อำเภอตระการพืชผล เดิมมีฐานะเป็นเมืองเก่า พระพรหมวงศา(กุทอง) ได้ขอพระบรมราชานุญาต ตั้งขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ พ.ศ.๒๔๐๖(พร้อมกับตั้งเมืองพิบูลมังสาหารและเมืองมหาชนะชัย) โดยยกฐานะเป็นบ้านสะพือ เป็นเมืองตระการพืชผล โดยเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวสุริยวงศ์(อ้ม) เป็น“พระอมรดลใจ” เป็นเจ้าเมือง ท้าวพรหมมา(บุตร) เป็นอุปฮาด ท้าวสีหาจักร เป็นราชวงศ์ และท้าวกุลบุตร(ท้าว) เป็นราชบุตรโดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๓ เมือง คือ เมืองตระการพืชผล เมืองพนานิคม และเมืองเกษมสีมา และขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี ปี ๒๔๔๓-๒๔๔๕ มีการปรับปรุงปกครองในส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ เมืองตระการพืชผล ได้ลดฐานะเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี ปี ๒๔๕๐ ทางราชการปรับปรุงการปกครองภูมิภาคอีกครั้งหนึ่ง โดยรวมเขตการปกครองภายในอำเภอตระการพืชผล เป็น “อำเภอพนานิคม” (ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งอยู่ที่บ้านพนา) ปี ๒๔๕๗ ทางราชการเห็นว่าทำเลที่ตั้งของ อำเภอพนานิคม ไม่เหมาะสมจึงย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่บ้านขุหลุ และเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอขุหลุ” เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๔๖๐ และในปี ๒๔๘๒ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอพนานิคม” และในปี ๒๔๘๓ เพื่อเป็นการรักษาประวัติศาสตร์และความเป็นมาของเมืองตระการพืชผล จึงเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น “อำเภอตระการพืชผล” อีกครั้งหนึ่งต่อมาในปี ๒๔๙๑ ทางราชการประกาศตั้งกิ่งอำเภอพนา โดยแยกท้องที่ ๕ ตำบล ที่เคยอยู่ในเขตอำเภอพนานิคมเดิมออกจากเขตการปกครองอำเภอตระการพืชผล และอำเภอตระการพืชผล ยังคงมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในเขตจังหวัดอุบลราชธานี จนถึงปัจจุบัน
คำขวัญอำเภอตระการพืชผล
“ตระการเมืองข้าวหอม พรั่งพร้อมวัฒนธรรม งามล้ำหอไตร พระเจ้าใหญ่วัดศรี มากมีกลือสินเธาร์ ถิ่นเก่าบ้านขุหลุ เชิดชูพุทธศาสน์ อุดมชาติด้วยพืชผล”
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับอำเภอตระการพืชผล
ที่ตั้ง ถนนประเทศธุรกิจ ตำบลขุหลุ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ๓๔๑๓๐ หมายเลขโทรศัพท์ ๐-๔๕๔๘-๑๑๗๘ หมายเลขโทรสาร ๐-๔๕๔๘-๑๑๖๑
จำนวนตำบล ๒๓ จำนวนหมู่บ้าน ๒๓๔ จำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒๓