ประวัติอำเภอธารโต
อำเภอธารโตเดิมเป็นเพียงตำบลหนึ่ง คือตำบลแม่หวาดซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอบันนังสตา (อำเภอบันนังสตาจัดตั้งอำเภอเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ขึ้นกับเมืองรามันห์) ตำบลแม่หวาดในขณะนั้น มีชุมชนดั้งเดิมอยู่หลายชุมชน ได้แก่ ชุมชน บ้านแม่หวาด(ส่วนใหญ่เป็นคนจีน) บ้านวังไทร บ้านโต บ้านแหร ชุมชนบ้านเยาะ เป็นต้น การเดินทางสัญจรสมัยนั้น ส่วนใหญ่ใช้การเดินทางโดยทางเรือในแม่น้ำปัตตานี
คำว่า“ธารโต”เป็นชื่อที่มาจากชื่อ“เรือนจำกลางภาคธารโต”ที่กรมราชทัณฑ์ตั้งขึ้นตามสภาพภูมิประเทศที่มีลำธารใหญ่ไหลผ่าน แต่คนรุ่นเก่าเรียกบริเวณคุกเก่าว่า บ้าน“ไอร์กือดง” หรือ“ไอร์เยอร์กระดง” ซึ่งมาจากภาษามลายู คำว่า“ไอร์”หรือ“ไอร์เยอร์”มีความหมายว่า น้ำหรือลำธารใหญ่ ส่วน“กือดง”หรือ“กระดง”อาจมี ๒ ความหมาย กล่าวคือ หมายถึง บริเวณที่ลำน้ำหลายสายไหลมารวมกันเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่หรืออาจหมายถึงพืชมีพิษ(หมามุ่ย) ซึ่งสมัยก่อนมีมากในบริเวณแหล่งน้ำดังกล่าว
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ กรมราชทัณฑ์ได้จัดตั้งเรือนจำกลางภาคธารโต ร่วมสมัยเดียวกับทัณฑสถาน เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล เป็นสถานที่คุมขังนักโทษทางการเมืองและนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ จึงถูกเรียกขานกันว่า“นรกธารโต” พื้นที่ทัณฑสถานธารโตเป็นป่าทึบ(ทำให้นักโทษหนีลำบาก) มีลำธารไหลผ่าน เต็มไปด้วย เชื้อไข้มาลาเรีย ที่ตั้งหรือที่ทำการของเรือนจำอยู่ที่โรงเรียนบ้านนิคมสร้างตนเองธารโตในปัจจุบัน(ซึ่งใช้สถานที่ทัณฑสถานเป็นโรงเรียนเปิดสอนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔) ปัจจุบันยังมีร่องรอยของคุกปรากฏอยู่ ได้แก่ โรงครัว โซ่ตรวน ซึ่งได้มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์คุกธารโตแสดงไว้ที่อาคารโรงครัวอยู่ที่โรงเรียนดังกล่าว เรือนจำกลางภาคธารโตได้ถูกยกเลิกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เพื่อนำไปจัดตั้งเป็นนิคมสร้างตนเองต่อไป
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ คณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งนิคมสร้างตนเองธารโตโดยรับมอบที่ดินจากกรมราชทัณฑ์มาดำเนินการตามโครงการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาทางสังคมและเพื่อความมั่นคง โดยจัดตั้งตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๔๘๕ หลังจากการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองแล้ว ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ก็มีการ“เปิดป่า”โดยรัฐบาลให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนเพื่อนำไม้ออกจากป่าและให้นิคมจัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชนที่อพยพมาจากจังหวัดต่าง ๆทุกภูมิภาคของประเทศไทย
เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๑๘ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอธารโตขึ้น มีนายมณฑล ชื่นกลิ่น เป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอธารโตคนแรก โดยใช้อาคารไม้ริมถนนสาย ๔๑๐ ตรงข้ามชุมชนตลาดธารโตเป็นที่ว่าการกิ่งอำเภอ(ปัจจุบันถูกรื้อสร้างเป็นบ้านพักข้าราชการสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ) ต่อมาย้ายไปใช้อาคารที่ทำการคุกเก่าในโรงเรียนนิคมสร้างตนเองธารโต และเมื่อยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๔ โดยมีนายสวิน วุฒิภูมิ เป็นนายอำเภอคนแรก ได้สร้างที่ว่าการอำเภอเป็นอาคารไม้ในบริเวณอำเภอปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้รื้อสร้างใหม่เป็นอาคารคอนกรีตที่ใช้อยู่ในขณะนี้
ขณะเดียวกันในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ก่อสร้างเขื่อนบางลางในพื้นที่อำเภอบันนังสตา เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ทำให้พื้นที่กักเก็บน้ำประมาณ ๒๕,๐๐๐ ไร่ ในพื้นที่อำเภอธารโตจมอยู่ใต้น้ำ ชุมชนดั้งเดิมหลายแห่งถูกน้ำท่วมต้องอพยพขึ้นสู่ที่สูง ได้แก่ บ้านแม่หวาด บ้านโต บ้านเยาะ เป็นต้น กลายเป็นชุมชนใหม่ ทำให้อำเภอธารโตในปัจจุบันมี ๒ ชุมชนใหญ่ๆ ได้แก่ ชุมชนตลาดธารโต ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภอธารโต และชุมชนตลาดคอกช้าง ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอลงไปทางใต้ ๒๐ กิโลเมตร นอกจากนี้มีผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทำให้ถนนที่ใช้เดินทางไปบ้านสันติ ๒ หมู่ที่ ๖ และบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๙ หมู่ที่ ๙ ตำบลแม่หวาด ถูกน้ำท่วมไม่สามารถเดินทางได้ กาเดินทางไป ๒ หมู่บ้านนี้จะต้องใช้ทางเรือหรือใช้เส้นทางอ้อมทางถนนผ่านพื้นที่ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา
ปัจจุบันอำเภอธารโต มีพื้นที่การปกครองประกอบด้วย ๔ ตำบล เรียงตามลำดับการจัดตั้ง ดังนี้ ตำบลแม่หวาด ตำบลบ้านแหร(จัดตั้งปี ๒๕๐๘ มีนายยะพา ยุมอ เป็นกำนันคนแรก) ตำบลธารโต (จัดตั้งปี ๒๕๒๔ มีนายสวัสดิ์ พรหมเต็ม เป็นกำนันคนแรก) และตำบลคีรีเขต(จัดตั้งปี ๒๕๓๕ มีนายประสิทธิ์ แก้วนก เป็นกำนันคนแรก) มีหมู่บ้าน ๓๗ หมู่บ้าน มีประชากร ตามข้อมูลทางทะเบียนราษฎร สิ้นปี ๒๕๕๓ จำนวน ๒๒,๗๙๘ คน มีนายอำเภอได้รับแต่งตั้งมาปกครองแล้ว ๑๗ คน มี นายสุรชัย วงศ์ศุภลักษณ์ เป็นนายอำเภอปัจจุบัน
อำเภอธารโต เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย นอกจากจะมีประชากรที่นับถือศาสนา ที่แตกต่างกัน (ไทยพุทธประมาณร้อยละ ๔๐ ไทยอิสลามประมาณร้อยละ ๖๐) ยังมีคนไทยเชื้อสายจีนและประชากรที่มาจากภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งมีวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างกัน ทั้งคนภาคเหนือ คนภาคอีสาน คนภาคใต้ (ทั้ง ๓ จังหวัดและภาคใต้ตอนบนขึ้นไป) อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในเขต ๓ นิคม ได้แก่ นิคมสร้างตนเองธารโต นิคมสร้างตนเองเบตง และนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ (นิคมกือลอง) นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าซาไกหรือเงาะป่าที่บ้านซาไก หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านแหร และในป่าฮาลา-บาลา ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบคนป่าที่แตกต่างจากคนเมืองด้วย
อำเภอธารโต เป็นอำเภอที่อยู่ในพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ความสูง ๑๐๐ จนถึง ๑,๐๗๖ เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาน้อยใหญ่ มีที่ราบน้อย มีดินดี น้ำดี อากาศดี มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เรียกกันว่า“ทะเลสาบธารโต”มีป่าดงดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อนผืนใหญ่ที่สมบูรณ์(ป่าฮาลา-บาลา) มีน้ำตกหลายแห่ง มีถ้ำธารลอดที่สวยงาม มีพืชดาหลา(กาหลา)ที่หลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำบางลาง (ทางลัด ไปอำเภอเบตงใต้สุดสยาม) ยาว ๒๖๔ เมตร (กำลังก่อสร้าง) เป็นต้น ทำให้อำเภอธารโตมีศักยภาพด้านการเกษตรกรรม(พืชสวนและประมง)และการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง