ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 4' 48.0097"
17.080002690401550
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 5' 46.8709"
104.09635301882869
เลขที่ : 157565
วัดถ้ำผาแด่น
เสนอโดย สกลนคร วันที่ 12 กันยายน 2555
อนุมัติโดย สกลนคร วันที่ 12 กันยายน 2555
จังหวัด : สกลนคร
2 968
รายละเอียด

ภูผาแด่น เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน เป็นเทือกเขาแห่งประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นมายาวนานของเมืองสกลนคร ได้สื่อความหมายถึงสามสถาบันหลักของประเทศไทยคือสถาบันชาติ ซึ่งเป็นที่ตั้งและถิ่นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนหลายกลุ่ม หลายเชื้อชาติพันธุ์ ที่รักความสงบ เรียบง่าย ที่ยังคงวัฒนธรรมเก่าดั้งเดิมไว้ สถาบันศาสนา ซึ่งเป็นที่ตั้งลัทธิความเชื่ออันมีคำสอน หรือแหล่งชุมนุมของบูรพาจารย์มากมายหลายรูป ถือกำเนิดถิ่นพุทธธรรมที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต ผู้นำกองทัพธรรมหลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่วัน อุตตโม หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หรืออีกหลาย ๆ รูป ในเมืองสกลนคร และยังเป็นถิ่นอุบัติขึ้นของลัทธิคอมมิวนิสส์ ศาสนาคริสต์ อื่นๆสถาบันพระมหากษัตริย์ เมืองสกลนครเป็นที่ตั้งของพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ที่ประทับของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้เคยเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรมทับเป็นประจำทุกปี ภูผาแด่น มีลักษณะเป็นป่าดงดิบ และมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยเมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมา ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วย ฝูงสัตว์ป่า และพันธุ์ไม้นานาพันธุ์ หลายชนิด เช่น ฝูงเสือ โขลงช้าง ลิง ค่าง บ่าง ชะนี เก้ง กวาง งูจงอาง งูเห่า วัวป่า ละมั่ง หมีควาย หมาป่า หมูป่า เลียงผา ไก่ป่านกยูง กระแต กระกรอก กบ เขียด ค้างคาว และนกป่าเกือบทุกชนิด ฯลฯ ตลอดจนเต็มไปด้วยป่าสมุนไพรนานาชนิด ดอกไม้นานาพันธุ์ นอกจากนั้นเทือกเขาภูพานแห่งนี้ยังเป็นแหล่งต้นกำเนิดแหล่งน้ำที่สำคัญ และต้นกำเนิดของแม่น้ำ ลำธาร ห้วย ภูผาแด่นบนยอดเขา ยังเป็นแหล่งน้ำแร่ที่ใสสะอาด ที่ผุดขึ้นมาจากยอดเขาในป่าดงดิบ เป็นน้ำแร่ธรรมชาติไหลตลอดปี หล่อเลี้ยงในวัดถ้ำผาแด่นไม่เคยหยุดไหล ตลอดจนให้ความอุดมสมบูรณ์กับธรรมชาติ เช่น วัดถ้ำผาแด่น สัตว์ป่า ต้นไม้นานาพันธุ์ ได้พึ่งพาอาศัยจากต้นน้ำ

วัดถ้ำภูผาแด่น สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยมีพระอาจารย์มหาเส็ง ปุสโส นำชาวบ้านสร้างวัดขึ้น การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสวัดและรักษาการเจ้าอาวาสหลายรูป ตั้งอยู่เลขที่ ๘๗ หมู่ที่ ๙ บ้านดงน้อย ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร บนเส้นทางถนนศรีวิชา- โนนหอม จากทางแยกบ้านศรีวิชา- บ้านดงน้อย ระยะทาง ๑๒ กม. เมื่อถึงบ้านดงน้อยจะมีถนนแยกเข้าวัดผ่านกลางหมู่บ้าน ซึ่งจากถนนทางแยกไปถึงวัดถ้ำภูผาแด่นจะมีถนนลาดยางแอสฟัลท์ และเชื่อมต่อถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดความกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ระยะทางประมาณ ๔ กม. จากหน้าวัดบ้านดงน้อยไปยังวัดถ้ำผาแด่น ถนนดังกล่าวมีลักษณะคดโค้งและลาดชันตามเนินของเชิงไหล่เขา ข้างถนนเป็นป่าไม้เบญจพรรณ ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่ อาณาเขตทิศเหนือ-ทิศใต้-ทิศตะวันออก-ทิศตะวันตกจดเขตภูเขา ภูเขาภูพานล้อมรอบทั้ง ๔ ทิศ อาคารเสนาสนะประกอบด้วยศาลาการเปรียญกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ กุฎีสงฆ์เป็นอาคารไม้ ๕ หลัง อาคารมุงจาก ๑๐ หลังซึ่งบางหลังก็ทรุดโทรมตามกาลเวลา อาคารคอนกรีต ๑ หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศลสร้างด้วยไม้ ๒ หลัง ศาลารมณียสถานทั้งไม้และเสาปูนซีเมนต์ ๑ หลัง ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปพระประธาน ๔ องค์ หน้าตักกว้าง ๕๐ นิ้ว สร้างปี พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยหลวงพ่อสี พรหมโคตร พร้อมชาวบ้าน และต่อมาได้สร้างเจดีย์หินขนาดใหญ่และแกะสลักพระพุทธรูปหินปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ พญาครุฑหินแกะสลักและพญานาคหินแกะสลักอีกด้วยข้างฐานเจดีย์หินดังกล่าว และสร้างอุโบสถหลังใหม่ ๑ หลัง ขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ตั้งบนลานพื้นที่ ๑,๒๕๐ ตารางเมตร วัดถ้ำภูผาแด่นตั้งอยู่บนเชิงเขาภูพานข้างล่างหน้าผาแด่น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาเกิดการทรุดของหินภูเขาเมื่อครั้งอดีตจึงเกิดหน้าผาขึ้น ซึ่งหน้าผามีความสูงประมาณ ๗๐- ๙๐ เมตร หน้าผาแด่นมีลักษณะเป็นผาหิน สูงชัน เป็นสีขาว-คราม แลดูมีความสวยงามมีเสน่ห์สามารถมองเห็นไปได้ไกลหลายกิโลเมตร บริเวณรอบ ๆ ตีนผามีหญ้า และต้นไม้น้อยใหญ่ ขึ้นอยู่รายรอบและยังมีผาน้ำหยด (น้ำตก) ไหลลงมาจากหน้าผาตลอดทั้งปี เมื่อก่อนนี้ ยังมีรังผึ้งหลวงมาทำรังอยู่ตามหน้าผาอยู่ทั้งปี ซึ่งในปีหนึ่งผึ้งหลวงจะทำรังมากถึงปีละ 200-300 รัง โดยขนาดของรังผึ้งมีขนาดใหญ่ 2 - 3 เมตร เกาะอยู่ตามหน้าผาสวยงามน่าอัศจรรย์ ในความงามของธรรมชาติสร้างสรรค์ แต่เดียวนี้ถูกชาวบ้านเอารังผึ้งไปใช้ประโยชน์ ทำให้ปริมาณของรังผึ้งที่เคยมาอยู่อาศัย ตามหน้าผาหมดไป แทบไม่มีให้เห็นและยังมีฝูงค้างคาวบินโฉบกินแมลงอยู่ทั้งคืน นับเป็นความงามของธรรมชาติที่พึ่งพาอาศัยกันอย่างลงตัว และยังมีหน้าผาช่องแคบ เป็นหินที่แยกออกจากกันสวยงาม เหมือนมีใครมาตกแต่ง โดยหินได้แยกออกจากกัน เป็นช่องพอสำหรับคนเดินไปตรงกลางช่องหิน ด้านบนเป็นลานหินกว้าง ตามสันเขาที่เคยถูกตัดต้นไม้ จนโล่งเตียนเป็นลานหญ้าคา ขณะนี้พระภิกษุได้นำพันธุ์ไม้นานาพันธุ์มาปลูกใหม่จนเต็มไปด้วยต้นไม้กำลังขึ้นแทนที่ป่าไม้ที่เคยถูกตัดทำลาย หน้าผาภูผาแด่น มีลักษณะทอดยาวเป็นแนวตามสันเขาภูพาน ทางด้านทิศตะวันออกทอดมาจากถ้ำบิ้ง (ถ้ำค้างคาว) ซึ่งเป็นลานหินที่กว้างใหญ่ และสวยงาม ซึ่งลานหินนี้เคยมีประวัติ ความเป็นมาว่าเมื่ออดีตเป็นที่ปักกลดธุดงค์วิเวกบำเพ็ญธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต เมื่อในอดีตที่ผ่านมา ทางด้านทิศตะวันตกของถ้ำผาแด่นทอดยาวไปจดกับภูกะต่อย ซึ่งถ้ำแห่งนี้เคยมีประวัติความเป็นมาว่า เป็นที่ปักกลดธุดงค์ วิเวกบำเพ็ญธรรม ของพระอาจารย์วัน อุตฺตโม โดยธรรมชาติที่สวยงาม วัดถ้ำผาแด่นมีความสวยงามไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ ทัศนีย์ภาพของธรรมชาติได้อย่างลงตัว ถ้ำผาแด่นเป็นส่วนหนึ่งของหน้าผาแด่น มีลักษณะเป็นโพลงลึกเข้าไป เป็นโพลงหินลึก ส่วนที่เป็นถ้ำบางถ้ำ เช่น ถ้ำที่อยู่หน้าผาแด่น มีความลึกไม่มาก ประมาณ 5-10 เมตร แต่จะยาวไปตลอดหน้าผาแด่น ถ้ำหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่เคยอยู่ปฏิบัติธรรม มีความลึกจากด้านนอกคือจากปากถ้ำลึกถึงข้างใน ประมาณ 22 เมตร มีความกว้าง ประมาณ 10 เมตร ต่อมาได้อัญเชิญพระพุทธรูปพระชินราชจำลองขึ้นไว้บนถ้ำให้คนที่ต้องการสักการบูชาไต่บันใดขึ้นไปยังถ้ำเพื่อกราบไหว้บูชา ถ้ำหลวงปู่ฝั้นฯ จะมีน้ำไหลตลอดทั้งปี โดยน้ำจะหายไปในถ้ำแล้วไหลออกที่ห้วยปุ ทำให้ห้วยปุมีน้ำไหลทั้งปี ถ้ำหลวงปู่วัน อุตตโม ที่เคยอยู่ปฏิบัติธรรม มีความลึกประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตร และจะมีน้ำไหลมาจากบ่อน้ำทิพย์ ตกลงมาหน้าถ้ำตลอดทั้งปีเหมือนกัน ถ้ำพวงเป็นที่หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต เคยปฏิบัติธรรม เป็นโพลงลึกเข้าไปในโพลงหิน เพราะเมื่อสมัยก่อนเรียกถ้ำที่เป็นโพลงลึกเข้าไปว่า “พวง” แต่ทุกวันนี้ เรียกถ้ำพวงว่า “ถ้ำตะวันแดง” ถ้ำพวงจุดนี้ จะมีสิ่งพิเศษ เกิดขึ้นอยู่ใกล้เคียง กับถ้ำพวงโดยธรรมชาติสร้างสรรค์อย่างน่าอัศจรรย์ไว้อย่างลงตัวคือ “สะพานเชื่อมฟ้า” คือเป็น หินที่ถูกธรรมชาติกัดกร่อน จนเป็นสะพานเดินข้ามไปสู่ภูเขาหินอีกลูกได้เหมาะสม เหมือนสะพานหินที่มีใครไปสร้างเอาไว้ ให้เชื่อต่อกับท้องฟ้าอย่างสวยงาม สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบ ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสะพานเชื่อมฟ้าก็จะพระเจดีย์หินเก่า โดยมีหินเรียงกันเป็นชั้น ๆ เหมือนเจดีย์หินโบราณ คล้ายกับว่ามีคนนำเอาหินมาตั้ง สูงขึ้นให้เป็นเจดีย์เอาไว้ โดยเรียงจากก้อนใหญ่ ไปหาก้อนเล็ก และตั้งอยู่บนลานหินกว้างบนหน้าผาแด่น เป็นพระเจดีย์หินตั้งสง่าอยู่บนหน้าผาแด่นสวยงาม กลมกลืนกับธรรมชาติ และภูผาแด่นมีสิ่งอัศจรรย์อีกสิ่งหนึ่ง คือบ่อน้ำทิพย์สุญญตา บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการนำมาใช้อุปโภค บริโภค ในวัดถ้ำผาแด่น และบ่อน้ำแหล่งนี้จะใส่สะอาดบริสุทธิ์ ผุดขึ้นมาจากกลางป่าดงดิบ รกชัฏของภูผาแด่น โดยน้ำไหลออกบ่อตลอดทั้งปีไม่เคยขาด วัดถ้ำผาแด่นแห่งนี้ถ้ามองลงข้างล่างจะมีทัศนีย ภาพของตัวหมู่บ้านและตัวเมืองสกลนครอย่างสวยงาม มีผู้คนที่ศรัทธาในธรรมได้เดินทางขึ้นไปปฏิบัติธรรม ถ้ำผาแด่นเป็นภูมิทัศน์แห่งหนึ่งซึ่งพระสงฆ์และฆราวาสมุ่งหวังไปปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาตามรอยธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ฝั้น อาจารโร ปริมณฑลแห่งนี้สามารถมองเห็นพระตำหนักภูพานกับหนองหารผืนน้ำอันสวยงามของสกลนคร มีเจดีย์หิน รอยพระพุทธบาท บ่อน้ำแร่ธรรมชาติ หน้าผาน้ำย้อยตลอดเวลา แม้ระยะทางจะต้องเดินทางไปบิณฑบาตไปและกลับประมาณ ๑๐ กม.ก็ยังเหมาะต่อการปฏิบัติเจริญภาวนา จึงมีพระสงฆ์และบูรพาจารย์หลายรูปได้ขึ้นไปปฎิบัติธรรมทั้งก่อนและหลังการตั้งวัดแห่งนี้ อาทิเช่น หลวงปู่พรหม จิรปุณโญ หลวงปู่เส็ง ปุสโส หลวงปู่หล้า ธรรมปัตโต พระอาจารย์วัน อุตตโม พระมหาทองสุข สุขิโต ฯลฯ

วัดถ้ำภูผาแด่นกำลังถูกปรับปรุงและพัฒนาไปเรื่อยๆ เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์และฆราวาส พร้อมรองรับการไปเยี่ยมเยียนของผู้ศรัทธาธรรมผู้ที่รักป่ารักธรรมชาติที่สวยงาม ความสงบเงียบของป่าเขาลำเนาไพรที่เต็มไปด้วยสายลม ต้นไม้และสัตว์ป่าตามธรรมชาติเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสิ่งสำคัญประการหนึ่ง วัดนี้ได้จัดประกอบพิธีพุทธาอภิเษกจัดทำวัตถุมงคลจำนวนหลายรุ่น เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาเคารพนับถือทั้งข้าราชการ พ่อค้าประชาชนนำไปกราบไหว้บูชากันอย่างทั่วหน้ากัน โดยการนำของพระอาจารย์ปกรณ์ กนตวีโร เจ้าอาวาสวัดในปัจจุบัน (ผู้ให้ข้อมูลพระอาจารย์ปกรณ์ กนตวีโร เจ้าอาวาสวัดถ้ำผาแด่น บ้านดงน้อย ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมืองสกลนคร โทร.๐๘๓๖๒๖๓๔๗๕)

คำสำคัญ
วัดถ้ำผาแด่น
สถานที่ตั้ง
เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน เป็นเทือกเขาแห่งประวัติศาสตร์ เมื่อถึงบ้านดงน้อยจะมีถนนแยกเข้าวัดผ่านกลางหมู่บ้าน
เลขที่ 87 หมู่ที่/หมู่บ้าน 9/บ้านดงน้อย ถนน ศรีวิชา - เต่างอย
ตำบล ดงมะไฟ อำเภอ เมืองสกลนคร จังหวัด สกลนคร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
พระอาจารย์ปกรณ์ กนตวีโร เจ้าอาวาสวัดถ้ำผาแด่น
บุคคลอ้างอิง ว่าที่พันตรีประภาส สะท้านอิทธิฤทธิ์ อีเมล์ praphat2555@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร อีเมล์ sakon.culture@gmail.com
ถนน สกล-กาฬสินธุ์
ตำบล ธาตุเชิงชุม อำเภอ เมืองสกลนคร จังหวัด สกลนคร รหัสไปรษณีย์ 47000
โทรศัพท์ 042716247 โทรสาร 042716214
เว็บไซต์ http://province.m-culture.go.th/sakonnakhon/
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่