณฯนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยจึงได้มีพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๓ มีนายวงศ์ ไชยสุวรรณ เป็นนายกเทศมนตรีคนแรก เหตุการณ์นี้พระครูสุนธรรมภาณีได้เขียนคำกลอนบันทึกไว้ว่า

ในพ.ศ. สองสี่แปดสิบสาม นายกนาม ป.พิบุลย์ศรี ออกเที่ยวตรวจราชการงานที่มี มาถึงแดนโกลกโชคดีแรง กำนันวงศ์ร้องขอต่อ ฯพณฯท่าน ขอเปิดการเทศบาลขึ้นในแขวง จอมพล ป.เห็นตามความชี้แจง คุณวงศ์แต่งเป็นเขตเทศบาล ฯลฯ ในเจ็ดปีที่คุณวงศ์เป็นนายก สร้างโก-ลกให้สง่าหรูหราแสน ทำประโยชน์มากมายเมืองชายแดน ตามแบบแปลนที่จะเล่ากล่าวต่อไป หนึ่งขอตั้งไปรษณีย์โทรเลข งานชิ้นเอกสร้างสรรค์ทันสมัย เรื่องที่สองร้องขอตั้งต่อไป โรงเรียนใหม่ถึงขั้นชั้นมัธยม ทางกระทรวงศึกษาอนุญาต ความมุ่งมาตรมั่นหมายก็ได้ผล ฯลฯ ประการสี่มีข้อขอเสนอ ตั้งเป็นอำเภอปรารถนาเพราะโกลกคนมากหากเห็นป่า กิจธุระต้องไปติดต่อสุไหงปาดี รัฐบาลเห็นพ้องอนุญาต แจ้งประกาศบอกกระบวนมาถ้วนถี่ ให้ตั้งก่อนเป็นกิ่งจึงจะดี แต่บัดนี้เป็นอำเภอเสมอกัน

หลังจากตั้งเทศบาลแล้ว ๘ ปี ตำบลสุไหงโก-ลก จึงได้ยกฐานะเป็น กิ่งอำเภอสุไหงโก-ลก ขึ้นกับอำเภอสุไหงปาดีโดยมีเขตปกครอง๔ตำบล คือตำบลสุไหงโก-ลก ตำบลปูโยะ ตำบลปาเสมัส และตำบลมูโนะ รับโอนมาจากอำเภอตากใบ กระทั่งวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๖ จึงได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอสุไหงโก-ลก มี นายนอบ นพสงศ์ เป็นนายอำเภอคนแรก เขตการปกครอง ๔ ตำบล เท่าเดิม ส่วนตำบลสุไหงโก-ลก

อยู่ในเขตเทศบาลความน่าภูมิใจของเทศบาลนี้คือ เป็นเทศบาลเดียวในประเทศไทยที่จัดตั้งก่อนอำเภอถึง๑๓ ปี และเกิดจากความต้องการของประชาชน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ปัจจุบันอำเภอสุไหงโก-ลกมีความเจริญและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่าง มีด่านการค้าขายชายแดนที่ใหญ่ที่สุดของฝั่งตะวันออก เป็นศูนย์กลางของการค้าขายส่งสินค้าทั้งพืชผัก ผลไม้ ขนมนมเนยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จากประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ที่ผ่านเข้าออกด่านสุไหงโก-ลกปีละหลายแสนคน

ที่ตั้ง

อำเภอสุไหงโก-ลก เป็นอำเภอลำดับที่ ๙ ของจังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดนราธิวาส

หมวดหมู่
ชาติพันธุ์
สถานที่ตั้ง
อำเภอสุไหงโก-ลก
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน -
อำเภอ สุไหงโก-ลก จังหวัด นราธิวาส
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
-
บุคคลอ้างอิง -
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน พิชิตบำรุง
ตำบล บางนาค อำเภอ เมืองนราธิวาส จังหวัด นราธิวาส รหัสไปรษณีย์ 96000
โทรศัพท์ 073512833 โทรสาร 073511650
เว็บไซต์ -
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่