ศิลาจารึกกู่แก้ว
ที่มาบ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น
กู่แก้วเป็นโบราณสถานประเภทศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยวัฒนธรรมลพบุรี กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งใน พ.ศ. 2529 ได้พบศิลาจารึก 1 หลัก วัสดุทำด้วยหินทรายสีเทาแก่ทรงกระโจม มีขนาดกว้างแต่ละด้านไม่เท่ากัน ระหว่าง 22.5 – 24.5 เซนติเมตร สูง 38 เซนติเมตร จารึกด้วยอักษรขอมภาษาสันสกฤต มี 4 ด้านด้วยกัน กำหนดอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 นายชะเอม แก้วคล้าย เจ้าหน้าที่กองหอสมุดแห่งขาติ ทำการศึกษาอ่านแปลแล้ว พบว่ามีข้อความเหมือนกับศิลาจารึกตาเมือนโตจ จังหวัดสุรินทร์ ศิลาจารึกพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ศิลาจากรึกปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ศิลาจารึกสุรินทร์ 2 จังหวัดสุรินทร์ และศิลาจารึกวัดกู่บ้านหนองบัว จังหวัดชัยภูมิ
ความสำคัญ
ข้อความสำคัญในจารึกกล่าวถึงการสรรเสริญพระพุทธเจ้า กษัตริย์ การจัดระเบียบแบบแผนของสถานพยาบาล จำนวนเจ้าหน้าที่ต่างๆ เช่น แพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ พยาบาล การเบิกจ่ายยา ชื่อสมุนไพร เป็นต้น โดยระบุว่าจัดสร้างสถานพยาบาลขึ้นโดยพระราชโองการของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (กษัตริย์แห่งอาณาจักรขอม)และกล่าวถึงแรงบันดาลในสำคัญที่ทำให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างสถานพยาบาลขึ้น มีข้อความว่า
โรคทางกายของประชาชนนี้ เป็นโรคทางใจที่พระองค์เจ็บปวดยิ่ง
เพราะว่าความทุกข์ของราษฎร แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์ แต่เป็นความทุกข์ของเจ้าเมือง
จารึกหลักนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญ ที่ทำให้กล่าวได้ว่ากู่แก้วนี้เป็นศาสนสถานประจำสถานพยาบาลของชุมชนในสมัยนั้น แสดงถึงการรับอิทธิพลและบ่งบอกว่าบริเวณนี้เคยเป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อราว 700 กว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันจารึกหลักนี้ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น