ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 40' 45.952"
14.6794311
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 19' 54.2881"
104.3317467
เลขที่ : 101590
รำตร๊ด
เสนอโดย ssk วันที่ 3 กรกฎาคม 2554
อนุมัติโดย ศรีสะเกษ วันที่ 8 เมษายน 2564
จังหวัด : ศรีสะเกษ
0 1654
รายละเอียด

รำตร๊ด

ชื่อเรียกในท้องถิ่นรำตร๊ด,เรือมตร๊ด, รำตรุษ, เลงตร๊ด หรือ ลีงตร๊ด

รำตร๊ด เป็นการรำของชาวศรีสะเกษเชื้อสายเขมร นิยมเล่นในเทศกาล ออกพรรษา งานกฐิน และหน้าแล้งเดือนห้า โดยตระเวนเล่นไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อบอกบุญขอบริจาคทรัพย์สมทบกองทุนผ้าป่า กองดอกไม้ กองกฐิน ประกอบด้วยเครื่องดนตรีคือ กลอง ปี่อ้อ ขลุ่ย ฆ้องใหญ่ กรรชันร์ (ภาษาเขมร) กระพรวนวัว ซออู้ อุปกรณ์ที่ประกอบการเล่นมีคันเบ็ด ผู้เล่นชายร้องเพลงคนหนึ่ง มีลูกคู่ช่วยกันร้องประกอบ ฝ่ายหญิงคนหนึ่ง นางรำแล้วแต่เหมาะสม ประมาณ ๑๒ คน ผู้แสดงประกอบคล้ายตัวละคร มีพราหมณ์ขอทาน สวมหน้ากาก ตีกลอง ถือกระพรวนวัว ถือกะลา ถือคันเบ็ด การร่ายรำตามจังหวะเพลง มีนาฏลีลา อ่อนช้อยเนิบนาบ
การร้องและกระทุ้งกระพรวนจำนวนหลายลูกผูกติดกับไม้ที่เป็นรูปกากบาท มีกลอง ปี่ หรือขลุ่ย นักร้องชายหญิงร้องสลับกัน ผู้รำจะเดินเป็นแถว จำนวน ๑๕ - ๒๐ คน เดินไปตามบ้านเหมือนกับการ เซิ้งแผ่เงิน (เรี่ยไร) ของชาวลาวในโอกาสที่มีงานบุญนิยมเล่นกันที่บ้านสำโรงพลัน ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง บ้านนาตราว บ้านศาลา ตำบลโคกตาล บ้านจำปานอง ตำบลนาตราว อำเภอภูสิงห์
การแต่งกายสวมชุดพื้นเมืองเช่น ผ้าโสร่ง สวมเสื้อหลากสี เมื่อไปถึงหน้าบ้านผู้ใดก็ จะเริ่ม ตีกลอง ผู้ร้องนำก็จะเริ่มร้องขับแล้วผู้ร้องตามก็จะร้องพร้อมกันพร้อมกับจังหวะการรำไปทางซ้ายทีทางขวาที กระทุ้งด้วยไม้ผูกกระพรวน ให้ได้ยินถึงเจ้าของบ้าน
เมื่อคณะรำตร๊ดไปถึงบ้านใครก็จะหาน้ำให้ดื่ม ให้สุรา และถวายจตุปัจจัยเพื่อร่วมทำบุญ หลังจากนั้นคณะรำตร๊ดก็จะร้องเพลงอวยพรให้มีความสุขความเจริญ

สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป

จังหวัดศรีสะเกษเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญและมีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นพื้นที่ที่ประชากรมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์พื้นถิ่นดั้งเดิมถึง ๔ กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ลาว เขมร ส่วย (กูย) และ เยอ ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันด้านชาติพันธุ์ วัฒนธรรมประเพณี ภาษาพูด แต่กลุ่มคนทั้ง ๔ ชาติพันธุ์ก็มีความรักใคร่ ปรองดอง สามัคคีกันเป็นอย่างดี

ศิลปะการฟ้อนรำ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่คนอีสานถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จัดเป็นได้ทั้งศิลปะการแสดงและการละเล่นอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นหรือพบเห็นในช่วงงานบุญหรืองานเทศกาลที่สำคัญๆ เท่านั้น จนมักจะมีคำกล่าวของคนอีสานว่า “ไปฟ้อนเอาบุญ” คนอีสานทั่วไปจะมีเอกลักษณ์ในการฟ้อนอย่างง่ายไม่ได้ยึดติดกับหลักทฤษฎีทางนาฏศิลป์ เป็นการฟ้อนไปตามจังหวะดนตรีโยกย้ายท่าทางอย่างอิสระ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนอีสานว่า เป็นคนที่รักอิสระไม่ชอบให้ใครมาตั้งกฎเกณฑ์ควบคุมให้มากเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไร้ซึ่งระบบระเบียบ

รำตร๊ด บางท้องถิ่นเรียกว่า “เรือมตรด”คือ “รำตรุษสงกรานต์”เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวอีสานใต้มาตั้งแต่โบราณ มีความเชื่อเป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนานในวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยสมัยก่อนที่ใช้เดือนเมษายนของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายเขมร ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาตระกูลมอญ – เขมรที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘ กล่าวคือ ในยุคที่อาณาจักรขอมหรืออาณาจักรเขมรโบราณเรืองอำนาจจะเห็นได้จากมีเทวาลัยหรือปราสาทสร้างกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปไม่เฉพาะจังหวัดศรีสะเกษเท่านั้น แต่มีในจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้รำตร๊ด มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยมีพุทธตำนานเล่าว่าสมัยที่พระพุทธเจ้าเมื่อยังคงเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงออกผนวช แต่มีมารแปลงกายเป็นกวางทองมาขัดขวางทางเสด็จพระองค์ เพื่อไม่ให้เดินทางออกบวช พระโพธิสัตว์ทรงอธิษฐานขึ้น ทำให้สวรรค์ชั้นเทวโลกบังเกิดความร้อน เทวดาทั้งหลายจึงพากันแปลงกายเป็นนายพรานลงมาฆ่ากวางได้แล้วร่วมขบวนแห่พระโพธิสัตว์ไปทรงออกผนวชได้สำเร็จตามความประสงค์ จึงทำให้จัดแสดงรำตร๊ดเป็นมรดกสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนความคิดอื่นๆ เห็นว่า รำตร๊ดมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ว่า เมื่อใดที่สัตว์ป่าเข้ามาในหมู่บ้านถือว่าเป็นลางร้าย จะเกิดสิ่งที่ไม่ดี ต้องพบกับสิ่งชั่วร้าย จึงจัดแสดงรำตร๊ดขึ้น โดยมีรูปภาพสัตว์ป่าทุกชนิดเพื่อให้มีโอกาสได้ประพรมน้ำอบ ทาแป้ง ทาน้ำมันให้แก่สัตว์เหล่านั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่ได้ป้องกันไว้ก่อนแล้ว ซึ่งเขาเชื่อว่า ภายหลังจากนั้นหากมีสัตว์ป่าเข้าไปในหมู่บ้านจะไม่สามารถบันดาลให้เกิดสิ่งชั่วร้ายได้

ศิลปะการรำตร๊ดจึงมีสาระสำคัญที่นอกจากจะเป็นกิจกรรมการฟ้อนรำในเทศกาลสงกรานต์และเป็นการละเล่นที่สนุกสนานแล้วยังมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ชาวจังหวัดศรีสะเกษและคนอีสานทั่วไปจึงมีความพิถีพิถันและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์จะพบเห็นการรำตร๊ดเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีเสมอ

ประวัติความเป็นมา

ที่มาของประเพณีทำบุญวันตรุษกับชาติพันธุ์เขมร

“ตรุษ”แปลตามความหมายภาษาไทย ว่า ตัด หรือ ขาด หมายความว่า ตัดปีเก่าที่ล่วงมาแล้วให้ขาด หรือ ขาดจากปีเก่าแล้วนั่นเอง เมื่อวันตรุษได้มาครบรอบปี ประชาชนส่วนใหญ่ต่างก็แสดงความยินดี

พิธีวันตรุษนี้ เดิมทีเป็นพิธีของชาวอินเดียทางฝ่ายใต้ กล่าวคือ เมื่อพวกทมิฬได้เข้ามาครอบครองและมีอำนาจอยู่ในลังกา พวกทมิฬได้นำเอาพิธีตรุษซึ่งเป็นลัทธิในศาสนาของพวกตนให้เป็นประเพณีของชาวลังกาที่นับถือศาสนาพุทธมาเป็นประเพณีทำบุญในพุทธศาสนา ชาวไทยได้แบบแผนพิธีตรุษมาจากชาวลังกาอย่างไรนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้วินิจฉัยว่าด้วยเหตุ ๓ ประการคือ

๑. ได้หนังสือที่เป็นตำราภาษาสิงหลมาแปล

๒. มีพระเถระชาวลังกามาเผยแพร่

๓. พระสงฆ์ไทยที่ไปลังกานำหนังสือตำรามาสู่ไทย

และข้อวินิจฉัยอีกประการ บางตำราบอกว่าที่มาจากหลักฐานปรากฏนอกจากภาษาคือ ศิลาจารึกด้วยอักษร ปัลลวะ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ และพบอักษรขอมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมต่างๆ เข้าสู่อีสานใต้สมัยเขมรพระนคร (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘) การขยายอำนาจทางการเมืองของเขมรในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๕๔๕ – ๑๕๙๓) พระสุริยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๖๕๖ – ๑๖๙๓) และพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔ – ประมาณ พ.ศ. ๑๗๖๑) โดยกษัตริย์เขมรเกณฑ์ชาวบ้านมาสร้างปราสาทและสร้างเมืองในอีสานใต้เป็นจำนวนมาก ชาวเขมรที่ถูกเกณฑ์แรงงานจึงตั้งหลักแหล่งทำให้วัฒนธรรมเขมร ขยายเข้าสู่อีสานใต้ โดยเฉพาะพวกที่อพยพเข้ามาที่เป็นกรมการเมืองและขุนนางที่หนีภัยสงคราม

ตร๊ด

ตร๊ดหรือตรุษ เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งในวันตอมหรือวันหยุดสงกรานต์เป็นการละเล่นเพื่อหารายได้สร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ เช่น สร้างวัด ศาลาการเปรียญ สร้างอุโบสถ ซึ่งสิ่งก่อสร้างอื่นที่เป็นของทางศาสนา ชาวบ้านจะใช้เครื่องดนตรีกันตรึม และมีพ่อเพลงหัวหน้าตรุษเพื่อเป็นตัวแทนเดินบอกบุญ

การเลงตร๊ดหรือเล่นตร๊ด เป็นประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมของชนเผ่าเขมร ที่อาศัยทางตอนใต้ ของจังหวัดศรีสะเกษ อันได้แก่ อำเภอขุขันธ์ อำเภอขุนหาญ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอภูสิงห์ และอำเภอไพรบึง ที่จะได้นำมากล่าวในที่นี้ คือ ประเพณีการเลงตร๊ดหรือเล่นตร๊ด ของบ้านสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ

คำว่า ตร๊ด อ่านว่า ตร๊ด เป็นชื่อเฉพาะของการแสดงชนิดหนึ่ง หรืออักนัยหนึ่งเป็นการเล่นหรือแสดงในเทศกาลวันตรุษต่าง ๆ

คำว่า เลง หมายความว่า เล่น การละเล่น

คำว่า ตร๊ด หมายความว่า ตรุษ ได้แก่ วันตรุษต่าง ๆ เช่น วันตรุษสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย เขมร ลาว

การเลงตร๊ดก็คือ การเล่นตร๊ดในวันตรุษสงกรานต์

การเรือมตร๊ด คำว่า เรือม แปลว่า รำ ตร๊ด แปลว่า ตรุษ เรือมตร๊ด หมายถึง การรำตร๊ด ในวันตรุษสงกรานต์นั่นเอง

เลงตร๊ดหรือรําตร๊ด เป็นประเพณีเก่าแก่ของชนเผ่าเขมร โดยเฉพาะที่บ้านสําโรงพลัน อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ มีการเล่นเป็นประจําตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ต่อมาขาดการรวมกลุ่มในการแสดงช่วงหนึ่งในราว พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยรำตร๊ดนั้น จะมีการแสดงเมื่อทางราชการเรียกหา ค่าแสดงแล้วแต่จะตกลงกัน

ภายหลังเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๘ - พ.ศ. ๒๕๕๓ นายพ่วง สุภาพ อดีตกำนันตําบลสําโรงพลัน ได้มารื้อฟื้นนำมาเล่นกันอีกครั้ง และได้จัดมีการละเล่นเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ พร้อมได้ปรับปรุงการเล่น ทั้งด้านดนตรี การร่ายรำให้ดีขึ้น ทางจังหวัดได้จัดขบวนประกวดบั้งไฟและนำไปแสดง มีเยาวชนมาร่วม 50 กว่าคนทั้งชายหญิง มีท่าประกอบเพิ่มเติมโดยนายประดิษฐ์ สุภาพ เป็นผู้หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ มี อ.สุทัศน์ ธรรมคุณ ครู กศน.พิษณุโลก มาร่วมทำด้วย มีท่าใหม่ๆ เพิ่มเติม ได้แก่ ท่าเทพนมสอดสร้อยมาลา 4 ทิศ ท่าช้างชูงวง ท่าช้างสะบัดหญ้า รวม 8 ท่า ซึ่งการประกอบท่ามีการดัดแปลงบ้าง พอจัดประกวดแล้วจะได้รับรางวัลชนะเลิศ มีการเผยแพร่ สืบทอด ทุกวันนี้โรงเรียนมัธยมต่างๆ จะเชิญไปแสดง ดร.เชิดศักดิ์ ฉายถวิล จะนำนักศึกษามาศึกษาหรือมอบหมายงานให้นักศึกษามาศึกษา รวมทั้งจากหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ สถาบันพลศึกษาศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มาศึกษาข้อมูล เคยแสดงออกสื่อในรายการจดหมายเหตุกรุงศรี วิทยาลัยนาฏศิลป์นครราชสีมา ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กทม. ในคราวโปรโมทการท่องเที่ยวอีสาน มีการแสดงในพื้นที่ในหลายจังหวัดของภาคอีสาน เช่น หนองบัวลำภู และอุบลราชธานี ซึ่งถือเป็นการขยายองค์ความรู้และสืบทอดให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อไป

การเล่นในสมัยแรก ๆ มีผู้เล่นไม่มาก ประมาณ ๓ - ๔ คน ก่อนถึงเทศกาลนั้น ๆ ๒ - ๓ วัน คณะผู้เล่นตร๊ดจะออกเดินเล่นไปในหมู่บ้านทุกหลังคาเรือน หรือหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อขอรับบริจาคเงินจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญ โดยขลุ่ยจะเป่านำตามด้วยกลองโทน ฆ้อง กรรชันร์ คนร้องเจรียงก็จะร้องเจรียงตามบทกลอนและจุดมุ่งหมายที่มา ส่วนลูกคู่ก็จะร้องรับวรรคสุดท้ายของ บทร้องนั้น เสียงขลุ่ยจะมีความไพเราะ ตามไปด้วยเสียงกลองโทน ทิง โจ๊ะ ทิง ทิง โจ๊ะ ทิง เสียฆ้องกระแตก็จะดัง โมง โมง โมง ตามด้วยจังหวะกลองโทน กรรชันร์ ก็จะตีและเคาะเป็นจังหวะ เสียงดัง ตุ้ม ตุ้ม ตุ้ม กร็อง กร็อง กร็อง คนร้องเจรียงก็จะร้องด้วยบทกลอนที่มีความ สัมผัสกันอย่างไพเราะ อ่อนหวาน ช้า ๆ เนิบ ๆ ตามไปด้วยลูกคู่ร้องวรรคสุดท้าย พร้อมกันอย่างไพเราะจับใจ

เนื่องจากคณะรำตร๊ด รับงานแสดงส่วนมากไม่ใช่เป็นการรับจ้างไม่มีการคิดค่าแรง จะเป็นการออกแสดงที่เน้นเพื่อการกุศล โดยเฉพาะงานเทศกาลวันสำคัญ งานบุญต่าง ๆ ออกแสดง เพื่อขอรับบริจาคเพื่อนําไปทำบุญ หรือรับแสดงงานกิจกรรมวันสำคัญของหน่วยงาน ต่าง ๆ เช่น สภาวัฒนธรรม มหาวิยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ งานดอกลำดวน ส่วนมากเป็นค่าตอบแทน ไม่มีการรับค่าจ้างตามปกติ แล้วแต่เจ้าภาพ หรือเจ้าของงานจะมีน้ำใจให้รายได้ของคณะจึงไม่แน่นอน เศรษฐกิจความเป็นอยู่ของคณะจึงไม่ค่อยดีนัก ส่วนมากจะอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเองและมีใจรักในศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นมากกว่า

ที่มาข้อมูล:

๑. สภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ

๒. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดศรีสะเกษ.หน้า ๑๗๒.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๔.

สถานที่ตั้ง
บ้านสำโรงพลัน
หมู่ที่/หมู่บ้าน 1 บ้านสำโรงพลัน
ตำบล สำโรงพลัน อำเภอ ไพรบึง จังหวัด ศรีสะเกษ
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ
ถนน เทพา
ตำบล เมืองเหนือ อำเภอ เมืองศรีสะเกษ จังหวัด ศรีสะเกษ รหัสไปรษณีย์ 33000
โทรศัพท์ 045-617811 โทรสาร 045-617812
เว็บไซต์ https://www.m-culture.go.th/sisaket
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่