เจดีย์วัดหมื่นเชียง
วัดนี้มีชื่อปรากฏในเอกสารที่กล่าวถึงหมื่นเชียงสงเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสน เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. 2030ปัจจุบันเจดีย์วัดหมื่นเชียงเหลือเฉพาะส่วนฐานและเรือนธาตุ ส่วนยอดนั้นหักหายไป ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรแล้ว
ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียง 1 ฐานรองรับฐานบัวคว่ำ-บัวหงายในผังยกเก็จ ขยายท้องไม้สูงประดับลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น ส่วนนี้ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ทั้งหมดเพราะฐานเดิมจากภาพถ่ายเก่าส่วนนี้จะพังทลายไปทั้งหมด อาจเป็นฐานบัว 2 ฐานซ้อนกันก็ได้อย่างไรก็ตามลักษณะฐานดังกล่าวนี้เป็นฐานที่พบทั้ง 2 แบบในกลุ่มเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา
ส่วนเรือนธาตุถัดจากฐานบัวชั้นล่างมีฐานบัวคว่ำ-บัวหงายอีกฐานหนึ่ง ฐานส่วนนี้มีลักษณะพิเศษคือท้องไม้ไม่ประดับลูกแก้วอกไก่แต่ทำเป็นช่อง ๆ ภายในปั้นลายแบบลายเมฆ หรือที่เรียกว่าลายช่องกระจก ที่เป็นอิทธิพลจีน พบมากในฐานพระพุทธรูปในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21
ถัดขึ้นไปจึงเป็นส่วนฐานบัวลูกแก้วอกไก่รองรับเรือนธาตุ
เรือนธาตุอยู่ในผังยกเก็จ ไม่มีเสาติดผนังแล้ว มีจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง4 ด้าน มี 2 ชั้นลักษณะเป็นซุ้มลด ที่สำคัญคือกรอบซุ้มเป็นแบบซุ้มหน้านางซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะสุโขทัย พบอยู่ในกลุ่มเจดีย์ทรงปราสาทยอดเดียวในล้านนา เช่น เจดีย์หลวง กู่พระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ เป็นต้น ที่เสาซุ้มและที่มุมเรือนธาตุ ประดับลายกาบบน กาบล่างและประจำยามอก ลักษณะลายเป็นแบบลายเครือล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 แล้ว
จากรูปแบบดังกล่าวจึงถือได้ว่าเจดีย์ที่วัดหมื่นเชียงนี้น่าจะมีอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่21 ตามเอกสารที่กล่าวถึงว่าสร้างโดยหมื่นเชียง ในปี พ.ศ. 2030นับเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญมากที่สุดองค์หนึ่งเพราะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดเดียวแบบล้านนา ที่เหลืออยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้น ส่วนอีกองค์หนึ่งเป็นกู่ขนาดเล็ก ได้แก่ กู่วัดจอมสวรรค์ ซึ่งน่าจะมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันด้วย