ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 8° 25' 12"
8.4200000
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 57' 47.9999"
99.9633333
เลขที่ : 143215
เตารีดผ้า ทองเหลืองโบราณ
เสนอโดย นครศรีธรรมราช วันที่ 4 กรกฎาคม 2555
อนุมัติโดย นครศรีธรรมราช วันที่ 4 กรกฎาคม 2555
จังหวัด : นครศรีธรรมราช
1 671
รายละเอียด

เตารีดผ้าทองเหลือง สมัยโบราณ เป็นเตาที่ใช้ถ่านไม้ มีลักษณะ ขนาดกลาง ความ

ยาว ๑๘ ซม. ความสูง ๒๐ ซม. มือจับทำด้วยไม้ จำนวน ๒ ตัว สภาพใช้งานได้ น้ำหนักโดยประมาณ ๒ กิโลกรัม บ่งบอกให้เห็นว่า น้ำหนักของเตาเมื่อเกิดความร้อนจากถ่านไม้ธรรมชาติ ในท้องถิ่น ทำให้ผ้ารีดเรียบ และประหยัด ได้มานางนับ เลิศไกร ตำบลคลองเส อำเภอถ้ำพรรณราจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙

อุดเตากลุ่มนี้ทำด้วยเหล็ก หรือทองเหลืองทั้งอัน บางอันมีขนาดใหญ่กว่าเตารีดไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันประมาณ ๒-๓ เท่า มีน้ำหนักมาก เด็กๆ ยกคนเดียวแทบจะไม่ไหว การที่ทำให้มีน้ำหนักมากๆ นั้นเพื่อให้น้ำหนักของตัวอุดเตากดทับลงบนผืนผ้าที่จะรีดให้เกิดความเรียบ ผนังเตาทั้งสองข้างมีลักษณะโอบเข้าไปเป็นหัวรูปทรงแหลมๆ ตอนบนบริเวณริมหรือขอบทำเป็นลายหยักรูปฟันปลาไปตลอดแนว สูงประมาณ ๓ นิ้ว เพื่อระบายความร้อนจากถ่านก้อนกลมๆ ที่เผาไฟจนร้อนซึ่งบรรจุอยู่ภายในอุดเตา ความร้อนจากถ่านเผาไฟจะทำให้ผ้าเรียบ เช่นเดียวกับความร้อนจากขดลวดไฟฟ้าที่อยู่ภายในเตารีดไฟฟ้าในปัจจุบัน

ฝาด้านบนนั้นความกว้าง ยาว แหลม ท้ายตัดเท่าตัวอุดเตา ตรงบริเวณท้ายตัดจะมีบานพับอันเล็กๆ ติดอยู่ มีหูขนาดค่อนข้างยาวและสูงไว้สำหรับเปิดปิดฝาได้ ยามเมื่อต้องการเติมถ่านเวลาถ่านยุบไปหลังจากรีดไปแล้วนานๆ บริเวณหูจับจะหุ้มด้วยไม้ที่เหลาจนกลมกลึงมีขนาดพอเหมาะกับมือ เพื่อเป็นฉนวนป้องกันความร้อนจากเหล็กที่แผ่ขึ้นมาขณะรีดผ้า เมื่อเวลาจะรีดผ้าโดยใช้อุดเตา จะต้องมีเตาอั้งโล่เผาก้อนถ่านให้ลุกแดงตลอดเวลา ตั้งอยู่ข้างๆ ไว้สำหรับคีบใส่ภายในอุดเตา

ถ่านที่ใช้สำหรับรีดผ้านั้น มีความแตกต่างกับถ่านหุงข้าวที่ใช้กับเตาอั้งโล่ หรือเตาเชิงกรานทั่วๆ ไป ถ่านที่ใช้หุงข้าวจะมีลักษณะเป็นท่อนยาวๆ เมื่อนำมาเผาไฟมักจะแตกเป็นลูกไฟเล็กๆ กระเด็นออกมา รวมทั้งเมื่อมอดแล้วมีขี้เถ้ามาก แต่สำหรับถ่านรีดผ้าจะมีลักษณะเป็นก้อนกลมๆ เวลานำมาเผาไฟลูกไฟจะไม่แตกกระจาย ตลอดจนมีขี้เถ้าน้อยกว่าถ่านหุงข้าวมาก ถ่านรีดผ้าส่วนมากมักทำจากไม้โกงกาง ซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นเจริญเติบโตบริเวณป่าชายเลน นิยมนำมาเผาทำถ่านเพราะจะได้ถ่านที่มีคุณภาพดี

วิธีรีดผ้าโดยใช้อุดเตานั้น เริ่มแรกก็จะติดไฟถ่านที่เตาอั้งโล่ เมื่อถ่านระอุเป็นไฟสีแดงดีแล้ว ใช้คีมเหล็กคีบออกมาใส่ภายในอุดเตาจนเต็ม แล้วปิดฝาขัดสลักให้ติดกับตัวอุดเตา ทิ้งให้ร้อนสักครู่จึงรีด เมื่ออุดเตาเริ่มร้อนจัดให้นำมานาบกับใบตองที่พับซ้อนกันไว้หลายๆ ชั้น เพื่อให้เกิดความชื้นและคลายความร้อนลง ทำเช่นนี้สลับกันไป ระหว่างที่รีดไปนานๆ เมื่อถ่านมอดลงเป็นขี้เถ้า ให้นำอุดเตาออกมาในบริเวณที่โล่งนอกบ้าน ใช้พัดใบลานหรือที่เรียกกันว่า “พัดเตา” พัดให้ขี้เถ้ากระจายฟุ้งออกไปตามช่องหยักฟันปลา บริเวณริมผนังอุดเตาตอนบนดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้ารีดต่อไปอีกนานๆ แล้วเห็นว่าถ่านในอุดเตาคลายความร้อนและยุบลงไป ก็เปิดฝาด้านบนเติมถ่านเผาไฟในเตาอั้งโล่เติมเข้าไปใหม่ให้เต็ม

อุดเตามีทั้งที่ทำด้วยทองเหลืองและทำด้วยเหล็ก แต่ที่ทำด้วยเหล็กเป็นอุดเตารุ่นหลัง และมีขนาดเล็กลงกว่าอุดเตาทองเหลืองเกือบครึ่งหนึ่ง และเปลี่ยนคำเรียกขานจาก “อุดเตา” เป็น “เตารีด” ใช้กันทั่วไปทุกครัวเรือนเป็นเวลาอยู่หลายสิบปี จากนั้นจึงเกิดมีเตารีดไฟฟ้าขึ้น เตารีดเหล็กที่ใช้ถ่านก็เสื่อมความนิยมลงไป เพราะการใช้เตารีดไฟฟ้ารีดผ้ามีความสะดวกยิ่งกว่า แต่ก็ยังมีหลงเหลือใช้กันอยู่บ้างตามชนบทที่ห่างไกลยังไม่มีโรงไฟฟ้าไปตั้ง

อุดเตาหรือเตารีดทองเหลืองนี้ แต่เดิมนิยมใช้กันในร้านตัดเสื้อ และร้านที่รับซักรีดในกรุงเทพฯ หรือเมืองพระนครในสมัยนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนหรือชาวญี่ปุ่น ดังความที่กาญจนาคพันธุ์ (สง่า กาญจนาคพันธุ์) หรือขุนวิจิตรมาตราได้เล่าไว้ถึงเรื่องราวความทรงจำในวัยเด็กของท่าน ได้อย่างน่าสนใจและเห็นภาพลักษณ์ชัดเจน ดังนี้

“...เมื่อราว ๖๐ ปีมาแล้ว ที่ตึกแถวที่โรงยาเก่า แถวนั้นมีท่าอยู่สี่ท่า คือ “ท่าปากคลองตลาด” เป็นแหล่งค้าขายใหญ่ ถัดมาเป็นท่าเรียกว่า “ท่ากลาง” เงียบสงัดไม่มีผู้คนเดิน นอกจากผู้ที่อยู่ตึกแถวสองข้าง ถัดมาเป็น “ท่าโรงยาเก่า” ถนนท่านี้เป็นส่วนหนึ่งของถนนบ้านหม้อ ถนนเฟื่องนคร ถนนเฟื่องนครจดวัดบวรนิเวศ ผู้คนคึกคักมากหน่อย ถัดไปเป็น “ท่าวัดเลียบ” ไม่มีผู้คนเลยก็ว่าได้ ที่ตึกแถวท่าโรงยาเก่านี้ตอนกลางๆ มีญี่ปุ่นที่ตั้งร้านซักรีดดูเหมือนอยู่กันสองคนผัวเมียเท่านั้น เตารีดผ้าที่ร้านนั้นเป็นเหล็กหนาทั้งแท่ง หัวแหลม ท้ายตัดโตขนาดอุดเตาทองเหลืองทำเกลี้ยงๆ คือต่อจากแผ่นเหล็กหนาขึ้นไปเป็นสองขา มีเหล็กพาดที่มุมสองขาสำหรับเป็นหูจับเท่านั้นเอง

เตารีด (ซึ่งที่จริงไม่เป็นเตา แต่เป็นแผ่นเหล็กหนา) นี้มีสามสี่อันในร้าน ตั้งเตายาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในเตาใส่ถ่านไว้ราวครึ่งหนึ่ง ข้างบนเตามีเหล็กพาดเป็นตาราง เวลารีดเขาติดถ่านไฟลุกแดงตลอด เอาเตารีดวางบนตารางเรียงกันไปทั้งสี่อัน เผาให้เหล็กนั้นร้อนแล้วก็จับหูยกมารีดเสื้อผ้า พอเหล็กจะเย็นลงหน่อย ก็เอาไปวางบนตารางที่เตาเอาอันที่ ๒ มารีดเปลี่ยนกันไปเป็นลำดับอย่างนี้เรื่อย จนกระทั่งหมดเวลาวันหนึ่งๆ ก็ดับถ่านที่เตา ถึงรุ่งเช้าก็ติดถ่านเผาเตารีดไปใหม่ จนหมดเวลาทุกวัน

สมัยนั้นอยู่ที่ตึกสูงสามชั้นหัวมุม เคยไปยืนดูเขารีดผ้าหลายครั้ง ส่วนมากหญิงญี่ปุ่นที่เป็นเมียเป็นคนรีด มีคนแถวนั้นและที่อื่นนำเสื้อผ้ามารีดมาก เขาชมกันว่ารีดดีนัก ค่ารีดเสื้อและของอื่นชิ้นละเท่าไรก็ลืม แต่คงราวสัก ๒๕ สตางค์ สมัยนั้นเงินยังแพงนัก เงินบาทหนึ่งใช้ตามธรรมดาๆ อย่างสบายเจ็ดวันก็ยังไม่หมด ค่ารีด ๒๕ สตางค์นับว่าแพงมาก แต่เขารีดดีมีคนมาให้รีดมาก และดูเหมือนเป็นญี่ปุ่นตั้งร้านซักรีดแห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้น นอกนั้นเป็นจีนตั้งร้านซักรีดมากหลายแห่ง คนไทยไม่มีร้านซักรีดก็รีดแต่เสื้อชั้นนอกที่เป็นผ้าลินินขาวเท่านั้น กางเกงไม่มี เพราะคนไทยนุ่งผ้าโจงกระเบน...”

จวบจนกระทั่งในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น นับแต่นั้นเป็นต้นมาคนไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงการแต่งกาย เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบน หันมาแต่งชุดสากลนิยมตามการรณรงค์ของผู้นำบ้านเมืองในยุค “มาลานำไทย” ชุดสากลที่นิยมแต่งกันนั้น ตัดเย็บด้วยผ้าฝรั่งหรือผ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ใช้ผ้าลินินสีขาวเช่นเดียวกับเสื้อราชปะแตนซึ่งซักรีดยาก เสื้อผ้าชุดสากลสามารถซักและรีดเองที่บ้านได้ ร้านซักรีดแบบดั้งเดิมจึงค่อยๆ หมดความนิยมไป ยังคงมีแต่ร้านซักแห้ง ซึ่งรับซักรีดเฉพาะเสื้อผ้าที่ต้องการความประณีตและทนุถนอมเป็นพิเศษเท่านั้น

ผ้าที่รีดด้วยอุดเตา มักเป็นผ้าที่ไม่มีสีหรือเป็นเสื้อผ้าสีขาว เช่น เสื้อกุยเฮงของผู้ชาย ผ้าปูที่นอน หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นผ้าที่มีสีเข้ม สีทึมๆ เช่น เสื้อนอกของผู้ชาย เสื้อมิสกรีชั้นใน เป็นต้น โดยเวลารีดนั้นจะนำผ้าขาววางซ้อนไว้ด้านบนอีกชั้นหนึ่ง แล้วจึงรีดเพื่อป้องกันสีของผ้าซีด สำหรับเครื่องนุ่งห่มของสตรี เช่น ผ้าสไบแพร ผ้าแถบ หรือผ้านุ่งที่เป็นผ้าดอก ผ้าลาย สีสันต่างๆ นั้น จะไม่รีดด้วยอุดเตาเพราะความร้อนจากอุดเตาจะทำให้ความสดใสของสีผ้าลดลง

สถานที่ตั้ง
กรมศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน ราชดำเนิน
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองนครศรีธรรมราช จังหวัด นครศรีธรรมราช
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
กรมศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช
บุคคลอ้างอิง เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช
ชื่อที่ทำงาน สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน ราชดำเนิน
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองนครศรีธรรมราช จังหวัด นครศรีธรรมราช รหัสไปรษณีย์ 80000
โทรศัพท์ 075-356458,075-3244 โทรสาร 075-324479
เว็บไซต์ www.fad14.go.th
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่