ประวัติวัดป่าไม้แดง
วัดป่าไม้แดง (พระเจ้าพรหมมหาราช)ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๙ หมู่ ๙ บ้านป่าไม้แดง ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินบริเวณตั้งวัดมีเนื้อที่ ๔๙ ไร่ ๓ งาน ๘๐ ตารางวา มีอาณาเขต ทิศเหนือจดถนนสาธารณะ ทิศใต้จดลำเหมืองสาธารณะ ทิศตะวันออกจด ลำน้ำเหมืองสาธารณะ ทิศตะวันตกจดถนนสาธารณะ ภายในบริเวณวัดมีอาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย วิหารจตุรมุข วิหารธรรมานุสติ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังประเพณีล้านนา ๑๒ เดือน มีอนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ผู้สถาปนาสร้างเวียงไชยปราการราชธานี (เมืองไชยปราการ) มีอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนาสร้างเมืองเชียงใหม่ มีวิหารพระคุ้มเสาหลักเมืองไชยปราการ ศาลาบำเพ็ญบุญ ศาลาราย ศาลาอเนกประสงค์ กุฏิสงฆ์ อาคารเรียนโรงเรียน พระปริยัติธรรมแผนกธรรม - บาลี และแผนกสามัญศึกษา มีศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด
วัดป่าไม้แดง (พระเจ้าพรหมมหาราช) เดิมเป็นวัดร้าง ตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๕๙๙ ในสมัยพระเจ้าพรหมมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถาปนาสร้างเมืองไชยปราการ ซึ่งได้ รกร้างมีป่าไม้แดงขึ้นปกคลุมอยู่ มีแต่สภาพซากวัดเก่าปรักหักพัง คงเหลือแต่หลักฐานบางอย่างปรากฏอยู่ เช่น ซากฐานก้อนอิฐที่จมอยู่ในพื้นดิน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ พระครูประดิษฐ์พรหมคุณ (หลวงพ่อบุญเย็น ฐานธมฺโม) เจ้าอาวาสวัด สุปัฏนาราม เจ้าคณะตำบลปงตำในขณะนั้น ได้นำคณะศรัทธาสาธุชนภายในหมู่บ้านป่าไม้แดง และหมู่บ้านใกล้เคียง เข้าพัฒนาสถานที่วัดร้างปกคลุมด้วยป่าไม้แดง ได้สร้างราชานุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราชขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่พระเจ้าพรหมมหาราช วีรกษัตริย์ผู้ทรงสถาปนาสร้างเมือง ไชยปราการ และได้จัดตั้งขึ้นเป็นสำนักสงฆ์โดยให้ใช้ชื่อว่า “สำนักสงฆ์พระเจ้าพรหมมหาราช” โดยมีท่านพระครูประดิษฐ์พรหมคุณ เป็นเจ้าสำนักสงฆ์รูปแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๓๔
จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ แห่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการยกวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๑๔ และได้ประกาศให้เป็นวัดมีพระสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยให้ชื่อว่า “วัดป่าไม้แดง” โดยมีท่านพระครูดวงคำ ฐานิสฺสโร ในขณะนั้นหรือท่านพระครูสถิตธรรมาภิรักษ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าไม้แดงรูปแรก ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดมาตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ จนถึงปัจจุบัน