ฟ้อนผู้ไทยบ้านกกตาล
ตำบลบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
ประวัติความเป็นมาหมู่บ้านกกตาลเมื่อ พ.ศ. 2377 มีปู่ศรีวังและปู่คำภา ได้
อพยพครอบครัว จำนวน 8 ครอบครัว จากบ้านคำกั้ง ตำบลเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์ ซึ่งเป็นชาวผู้ไทย ได้มาตั้งถิ่นฐานขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ มีต้นตาลต้นหนึ่งใหญ่ที่สุดในหมู่บ้าน จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านกกตาล”
ชาวบ้านกกตาลยังคงยึดถือปฏิบัติตามฮีตคองของชาวผู้ไทยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะศิลปะการฟ้อนผู้ไทยที่เป็นศิลปะการแสดงของชนเผ่าภูไท แสดงออกของกลุ่มผู้หญิงชาวผู้ไทยหลังจากเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว โดยจะฟ้อนกันเมื่อมีงานตามเทศกาลต่างๆ เช่น งานบุญประเพณีบุญมหาชาติ บุญกฐิน ต้อนรับผ้าป่าสามัคคี เป็นต้น ปัจจุบันการฟ้อนผู้ไทยได้เป็นที่นิยมแพร่หลายเข้าไปยังสถานศึกษาต่างๆ ทุกระดับ เช่น ตามโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา
การแต่งกายฝ่ายหญิง จะใส่เสื้อสีดำผ้าฝ้ายและขลิบด้วยสีแดงเป็นเสื้อทรงคอ กลมหรือคอจีนแขนยาว ส่วนผ้าซิ่นจะเป็นผ้ามัดหมี่ต่อตีนและมีผ้าเบี่ยง หรือแพรวามีทั้งไหมและฝ้ายใช้พาดบ่า เครื่องประดับเป็นเครื่องเงิน ไม่ว่าจะเป็นเข็มขัด ต่างหู กำลัย สร้อย ส่วนทรงผมก็จะเกล้ามวยไว้ด้านหลังและมีผ้าขิดรัดรวบมวยผม โดยปล่อยชายผ้าขิด ให้เป็นมวยตกลงไปด้านหลัง ผ้าซิ่นของชาวผู้ไทยบ้านกกตาล จะเป็นผ้าซิ่นที่ทอใช้เองทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย จะมีลักษณะลวยลายคล้ายคลึงกัน
ทำนองดนตรีอันอ่อนหวานเยือกเย็น นุ่มนวลจากหมากกลิ้งกล่อม (โปงลาง) พังฮาดกลองตุ้ม กลองแต่ กลองหาง ปี่ พิณ แคน กรับ ซอ กระจับปี่ เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนผู้ไทยไม่มีกำหนดที่แน่นอนแต่อย่างใด แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพลงแคนลายผู้ไทยน้อย ข้อสำคัญที่จังหวะ ลีลา ของเพลงและจังหวะลีลาของเสียงกลอง ซึ่งวรรคหรือประโยคหนึ่งๆของเพลง จะมี ๔ จังหวะ ในการบรรเลงจะมีการขับร้องหรือไม่ก็ได้ ประกอบลีลาท่าฟ้อนของแม่หญิงผู้ไทยเคลื่อนไหวร่างกายไปตามเสียงเพลง เป็นที่งดงามยิ่ง