คำขวัญอำเภอโพนทอง
เจ้าปู่กุดเป่งศักดิ์สิทธิ์ แหล่งผลิตยางพารา ตระการตาลอยกระทง มั่นดำรงภาษาถิ่น น่ายลยินแหลมพยอม อุดมพร้อมลำน้ำยัง
ประวัติอำเภอโพนทองราวพุทธศักราช ๒๓๔๖ เจ้าโสมพมิตร หรือเจ้าพระยาชัยสุนทร(เจ้าเมืองคนแรกของเมืองกาฬสินธุ์) เป็นเจ้าลาวได้พาครอบครัวและบริวารจำนวนหนึ่ง ข้ามฝั่งโขงมาตั้งรกรากทำมาหากินที่บ้านน้ำคำ และตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อว่า “ เมืองกาฬสินธุ์ ” (สมบัติ วรามิตร ,๒๕๔๑:๑๙) เพราะเห็นว่าเป็นที่ที่น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ดี มีแม่น้ำไหลผ่านคือแม่น้ำปาว ต่อมาเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์ ต้องการขยายอาณาเขตมายังฝั่งไทย ซึ่งหมายถึงภาคอีสานโดยเห็นว่ามีคนลาวอพยพเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่มาก ก็ตั้งใจจะครอบครองดินแดนของไทย มีเป้าหมายอยู่ที่เมืองโคราช ( นครราชสีมาปัจจุบัน ) จึงเกณฑ์ให้พวกลาว กลุ่มเจ้าโสมพมิตรที่เมืองกาฬสินธุ์เข้าร่วมรบด้วย แต่เจ้าโสมพมิตรเห็นว่ามาอยู่เมืองไทยมานานแล้วและได้พึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบายมานานปี จึงปฏิเสธที่จะช่วยรบทำให้เจ้าอนุวงศ์พิโรธมาก จึงให้ทหารมาล้อมจับกุม เจ้าโสมพมิตรเห็นกำลังคนน้อยกว่า จึงพากันอพยพพาลูกหลานและบริวารหนีเมืองมาทางบ้านสามขา บ้านบัวขาว จนมาตั้งกองคาราวานอยู่ที่บ้านแวง ริมหนองน้ำ เพราะเห็นว่าเป้นบริเวณที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ (ชูมิตร โคตรุฉิน,ม.ป.ป.: 10) นี่คือจุดเริ่มต้นของประวัติความเป็นมาของอำเภอโพนทอง โดยชูมิตร โคตรุฉิน ( ม.ป.ป.:11 - 13 ) ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาโดยสังเขปของอำเภอโพนทอง ซึ่งชูมิตร โคตรุฉิน ได้มาจากการสอบถามเป็นส่วนใหญ่ และส่วนหนึ่งได้มาจากการบันทึกสั้น ๆ ของ ดร.ทรงศักดิ์ ศรีกาฬสินธุ์ ซึ่งนับว่าเป็นทายาทคนหนึ่งของบ้านแวง โดยชูมิตร โครุฉิน ได้กล่าวไว้ดังนี้ ขณะที่เจ้าโสมพมิตรพร้อมครอบครัวและบริวารมาตั้งกองคาราวานอยู่ที่บ้านแวง ความทราบไปถึงพ่อบ้านที่มีอำนาจมีอิทธิพลปกครองดูแลคนไทยละแวกนั้นอยู่คือ ท้าวโสใหญ่ ซึ่งตั้งถิ่นฐานบ้านช่องอยู่ที่บ้านโพนทองน้อย มีลูกชาย ๒ คน คือ โสน้อยและพรหมมาใหญ่ มีลูกน้องกล้าแข็งพอตัว จึงให้สืบหาความจริง เมื่อได้ทราบความจริงว่าคนแปลกหน้าพวกนี้หนีข้าศึกของแผ่นดินมาและมาดี จึงได้ทำความตกลงเป็นมิตรและจะร่วมต่อสู้กับเจ้าอนุวงศ์ ดังนั้นเมื่อเจ้าอนุวงศ์ให้กองทหารยกตามมา จึงเกิดการต่อสู้กันหลายครั้ง ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำยัง ทางไปบ้านบัวขาว ( อ.กุฉินารายณ์ปัจจุบัน) จนสุดท้ายเจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้หนีกลับเวียงจันทร์ไป กลุ่มเจ้าโสมพมิตรที่อพยพจากเมืองน้ำดำ ( กาฬสินธุ์) ในครั้งนั้นที่สำคัญมีคุณยายพัน ( พี่สาวใหญ่) ท้าวสุริยะ ท้าวไชยสุนทร ท้าวบุญมา คุณยายดา คุณยายหลอด ( น้องสุดท้อง ) ต่อมาท้าวสุริยะ ท้าวบุญมา ได้แต่งงานกับสาวบ้านแวง และน้องคนสุดท้องคือ คุณยายหลอดได้แต่งงานกับโสน้อย แล้วพาพรรคพวกอพยพมาตั้งเมืองอยู่ที่บ้านแวง ซึ่งอยู่ในที่สูง น้ำท่าอึดมสมบูรณ์ เพราะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยัง ทั้งยังมีบึงหนอง ลำคลองอีกหลายสาย มีโสน้อยเป็นพ่อบ้าน ส่วนโสใหญ่ก็ยังอยู่ที่บ้านโพนทองน้อย พวกน้ำดำยังคงตั้งรกรากถิ่นฐานที่บ้านแวงต่อมา ส่วนอีกพวกหนึ่งกลับไปอยู่เมืองน้ำดำ ผลจากการที่พวกบ้านน้ำดำและบ้านคำโพนทองน้อย บ้านแวง ได้ร่วมต่อสู้กับกบฎเจ้าอนุวงศ์ในครั้งนั้น จึงได้มีการบำเหน็จความดีความชอบ โดยท้าวไชยสุนทร ซึ่งกลับไปอยู่บ้านน้ำดำ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น " พระยาไชยสุนทร" ปกครองเมืองน้ำดำ ( จังหวัดกาฬสินธุปัจจุบัน ) ส่วนนายโสน้อยก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกำนันคนแรกของบ้านแวง มีชื่อว่า " ท้าวสุวรรณสาร" จนต่อมารัชกาลสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖ ) มีประกาศใช้นามสกุล จึงเกิดนามสกุล " ศรีกาฬสินธุ์"ขึ้น โดยถือว่าพระยาไชยสุนทร เป็นต้นตระกูล อย่างไรก็ตามยังมีพวกน้ำดำส่วนหนึ่งที่ใช้นามสกุล " พลเยี่ยม " โดยถือว่าท้าวสุวรรณสารเป็นต้นตระกูล ซึ่งคนส่วนใหญ่จะใช้นามสกุล " พลเยี่ยม" แม้แต่พวกที่มาจากเมืองน้ำดำที่อยู่บ้านแวง หรือที่อพยพกลับไปอยู่บ้านน้ำดำก็ตาม การที่คนส่วนใหญ่ของบ้านแวง( อำเภอโพนทอง ) ใช้นามสกุล " พลเยี่ยม" อาจจะเป็นเพราะชาวบ้านแวงและหมู่บ้านใกล้เคียงมีความภาคภูมิใจในความเป็นนักต่อสู้ และนักรบที่เข้มแข็งคือไม่ใช่รบเอาชนะกบฏเจ้าอนุวงศ์เท่านั้น ต่อมาก็มีศึกสงครามในแผ่นดินหลายครั้งที่ชายฉกรรจ์ของชุมชนบ้านแวงและบ้านอื่น ๆ ในอำเภอแวง(อำเภอโพนทองปัจจุบัน)ได้มีโอกาสรับใช้บ้านเมือง อาทิเช่น ศึกฮ่อ และในรุ่นหลัง ๆ ก็ถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามอินโดจีน และสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้น จนมีคำก่าวที่ติดปากกันต่อ ๆ มาว่า "อำเภอแวงสีแดงเลือดไทย ใจบ่กล้าบ่ข้ามชีมา"ซึงแสดงถึงความกล้า เด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง และมีความเป็นนักสู้ของชาวโพนทอง อย่างไรก็ตามการที่ผู้ปกครองบ้านเมือง ปกครองด้วยคุณธรรมสูงทางจิตใจ มีความสามัคคีเสมือนพี่น้องคลานตามกันมา ลูกบ้านมีความโอบอ้อมอารี เอื้ออาทรต่อกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจน ก็คือการใช้นามสกุล "พลเยี่ยม" เหมือนกัน ที่แปลกอีกอย่างหนึ่งก็คือมีสำเนียงภาษาเป็นของตนเอง ผิดจากคนถิ่นอื่นโดยทั่วไปในจังหวัดร้อยเอ็ด หรือจังหวัดอื่น ๆ และจากขบวนการต่าง ๆ ในการปกครองที่เน้นในด้านคุณธรรมและการอยู่ร่วมกันอย่างพี่อย่างน้อง มีการอบรมสั่งสอน จึงหล่อหลอมบุคลิกภาพที่ดีเด่นของชาวโพนทอง(อำเภอแวง) (ข้อมูลจากเว็ปไซด์โรงเรียนอนุบาลบุญทวีวัฒนาวิทยา)
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอโพนทองตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด ห่างจากจังหวัดร้อยเอ็ด ประมาณ ๔๖ กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอกุฉินารายณ์ (จังหวัดกาฬสินธุ์) ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมยวดีและอำเภอหนองพอก ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเสลภูมิ ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอโพธิ์ชัย อำเภอโพนทองแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 14 ตำบล 196 หมู่บ้าน 1.แวง(Waeng)2.โคกกกม่วง(Khok Kok Muang)3.นาอุดม(Na Udom)4.สว่าง(Sawang)5.หนองใหญ่(Nong Yai)6.โพธิ์ทอง(Pho Thong)7.โนนชัยศรี(Non Chai Si)8.สระนกแก้ว(Sa Nok Kaeo)9.วังสามัคคี(Wang Samakkhi)10.โคกสูง(Khok Sung)11.พรมสวรรค์(Phrom sawan) 12.คำนาดี(Kham Na Di) 13.อุ่มเม่า(Um Mao) 14.โพธิ์ศรีสว่าง(Pho Si Sawang) ท้องที่อำเภอโพนทองประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 15 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลโพนทอง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลแวงและบางส่วนของตำบลสระนกแก้ว เทศบาลตำบลโคกสูง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกสูงทั้งตำบล เทศบาลตำบลโคกกกม่วง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกกกม่วงทั้งตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลแวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแวง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลโพนทอง) องค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาอุดมทั้งตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลสว่าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสว่างทั้งตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลหนองใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองใหญ่ทั้งตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ทอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพธิ์ทองทั้งตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลโนนชัยศรี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโนนชัยศรีทั้งตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพธิ์ศรีสว่างทั้งตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มเม่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอุ่มเม่าทั้งตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคำนาดีทั้งตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลพรมสวรรค์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพรมสวรรค์ทั้งตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลสระนกแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสระนกแก้ว (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลโพนทอง) องค์การบริหารส่วนตำบลวังสามัคคี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังสามัคคีทั้งตำบล
ข้อมูลทางการศึกษา
มีสถานศึกษาระดับประถม จำนวน แห่ง
มีสถานศึกษาระดับมัธยม จำนวน ๗ แห่ง
ข้อมูลด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
วัด/สำนักสงฆ์/ที่พักสงฆ์ สังกัดมหานิกาย ๑๓๕ แห่ง
วัด/สำนักสงฆ์/ที่พักสงฆ์ สังกัดฝ่ายธรรมยุต ๒๖ แห่ง
ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ จำนวน ๑๒ แห่ง
ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน จำนวน ๒ แห่ง
สถานที่ท่องเที่ยว
แหลมพยอม/หาดทรายเทียม/พระธาตุอุปมง/ พระธาตุน้ำคำ/ลำน้ำยัง/