การเล่นแม่มด เป็นพิธีกรรมของชาวเขมร เรียกว่า เรือมมะม้วด หรือ รำแม่มด มีลักษณะคล้ายการทรงเจ้า เพราะเชื่อว่าเทพหรือผีนั้นมี 2 พวก คือ พวกที่อยากได้สิ่งของโดยให้คนจัดให้กับพวกที่คอยมาดูแลมนุษย์ รำแม่มดจะทำขึ้นเมื่อผู้ป่วย ซึ่งรักษาโดยวิธีการปกติธรรมดาหรือรักษาที่โรงพยาบาล หรือแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่หาย จึงต้องจัดพิธีกรรมรำแม่มดขึ้น
เครื่องดนตรี ประกอบด้วย กลอง ปี่ ฆ้อง ซอ และกรับ เพลงที่ใช้บรรเลงและร้องประกอบการรำแม่มดนั้น เป็นเพลงที่ใช้ภาษาถิ่น (เขมร) มีอยู่หลายเพลง จะร้องสลับกันไปเรื่อย ๆ พ่อเพลงที่ร้องเพลงต้องใช้ความสามารถในการร้องเกลี้ยกล่อมให้แม่มดเข้าร่างนางรำให้ได้ถ้าหากยังไม่ยอมเข้าก็ต้องเปลี่ยนเพลงใหม่ไปเรื่อย ๆ มีทั้งจังหวะช้าและเร็ว เพื่อเชิญชวนให้แม่มดเข้าร่างให้ได้การบรรเลงและการรำ จะดำเนินไปเรื่อยๆ และอาจหยุดพักเป็นครั้งคราว จนถึงเวลาประมาณเที่ยงคืน ก็จะหยุดพักรับประทานอาหารร่วมกันเมื่อรับประทานอาหารและพักผ่อนพอสมควรแล้วก็จะเริ่มพิธีต่อจนถึงรุ่งเช้า
ความสำคัญ
เป็นการแก้บน เชื่อกันว่าสามารถขจัดปัดเป่าทุกข์โศก โรคภัย ที่เกิดขึ้นกับบุคคลในบ้านหรือชุมชน และเป็นการช่วยให้ผีบ้านผีเรือน ได้รับความเพลิดเพลิน การเล่นแม่มดจะนำความเป็นสิริมงคลมาให้แก่บ้านเรือน
รูปแบบการดำเนินกิจกรรม
รูปแบบพิธีกรรม เป็นการจัดของบวงสรวง และมีการเชิญแม่มดมาร่ายรำประกอบดนตรี เพื่อเป็นการแสดงความเคารพแก่ผีบ้านผีเรือน