ชนเผ่าเยอจังหวัดศรีสะเกษ แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม หรือ ๒ สาย คือ สายพระยาไกร กับสาย
พระยากตะศิลา
๑. สายพระยาไกร ได้แก่ชนเผ่าเยอในเขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ มีในเขตตำบลโพนค้อ และตำบลทุ่ม ในเขตอำเภอไพรบึง เช่นในหมู่บ้านปราสาทเยอ
๒. สายพระยากตะศิลา มีในอำเภอราษีไศล ในเขตตำบลเมืองคง ได้แก่หมู่บ้านโนน บ้านใหญ่ บ้านป่าม่วง บ้านกลาง บ้านหนองหว้า บ้านหลุบโมก บ้านดอนเรือ บ้านบากเรือ และบ้านร่องอโศก นอกเขตตำบลเมืองคง ได้แก่บ้านจิกสังข์ทอง บ้านเชือกกลาง ในเขตอำเภอศิลาลาดได้แก่บ้านกุง และบ้านขามนอกจากนี้ยังมีหลายหมู่บ้านในตำบลเวียงชัย อำเภอพยัคฆภูมิ-พิสัย จังหวัดมหาสารคาม
วัฒนธรรมชนเผ่าเยอ
๑. ด้านภาษา ชนเผ่าเยอทั้งสองสาย จะมีศัพท์ สำเนียงภาษาเหมือนกัน แต่บางหมู่บ้าน
ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะพูดภาษาเยอต่อกัน บางหมู่บ้านและมีส่วนมากผู้ใหญ่ใช้ภาษาเย ส่วนเด็กและ
หนุ่มสาวพูดภาษาลาว แต่พวกเขาก็ฟังภาษาเยอรู้เรื่อง (ภาษาเยอไม่มีอักษรเป็นของตัวเอง)
๒. ด้านการแต่งกาย ถ้าไปร่วมงานประเพณี ชายจะนุ่งโสร่งไหม สามเสื้อไหมแขนยาว
สีดำย้อมมะเกลือ ผ้าขาวม้าไหมคาดเอว หญิง นุ่งผ้าถุงไหมพื้นเขียวมีเชิง สวมเสื้อไหมแขนกระบอกย้อมดำมะเกลือ สอดเข้าในผ้าถุง รัดด้วยเข็มขัดเงิน เครื่องประดับเงิน มีผ้าขาวม้า หรือผ้าสไบไหมหย่อนรอยพับที่อก เอาชายผ้าพาดบ่าทั้งสองลงด้านหลัง แต่ถ้าไปร่วมงานสังคมทั่วไป
ทั้งชายและหญิง จะแต่งกายสุภาพตามที่สังคมนิยมกัน
การแต่งกายอยู่กับบ้านคงเหมือนกับชนเผ่าอื่นที่ท่านเคยพบเห็น เช่น ชาย หญิง สูงอายุ หรือ
แต่งงานแล้ว ชายมักนุ่งกางเกงขาสั้น เมื่อก่อนเป็นกางเกงสายรูดสีเข้ม ปัจจุบันตามที่มีขายในตลาดพร้อมกันนั้นก็มีผ้าขาวม้าพาดบ่า หรือคาดเอวโดยไม่สวมเสื้อ ส่วนหญิงก็นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อคอกระเช้า
๓. ด้านการกิน อาหารมื้อเช้า และเที่ยง มักเป็นข้าวเหนียวมื้อเย็น เป็นข้าวจ้าว กับข้าวก็เป็น
แบบอีสานทั่วไป ผลิตได้เองบ้าง ซื้อบ้าง พี่น้องเยออำเภอราษีไศ ชอบปลูกผักต่าง ๆ พริก ข้าวโพด กินเอง และส่งขายในตลาดเป็นประจำตลอดปี
๔. ด้านประเพณี ขอนำเสนอเฉพาะที่คิดว่า ไม่เหมือนชนเผ่าอื่น ๆ
๔.๑ ประเพณีการแต่งงาน จะยกเอาเฉพาะที่เห็นว่า อาจแต่งต่างจากชนเผ่าอื่น คือ
การแต่งกายของคู่บ่าว สาว และส่วนประกอบของขบวนขันหมาก ขณะแห่ขันหมาก
การแต่งกายของคู่บ่าว สาว จะเห็นได้ชัดว่า เจ้าบ่าวนุ่งโสร่งไหม สวมเสื้อแขนยาวสีขาว ใช้ผ้าขาวม้าไหมพับพอเหมาะ พาดเฉวียงบ่า ส่วนจ้าวสาว นุ่งผ้าถุงไหมมัดหมี่สีตามชอบ สวมเสื้อไหมหรือผ้าลายลูกไม้แขนกระบอกสีชมพู (สีบังคับ) ใช้ผ้าขาวม้าไหมสีตามชอบพับพองาม ให้รอยพับอยู่ที่อกเอาชายผ้าทั้งสองพาดบ่าทั้งสองไปด้านหลัง ประดับด้วยเครื่องประดับตามฐานะ รองเท้าของทั้งคู่ ก็ตามฐานะ แต่งหน้า แต่งผมแบบสบาย ๆ และประหยัด
ส่วนประกอบของขบวนแห่ขันหมาก จะประกอบด้วย ตัวจ้าวบ่าว พ่อ แม่ ของจ้าวบ่าว นอกจากนี้จะมีพานบายศรี หรือพาขวัญ ๑ พาน กล้วย อ้อย อย่างละ ๑ ต้น และหมู่ญาติ มิตรของจ้าวบ่าว ซึ่งไม่จำกัดจำนวน
การจัดรูปขบวนแห่ ฯ ถ้ามีดนตรีนาฏศิลป์สด จะจัดไว้หน้าขบวน แต่ถ้าใช้รถเครื่องเสียง จะจัดไว้หลังขบวน อันดับ ๒ กล้วย อ้อย อันดับ ๓ จ้าวบ่าว มีคุณพ่ออยู่ด้านขวา และคุณแม่อยู่ด้านซ้ายของเจ้าบ่าว อันดับที่ ๔ ขันหมาก ตามด้วยพาขวัญ และมวลญาติมิตร
ค่าผ่านประตู ประตูที่คณะจ้าวบ่าวจะผ่าน เรียกว่า ประตูวิวาห์ หรือประตูเงิน ประตูทอง ที่ทางฝ่ายจ้าวสาวเขากั้นไว้ ตัวจ้าวบ่าวต้องเสียค่าผ่านทุกประตู จึงต้องเตรียมเงินใส่ซองไว้อย่างน้อย ๖ ซอง ถ้าเกิดเตรียมไปไม่พอ จ้าวบ่าวต้องใช้ปฏิภาณโวหารขอผ่าน ฯ ให้ได้
๔.๒ ประเพณีรำลึกถึงบรรพบุรุษ งานนี้ตั้งชื่องานว่า “งานพระยากตะศิลารำลึก”
เริ่มขึ้นเมือปีพ.ศ. ๒๕๒๔ โดยนายอำเภอราษีไศลคนที่๒๙ คือ นายสมหมาย ฉัตรทอง เป็นผู้ริเริ่มและให้อำเภอเป็นแม่งาน และกำหนดเอาวันเพ็ญเดือน ๓ ของทุกปีเป็นวันจัดงานต่อมาเมื่อมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) จึงได้ให้ อบต.เมืองคง เป็นแม่งาน โดยผู้ร่วมงานจะเป็นพี่น้องเผ่าเยอเป็นส่วนมาก
ประเพณีตามข้อ ๔.๒ นี้ จะมีการแห่เรือเชิ้งสะไน และมีพิธีทำบุญผ้าป่าสามัคคี เพื่ออุทิศแด่บรรพบุรุษด้วย ( ในปี ๒๕๕๖ เป็นต้นไป อาจเปลี่ยนแปลงวันจัดงานเป็นวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓เนื่องจากวันเพ็ญเดือน ๓ มักตรงกับบุญประเพณี คือบุญข้าวจี่ และบุญมาฆบูชา
๕. ด้านศิลปะ ชนเผ่าเยอ โดนเฉพาะในเขตอำเภอราษีไศล จะแตกต่างจากเผ่าอื่นตรงที่มีการเป่าสะไน และเซิ้งสะไน ถ้าท่านประสงค์จะสัมผัสกับศิลปะด้านดนตรี นาฏศิลป์ ที่ไม่เหมือนใคร
ก็ขอเชิญไปร่วมงานประเพณีของพี่น้องเผ่าเยออำเภอราษีไศล ในวันงานประเพณีดังกล่าวแล้ว
๖. ด้านความเชื่อ หรือจิตใจ ชนเผ่าเยอ นับถือพระพุทธศาสนา จึงมีลักษณะนิสัย หรือพฤติกรรมเหมือนชาวพุทธทั่วไป แต่ที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือ ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ชอบชิงดีชิงเด่น และเคารพยำเกรงเจ้านาย ผู้ใหญ่.