เมืองเชียงแสน หรือเมืองหิรัญนครเงินยาง เป็นเมืองหนึ่งของอาณาจักรล้านนามีความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และพระพุทธศาสนา ต่อเมื่อถึงปีพุทธศักราช ๒๓๔๗ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชยกทัพมาตีเมืองเชียงแสนและกวาดต้อนผู้คนลงไปแบ่งไว้ยังเมืองเชียงใหม่ส่วนหนึ่ง เมืองน่านส่วนหนึ่ง เมืองลำปางส่วนหนึ่ง เมืองเวียงจันทน์ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือไปยังกรุงเทพฯโดยให้ไปอยู่ที่เมืองราชบุรีและสระบุรี และเมื่อคนเชียงแสนไปอยู่ที่ใดก็ได้นำเอาเอกลักษณ์ศิลปะผ้าทอเชียงแสนที่มีลวดลายสีสันที่เป็นรูปแบบเฉพาะมาแต่โบราณไปเผยแพร่ที่เมืองนั้น ๆ
ด้วยการแต่งกายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาของผู้คนในท้องถิ่น อันเป็นรากฐานส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทต่อสังคมทั้งด้านการปกครองและเศรษฐกิจตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ชาวล้านนาเป็นเผ่าไทยกลุ่มหนึ่งที่มีเอกลักษณ์การแต่งกายด้วยความตระหนักถึงความสูญเสียวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวล้านนา การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการแต่งกายไปเป็นสากลนิยม รวมไปถึงการนำเอาเครื่องแต่งกายของชนกลุ่มต่าง ๆ มาแต่งปนเปกัน โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม หรือบางทีก็อ้างว่าเป็นการแต่งกายแบบล้านนาโบราณสถาบันอุดมศึกษา ๑๙ แห่งในภาคเหนือ จึงได้จัดสัมมนาเรื่องเครื่องแต่งกายพื้นเมืองภาคเหนือขึ้น เพื่อให้บุคคลโดยทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ผ้าและเครื่องแต่งกายพื้นเมืองสามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม และบอกกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควรทำในการแต่งกายแบบล้านนา เป็นต้นว่า ใช้ผ้าโพกศีรษะ (หากไม่ใช่ชุดแบบไทยลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่) เสียบดอกไม้ไหวสุมเต็มศีรษะ ใช้ผ้าพาดบ่าลากหางยาวหรือพาดแล้วใช้เข็มขัดรัดทับ (ผ้าพาดบ่าเป็นผ้าสำหรับสุภาพบุรุษเท่านั้น) ซิ่นลายทางตั้งเป็นผ้าซิ่นแบบลาวไม่ใช่แบบล้านนาไม่ควรนำมาต่อกับซิ่นตีนจกไทยวน การใช้ผ้าผาดที่ประยุกต์มาจากผ้าซิ่นและผ้าถุง
ทางวัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยการนำของพระครูไพศาลพัฒนาภิรัต (พระพุทธิญาณมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงรายปัจจุบัน) และคณะศรัทธาทั้งหลายได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้จัดให้มีการส่งเสริมการทอผ้าลายพื้นเมืองเชียงแสนให้คงไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านด้วยเห็นว่าเป็นการส่งเสริมชาวบ้านให้มีงานทำเป็นเหตุให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำนาทำไร่ ที่สำคัญคือเป็นการสืบทอดให้เยาวชนได้ศึกษาถึงความสำคัญและความงอกงาม เป็นเอกลักษณ์ของล้านนาเชียงแสนที่สืบทอดมาแต่โบราณจึงได้ร่วมกันจัดตั้ง"พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนา เชียงแสน"ขึ้นเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๙ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ผ้าทอโบราณ ส่งเสริมการทอผ้าแบบโบราณเพื่อเป็นการส่งเสริมและมีรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นและเพื่อส่งเสริมการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นเรือนไม้สองชั้นใต้ถุนโล่ง ชั้นบนจัดแสดง ผ้าทอลวดลายแบบต่าง ๆ เช่น ผ้าลายน้ำไหล ผ้าลายดอกผักแว่น ผ้าลายขวางดำแดงกี่ทอผ้าที่ใช้ในสมัยโบราณเป็นกี่ทอมือ ๔ ไม้ ผ้าปักพระเวสสันดร ที่นอนของชาวไทยวน"ตุง" เครื่องใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาห้องสาธิตการอยู่ไฟหลังคลอด ครัวไฟที่ใช้ประกอบอาหารของชาวล้านนา ฯลฯ นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์ยังได้ส่งเสริมให้กลุ่มแม่บ้านสบคำมาทอผ้าพื้นเมือง โดยใช้พื้นที่ใต้ถุนอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นโรงทอผ้า และมีอาคารแสดงผลงานของกลุ่มทอผ้าซึ่งอยู่ติดกันอีกหลังหนึ่ง
พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน เป็นเรือนไม้ทรงล้านนา ๒ ชั้น ใต้ถุนโล่ง เริ่มก่อสร้าง เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๗ แล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ มีขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ความยาว ๒๐ เมตร สิ้นงบประมาณในการก่อสร้าง ๑,๙๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านเก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ชั้นบนเป็นสถานที่จัดแสดงลวดลายผ้าทอสมัยเก่าลวดลายเชียงแสน แสดงวิถีชีวิตของชาวล้านนาดั้งเดิมใต้ถุน เป็นที่ทอผ้าของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองเชียงแสน ริเริ่มจัดตั้งโดย พระครูไพศาลพัฒนาภิรัต เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงารูปปัจจุบัน เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้าชุมชน เพื่ออนุรักษ์ผ้าทอลวดลายเชียงแสน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดป้ายพิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๓
ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน ยังมีอาคารอีกหลังหนึ่งประกอบลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน มีขนาดกว้าง ๖ เมตร ความยาว ๒๐ เมตร ใช้สำหรับเป็นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอลวดลายเชียงแสน สิ้นงบประมาณในการก่อสร้าง ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน)