นายศิวกานท์ ปทุมสูติ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๔๙๖ ที่บ้านวังหลุมพอง ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พื้นฐานครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม บิดาชื่อนายกรวย ปทุมสูติ อดีตกำนันตำบลจรเข้สามพัน มารดาชื่อนางทองมา ปทุมสูติ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา คือ พี่ชายชื่อเด็กชายเสมียน ปทุมสูติ (เสียชีวิตในวัยเยาว์) น้องชายชื่อนายสิทธิกร ปทุมสูติ นายวิรัตน์ ปทุมสูติ และน้องสาวชื่อนางกัลยา ปทุมสูติ ชีวิตในวัยเด็ก หลังจากจบ ป.๔ แล้วไม่ได้เรียนต่อ ช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา เลี้ยงควาย อยู่กับธรรมชาติท้องทุ่งและป่าเขา ชีวิตวัยเยาว์นอกจากจะได้คลุกคลีกับวิถีวัฒนธรรมพื้นบ้านชนบท จนได้ซึมซับคติชนและวิถีชาวบ้านไว้อย่างลึกซึ้งแล้วยังมีนิสัยชอบเที่ยวป่าเป็นชีวิตจิตใจ และครั้งหนึ่งได้มีโอกาสเดินทางเข้าป่าลึกไปกับกองเกวียนของตา (เตี้ย เพ็ญจู) ซึ่งต่อมาได้เก็บบันทึกเรื่องราวครั้งวัยเยาว์เหล่านั้นมาเขียนสารคดีชีวิตเรื่อง “ครั้งหลังยังจำ” เมื่ออายุย่าง ๑๔-๑๕ ปี ได้ฝึกหัดเป็นช่างตัดผม เปิดร้านตัดผมอยู่ในหมู่บ้านถิ่นเกิด และฝึกเป็นช่างปะยาง รับจ้างปะยางรถจักรยานไปพร้อมๆ กัน ประกอบกับเป็นช่วงชีวิตเข้าสู่วัยรุ่น ได้เที่ยวไปในเทศกาลลานรำละแวกหมู่บ้านต่างๆ ย่านอู่ทอง-พนมทวน ได้ฝึกร้องเพลงเชียร์รำวงกับเพื่อนๆ จนเกิดความบันดาลใจให้แต่งเพลงลูกทุ่งร้องเล่น เพลงหนึ่งที่จดจำบันทึกไว้คือ “มนต์รักอู่ทอง” และยังได้ฝึกร้องเล่นเพลงพื้นบ้านกับพ่อเพลงแม่เพลงประจำหมู่บ้านและถิ่นย่านใกล้เคียง จนฝังใจจดจำเพลงพวงมาลัย เพลงเหย่อย เพลงอีแซว และเพลงพื้นบ้านอื่นๆ ของพื้นเพลงภาคกลางหลายๆ เพลงไว้เป็นเพลงครูในชีวิตสืบต่อมา ช่วงปี ๒๕๑๑-๒๕๑๒ ได้ออกจากหมู่บ้าน ไปเป็นช่างตัดผมที่ร้านช่างประเทือง ตลาดเขต อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ไม่นานก็ย้ายไปอยู่กับช่างสมยาที่ “ร้านสมยาเกษา” ตลาดท่าม่วง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ช่วงนี้ได้เริ่มฝึกเขียนกลอน ทั้งที่ยังไม่เคยรู้จักฉันทลักษณ์ ได้แต่เพียงเรียนรู้จากตัวอย่างบทกลอนในหนังสือพิมพ์ที่มีในร้านตัดผม อยู่ทีท่าม่วงประมาณ ๕-๖ เดือนก็ย้อนกลับมาตลาดเขตอีกครั้ง คราวนี้ได้เปิดร้านตัดผมเป็นของตนเอง อัตราค่าตัดผมครั้งนั้น ผู้ใหญ่ ๓ บาท เด็กโต ๒ บาท และเด็กเล็ก ๑.๕๐ บาท ปี ๒๕๑๓ รู้สึกเบื่ออาชีพช่างตัดผมที่ต้องจับเจ่าจำเจอยู่กับร้าน เฝ้ารอลูกค้าทั้งขาประจำและขาจรที่ไม่รู้ว่าจะมาใช้บริการวันใด เวลาใด ชีวิตเหมือนถูกกักขังอยู่กับการรอคอยที่ไม่รู้กำหนดเวลา เริ่มคิดถึงการเรียนต่อ แต่ไม่มีโอกาส จึงเขียนจดหมายติดต่อกับเพื่อนรุ่นพี่ที่บวชเป็นพระอยู่ที่วัดมงคลนิมิต จังหวัดภูเก็ต หวังไปบวชเป็นสามเณรเรียนหนังสือที่นั่น เตรียมการเก็บเงินอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ตัดสินใจทิ้งร้านตัดผมที่ตลาดเขต โดยแอบหนียาย (ทองดำ เพ็ญจู) ที่มาอยู่ด้วยที่ร้านขณะนั้นจากไปในตอนค่อนรุ่งของวันหนึ่ง มุ่งหน้าเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเดินทางต่อไปภูเก็ต จากการเดินทางครั้งนั้น ต่อมาได้เขียนนิราศย้อนบันทึกเรื่องหนึ่ง คือ “นิราศภูเก็ต” (รางวัลกรมศิลปากร เนื่องในงานเปิดหอวชิราวุธานุสรณ์) เมื่อไปถึงภูเก็ตกลับไม่ได้บวชเป็นสามเณรดังที่ตั้งใจไว้แต่แรก พระอาจารย์เยื้อน ทิมทอง ได้ให้ความอนุเคราะห์ที่พักพิงในวัดมงคลนิมิต โดยมีพระนิพนธ์ โรจนบุญถึง และพระพุฒ ปทุมสูติ เป็นผู้สนับสนุนให้ทำงานเป็นช่างตัดผมประจำร้าน “เนื่องเกษา” ในตัวเมือง พร้อมกับได้ใช้เวลาหลังเลิกงานเรียนกวดวิชาภาคค่ำที่โรงเรียนดรุณวิทย์ ซึ่งที่โรงเรียนนี้เองได้พบกับครูกลอนคนแรก คือ ครูสนาม ธนสังข์ รู้สึกเลื่อมใสศรัทธาครูสนามที่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ครูจะชอบท่องบทกวีและร้องเพลงประกอบการสอนวิชาภาษาไทยอยู่เสมอๆ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจรักที่จะเขียนกาพย์กลอนจริงจังนับแต่นั้นมา แต่การเรียนกวดวิชาดังกล่าวก็ไม่ทันจบภาคเรียน ไม่ทันที่จะได้สอบก็ย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาอยู่กับพระมหาบุญช่วย วชิรวิจิตร ที่วัดโพธินิมิตร ย่านตลาดพลู ธนบุรี ได้ทำงานเป็นช่างตัดผมอยู่ย่านตลาดสำเหร่ ทำงานไปด้วย อ่านหนังสือเตรียมสอบเทียบความรู้ไปด้วย กระทั่งสอบเทียบความรู้ ป.๗ ได้ (สนามสอบกรุงเทพฯ) จากนั้นได้เข้าเรียนภาคค่ำที่โรงเรียนผู้ใหญ่มหาวีรานุวัตร วัดไตรมิตร ขณะนั้นได้พัฒนาการเขียนกลอนจนผลงานได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ “มหาราษฎร์” เมื่อปี ๒๕๑๕ และได้รับการตีพิมพ์ต่อๆ มาในหนังสือและนิตยสารต่างๆ อาทิ ไทยรัฐ (เมื่อครั้งยังมีคอลัมน์ “ประกายเพชร” และ “เกล็ดดาว”) วิทยาสาร ชัยพฤกษ์ และสตรีสาร หลังเรียนจบศึกษาผู้ใหญ่ระดับ ๔ (ม.ศ.๓) ได้สอบเข้าทำงานเป็นบุรุษไปรษณีย์ที่ไปรษณีย์กลาง บางรัก พร้อมกับเข้าเรียนครูภาคค่ำที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา เมื่อปี ๒๕๑๖ ครั้นถึงภาคเรียนที่ต้องออกฝึกสอน ไม่สามารถทำงานบุรุษไปรษณีย์ต่อไปได้ จึงลาออกมาเป็นเซลส์แมนขายหนังสือ (เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์) และร่วมกับเพื่อนๆ จัดทำหนังสือพิมพ์ “เสียงสนธยา” ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก “ชมรมกวีศรีสยาม” มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมประกวดประชันกลอนในสนามต่างๆ ได้ฝึกฝนฉันทลักษณ์แบบฉบับอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเรียนจบ ป.กศ. (พ.ศ.๒๕๑๘) แล้วเรียนต่อ ป.กศ.สูง วิชาเอกภาษาไทย แต่เรียนไปได้เพียง ๑ ภาคเรียนก็สอบบรรจุเป็นครูได้ จึงหยุดการเรียนไว้เพียงนั้น ๑ มิถุนายน ๒๕๑๙ เป็นวันเริ่มต้นชีวิตครูชนบท อัตราเงินเดือน ๑,๐๘๐ บาท ที่โรงเรียนบ้านมะขามเอน กิ่งอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ครูใหญ่ (นายสังข์ ศรัทธาผล) ได้มอบหมายหน้าที่ให้สอนชั้น ป.๑ บรรยากาศสบายๆ ภายในอาคารเรียนโรงดิน หลังคาสังกะสี ไม่มีฝาข้าง มีก็แต่แนวไม้รวกขัดแตะเก่าๆ ที่กั้นระหว่างชั้นเรียน โต๊ะเก้าอี้แบบตีแปะติดกัน นักเรียนนั่งห้อยขาแถวละสี่คนบ้าง ห้าคนบ้าง งานเขียนในช่วงที่เป็นครูอยู่กลางป่าเขาครั้งนั้น ส่วนใหญ่เขียนกลอนและเรื่องสั้น ลงในนิตยสารฟ้าเมืองไทย และสตรีสาร นักเขียนคนโปรดในเวลานั้น คือ นิมิตร ภูมิถาวร ปลายปี ๒๕๑๙ ได้สมรสกับ นางพราม ปทุมสูติ และปี ๒๕๒๐ มีบุตรคนแรกเป็นชายชื่อ ภูมิไฑ ปทุมสูติ ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันสามพ่อแม่ลูก ที่โรงเรียนบ้านมะขามเอนประมาณปีกว่าๆ ก็โอนย้ายมาอยู่โรงเรียนวัดโพธิ์ทองเจริญ อำเภออู่ทอง ในจังหวัดบ้านเกิด ได้สอบเทียบและศึกษาอบรมภาคฤดูร้อน (วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง และ วิทยาลัยครูนครปฐม) จนได้รับประกาศนียบัตรครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) กระทั่งกลางปี ๒๕๒๒ ได้บุตรคนที่สองเป็นหญิงชื่อ ในดวงตา ปทุมสูติ จากนั้นโอนย้ายมาเป็นครูโรงเรียนวัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นโรงเรียนในหมู่บ้านเกิด ที่เคยเรียนเมื่อครั้งวัยเด็ก ช่วงนั้นการศึกษาประชาบาลได้ปรับเปลี่ยนสังกัดจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติแล้ว ขณะอยู่ที่โรงเรียนวัดปทุมวนาราม การเขียนกาพย์กลอนได้พัฒนาขึ้นมาก ได้สร้างสรรค์วรรณกรรมสำคัญสองเรื่อง เรื่องแรกเขียนขึ้นในปี ๒๕๒๔ คือเรื่อง “สมเด็จพระภัทรมหาราชคำฉันท์” ได้รับรางวัลชั้นที่ ๑ วรรณกรรมไทยบัวหลวง และปี ๒๕๒๗ เรื่อง “เพื่อนแก้วคำกาพย์” ได้รับรางวัลชั้นที่ ๑ วรรณกรรมไทยบัวหลวงอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งได้เริ่มเขียนเพลงพื้นบ้านโต้ตอบกับนักเพลงคนอื่นในเวทีเพลงสตรีสาร เขียนบทความและบทกวีลงในมิตรครู และฟ้าเมืองไทย ด้านการศึกษา ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีกับโครงการศึกษาอบรมครูประจำการ (อ.คป.) ของวิทยาลัยครูกาญจนบุรี เรียนเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ และภาคฤดูร้อน กระทั่งจบปริญญาครุศาสตรบัณฑิต (ภาษาไทย) ในปี ๒๕๒๕ ปี ๒๕๒๘ เกิดวิกฤตชีวิตกับผู้มีอิทธิพลในหมู่บ้าน ตัดสินใจย้ายครอบครัวจากหมู่บ้านในเวลาตีสอง พร้อมขอโอนย้ายไปอยู่โรงเรียนสุพรรณภูมิ และในปีเดียวกันนั้นผลงานกวีนิพนธ์รวมเล่มชื่อ “บทกวีร่วมสมัย” ได้รับรางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และต่อมากวีนิพนธ์เล่มนี้ได้รับการพิจารณาเข้ารอบรางวัลซีไรต์ ปี ๒๕๒๙ ชีวิตได้ก้าวเดินสู่ความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านภายในและภายนอก เริ่มฝักใฝ่ในการแสวงธรรม ได้เข้าร่วมกิจกรรมพุทธาภิเษกกับชาวอโศก ที่ไพศาลีอโศก นครสวรรค์ ครั้งนั้นทำให้ได้แรงบันดาลใจเขียนบทกวีสำคัญเรื่องหนึ่งชื่อ “ทวนกระแส” (รวมพิมพ์ครั้งแรกในกวีนิพนธ์ “หนึ่งทรายมณี” ต่อมาได้พิมพ์ในกวีนิพนธ์ “บันทึกแห่งดวงหทัย”) ได้เคยเดินทางไปนมัสการหลวงปู่ชา สุภัทโท ที่วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี ได้เก็บสัมผัสซึมซับสภาวธรรมต่างๆ จากการเดินทาง กับได้น้อมนำวิถีธรรมคำสอนอันแยบคายลึกซึ้งของหลวงปู่ชามาเป็นแรงพลังในการใช้ชีวิต ครั้งนั้นได้พบกับธรรมชาตินิมิตบางอย่าง จนทำให้ใส่เสื้อสีเขียวเป็นเครื่องระลึกปีติธรรมสืบมาเป็นเวลาหลายปี กว่าจะปล่อยวางสมมุติ แต่ปีติธรรมนั้นก็ได้สร้างความบันดาลใจให้เขียนกวีนิพนธ์ “สร้อยสันติภาพ” ในปี ๒๕๓๒ เป็นกวีนิพนธ์อีกเล่มหนึ่งที่ได้รับรางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และเข้ารอบรางวัลซีไรต์ ในปีเดียวกันนั้น ประสบการณ์ชีวิตอีกด้านหนึ่งระหว่างปี ๒๕๓๑-๒๕๓๒ ก็คือ ได้ร่วมงานบรรณาธิการเฉพาะกิจกับสำนักพิมพ์ต้นอ้อ (ทำงานเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์) ช่วยดูแลต้นฉบับบทกวีและวรรณกรรมเยาวชน สำหรับการสร้างงานเขียนของตนเองก็ยังคงทำงานต่อเนื่อง งานเขียนระหว่างปี ๒๕๒๘-๒๕๓๒ มีทั้งบทกวี บทความ และวรรณกรรมเยาวชน ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารเล่มอื่นๆ อีก (นอกจากที่กล่าวแล้ว) ก็คือ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ มติชนสุดสัปดาห์ สู่อนาคต และขวัญเรือน ปี ๒๕๓๓ โอนย้ายสังกัดมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูกาญจนบุรี และทำงานอยู่ที่สถานศึกษาแห่งนี้เป็นเวลา ๑๔ ปี เป็นช่วงเวลาระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากวิทยาลัยครูเป็นสถาบันราชภัฏ และจากสถาบันราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้เคยรับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาภาษาไทย หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ รองคณบดี และกรรมการสภาประจำสถาบัน กระทั่งได้ลาออกจากราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ ๘ เมื่อ ๑ เมษายน ๒๕๔๗ ก่อนเกษียณอายุราชการ ๙ ปี ระหว่างที่เป็นอาจารย์สถาบันราชภัฏ มักใช้เวลาช่วงปิดภาคเรียนเพื่อการท่องเที่ยวและแสวงธรรม ได้เคยเดินทางไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อพุทธทาสที่สวนโมกข์ สุราษฎร์ธานี และได้เคยปฏิบัติธุดงค์แบบฆราวาสธุดงค์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กาญจนบุรี ประสบการณ์จากการหลงป่า หาน้ำดื่มไม่ได้ ต้องพึ่งน้ำจากปล้องไม่ไผ่ ก่อให้เกิดเวทนาฝังใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้นำมาเขียนบทกวีชื่อ “เวฬุนารี” (กว่าจะข้ามขุนเขา : ด้วยปลายมีดของเธอและฉัน,๒๕๔๙) งานเขียนนอกจากบทกวี บทความ และสารคดีลงในนิตยสารต่างๆ เพิ่มขึ้น (เช่น มาตุภูมิ แพรวสุดสัปดาห์ เนชั่นสุดสัปดาห์) แล้ว ยังได้เขียนกวีนิพนธ์เล่มสำคัญขึ้นระหว่าง ๑๔ ปีในสถาบันราชภัฏ คือ กำไรจากรอยเท้า (รางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ,๒๕๓๔), บันทึกแห่งดวงหทัย (รางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและรางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวง,๒๕๓๕), หน้าต่างดอกไม้ (๒๕๓๖), กระจกสีขาว (กลอนเปล่า,๒๕๓๖), นครคับแคบ (๒๕๓๗), เสียงปลุกยามค่ำคืน (สร้างสรรค์ฉันทลักษณ์ใหม่ทั้งเล่ม,๒๕๔๑), ข้าวเม่ารางไฟ (สร้างสรรค์ฉันทลักษณ์ใหม่สืบต่อจากเสียงปลุกยามค่ำคืน,๒๕๔๔ รางวัลกวีนิพนธ์ Seven Book Awards ปี ๒๕๔๗), รักนั้นเป็นฉันนี้ (๒๕๔๖), ไม้ตะปูและหัวใจ (ในนาม จันทร วรลักษณ, ๒๕๔๗) และ ครอบครัวดวงตะวัน (เข้ารอบรางวัลซีไรต์ ปี ๒๕๔๗) ตัวตนสำคัญที่ได้พบหลังลาออกจากราชการ โดยเฉพาะตัวตนที่เป็นหนึ่งเดียวกับบทกวีที่เขียนระหว่างปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙ คือหนังสือกวีนิพนธ์ “กว่าจะข้ามขุนเขา : ด้วยปลายมีดของเธอและฉัน” ในนาม ธมกร : ศิวกานท์ ปทุมสูติ (พิมพ์เผยแพร่ปลายปี ๒๕๔๙) เป็นกวีนิพนธ์ที่หยั่งลึกลงในปรัชญาชีวิตแห่งการต่อสู้กับตัวตนภายในและผัสสะที่กระทบกระทำจากภายนอก ผ่านประภัสสรปัญญาและจิตวิญญาณ นับเป็นรอยเท้าแห่งรอยทางที่ก้าวเดินจากกวีนิพนธ์ทุกเล่มก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก ประสบการณ์ชีวิตอื่นๆ นอกจากที่กล่าวแล้ว คือ เป็นผู้เขียนหนังสือเรียน “ภาษาพาที” ชั้น ป.๒ และ ป.๕ ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี กกต.จังหวัดกาญจนบุรี กรรมการสมาคมภาษาและหนังสือในพระบรมราชูปถัมภ์ อุปนายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย บรรณาธิการวารสารแควใหญ่ คณะทำงานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ คณะทำงานกลุ่มคนต้นน้ำแคว และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มคนตะวันตก การศึกษา การศึกษาตั้งแต่จบ ป.๔ ได้ดำเนินวิถีการเรียนรู้แบบนอกระบบปกติมาตลอด สรุปได้ดังนี้ พ.ศ.๒๕๐๖ จบ ป.๔ จากโรงเรียนวัดปทุมวนาราม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พ.ศ.๒๕๑๔ จบ ป.๗ จากการฝึกฝนตนเอง สมัครสอบสนามสอบกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๑๖ จบ ม.ศ.๓ (การศึกษาผู้ใหญ่ระดับ ๔) จากโรงเรียนผู้ใหญ่มหาวีรานุวัตร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๑๘ จบ ป.กศ. จากวิทยาลัยครูสวนสุนันทา กรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๒๐–๒๕๒๑ จบ พ.ม. จากการฝึกฝนตนเอง สมัครสอบสนามสอบราชบุรี (ชุดวิชาครู และชุดวิชาสังคมศึกษา) และอบรมภาคฤดูร้อนจากวิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง ราชบุรี (ชุดวิชาภาษาไทย) และวิทยาลัยครูนครปฐม (ชุดวิชาวิทยาศาสตร์) พ.ศ.๒๕๒๕ จบ ค.บ. (ภาษาไทย) จากวิทยาลัยครูกาญจนบุรี พ.ศ.๒๕๕๐ ได้รับ ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาไทย) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ผลงานวรรณกรรม ผลงานวรรณกรรมที่พิมพ์เผยแพร่แล้ว ๓๐ กว่าเล่ม เล่มสำคัญๆ เรียงลำดับปีที่พิมพ์ได้แก่ ประเภทกวีนิพนธ์ ๑.สมเด็จพระภัทรมหาราชคำฉันท์ (รางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวง,๒๕๒๔) ๒.เพื่อนแก้วคำกาพย์ (รางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวงและได้รับการพิจารณาเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย, ๒๕๒๗) ๓.บทกวีร่วมสมัย (รางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและเข้ารอบรางวัลซีไรต์,๒๕๒๙) ๔.ทุ่งดินดำ : แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง (รางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวง,๒๕๒๙ ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังอ่านประกอบระดับมัธยมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ) ๕.หนึ่งทรายมณี (รางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวง,๒๕๓๒) ๖.สร้อยสันติภาพ (รางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ, เข้ารอบรางวัล ซีไรต์, ๒๕๓๒, รางวัลประเภทหนังสือดีในอดีต Seven Book Awardsปี ๒๕๔๗) ๗.กำไรจากรอยเท้า (รางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ,๒๕๓๔) ๘.บันทึกแห่งดวงหทัย (รางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและรางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวง,๒๕๓๕) ๙.หน้าต่างดอกไม้ (๒๕๓๖) ๑๐.กระจกสีขาว (กลอนเปล่า,๒๕๓๖) ๑๑.นครคับแคบ (๒๕๓๗) ๑๒.เสียงปลุกยามค่ำคืน (สร้างสรรค์ฉันทลักษณ์ใหม่ทั้งเล่ม,๒๕๔๑) ๑๓.ข้าวเม่ารางไฟ (สร้างสรรค์ฉันทลักษณ์ใหม่สืบต่อจากเสียงปลุกยามค่ำคืน,๒๕๔๔ รางวัลกวีนิพนธ์ Seven Book Awards ปี ๒๕๔๗) ๑๔.รักนั้นเป็นฉันนี้ (๒๕๔๖) ๑๕.ไม้ตะปูและหัวใจ (ในนาม จันทร วรลักษณ์, ๒๕๔๗) ๑๖.ครอบครัวดวงตะวัน (เข้ารอบรางวัลซีไรต์,๒๕๔๗) ๑๗.กว่าจะข้ามขุนเขา (ด้วยปลายมีดของเธอและฉัน,๒๕๔๙) ประเภทร้อยแก้ว ๑.ลิขิตไฟ (นวนิยาย,๒๕๓๑) ๒.สองเธอ (นวนิยายเยาวชน,๒๕๓๒) ๓.ครั้งหลังยังจำ (สารคดีชีวิตวัยเยาว์,๒๕๓๘) ประเภทตำราวิชาการ ๑.กลวิธีสอนเด็กเรียนเขียนบทกวี (งานเขียนกึ่งวิชาการ,๒๕๓๓) ๒.การอ่านเพื่อชีวิต (งานเขียนเชิงวิชาการ,๒๕๔๐) ๓.การเขียนสร้างสรรค์ไม่ยากอะไรเลย (งานเขียนเชิงวิชาการ,๒๕๔๘) ๔.ภาษาพาที ชุดภาษาเพื่อชีวิต กลุ่มสาระฯ ภาษาไทย ชั้น ป.๒ และ ป.๕ ของกระทรวงศึกษาธิการ (หนังสือเรียน,๒๕๔๗) ๕.เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว (งานเขียนเชิงวิชาการ,๒๕๔๘) ๖.ก ไก่ น้อมไหว้ (หนังสือเรียน ก ไก่ สำนวนใหม่,๒๕๔๙) ๗.คู่มือการอ่านคิดวิเคราะห์ (งานเขียนเชิงวิชาการ,๒๕๕๓) ประเภทเพลง ๑.เพลงชุด กราบแผ่นดิน, พี่สาวพระเจ้าแผ่นดิน, มือขวาพระมหากษัตริย์ (ร่วมกับชินกร ไกรลาศ,๒๕๔๕ - ๒๕๕๑) ๒.เพลงชุด ลมใต้ปีก (ร่วมกับคฑาวุธ ทองไทย : มาลีฮวนน่า,๒๕๔๖) ๓.เพลงชุด เฉลิมพระเกียรติองค์ราชา (ร่วมกับเทวัญ ทรัพย์แสนยากร และคนอื่นๆ,๒๕๕๑) ๔.เพลงชุด เจ้าชายปี่ (ร่วมกับศักดิ์สิริ มีสมสืบ และคนอื่นๆ,๒๕๕๓) ผลงานได้รับการวิเคราะห์วิจัยเป็นวิทยานิพนธ์และปริญญานิพนธ์ ๑.ปริญญานิพนธ์ เรื่อง “การวิเคราะห์บทร้อยกรอง ของศิวกานท์ ปทุมสูติ” ปริญญานิพนธ์ของ นางสาวสุขกมล รัตนสุภา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร หลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต วิชาเอกภาษาไทย ปี ๒๕๓๖ ๒.วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาความคิดเชิงสังคม และวรรณศิลป์ในกวีนิพนธ์ของอุชเชนี อังคาร กัลยาณพงศ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ และศิวกานท์ ปทุมสูติ” วิทยานิพนธ์ของ สุวรรณา ทับแจง หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (ไทยศึกษา) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี ๒๕๕๐ ๓.วิทยานิพนธ์เรื่อง “ฉันทลักษณ์ในกวีนิพนธ์ไทยสมัยใหม่ : การสืบทอด การสร้างสรรค์ และความสัมพันธ์กับสุนทรียภาพทางวรรณศิลป์” (ศึกษาฉันทลักษณ์ในกวีนิพนธ์ไทยสมัยใหม่เพื่อชี้ให้เห็นการสืบทอดขนบ การสร้างสรรค์ และความสัมพันธ์ของฉันทลักษณ์กับการสร้างความงามทางวรรณศิลป์ โดยเลือกศึกษากวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, คมทวน คันธนู, ศิวกานท์ ปทุมสูติ, แรคำ ประโดยคำ, ไพวรินทร์ ขาวงาม, กานติ ณ ศรัทธา, โกศล กลมกล่อม และศักดิ์สิริ มีสมสืบ) วิทยานิพนธ์ นายกีรติ ธนะไชย หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิตของภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี ๒๕๕๑ ในความดูแลของรองศาสตราจารย์ ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยภาษาและวรรณคดีไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาวิจัยฉันทลักษณ์ไทย รางวัลวรรณกรรมและรางวัลชีวิต ๑.ผลงานวรรณกรรมได้รับรางวัลรวม ๙๖ รางวัล (เข้ารอบรางวัลซีไรต์ ๓ ครั้ง) ๒.ครูภาษาไทยดีเด่นของคุรุสภา ปี ๒๕๓๗ ๓.นักกลอนตัวอย่างของสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ปี ๒๕๓๗ ๔.อาจารย์ผู้สอนดีเด่นรางวัลมูลนิธิศาสตราจารย์บุญถิ่น อัตถากร ปี ๒๕๓๙ ๕.บุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมอำเภออู่ทอง (สุพรรณบุรี) ปี ๒๕๔๐ ๖.ศิลปินดีเด่นสาขาวรรณศิลป์จังหวัดกาญจนบุรี ปี ๒๕๔๐ ๗.ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาไทย) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ปี ๒๕๕๑ ๘.ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยจังหวัดสุพรรณบุรี ปี ๒๕๕๒ ๙.ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ปี ๒๕๕๓ ปัจจุบัน หลังจากลาออกจากราชการได้อุทิศชีวิตเพื่อการศึกษาเรียนรู้ชีวิตอย่างจริงจัง โดยใช้ชีวิตในวิถีกวีและนักวิชาการอิสระ ได้จัดทำโครงการเพื่อการศึกษาเรียนรู้ที่สำคัญ ดังนี้ ๑.ก่อตั้งโรงเรียนกวีทุ่งสักอาศรม สำหรับเยาวชนอายุระหว่าง ๑๗-๒๕ ปี (นับแต่ปี ๒๕๕๔ เป็นต้นไปจะรับบุคคลตั้งแต่อายุ ๑๕ ปีขึ้นไป โดยไม่จำกัดอายุสูงสุด) เพื่อให้การเรียนรู้ “อ่านคิดเขียนเรียนรู้ชีวิตอย่างมีสันติสุข” ให้ที่พักอาศัยและอาหารการกินอยู่ตลอดหลักสูตร ๑ เดือนเต็ม ในเดือนเมษายนของทุกปี รับสมัครเยาวชนผู้สนใจเข้าร่วมเรียนรู้ กินอยู่ และใช้ชีวิตในโรงเรียนปีละ ๑๐ คน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ๒.จัดทำโครงการค่าย “ครูรากแก้วการอ่าน” สำหรับครูทุกสังกัด เพื่อให้การเรียนรู้ “อ่านคิดวิเคราะห์วรรณกรรม ชีวิต วัฒนธรรม สังคม และการศึกษา” ให้ที่พักอาศัยและอาหารการกินอยู่ตลอดหลักสูตร ๕ วัน ๕ คืน ระหว่าง ๒๕-๓๐ เมษายนของทุกปี รับสมัครครูผู้สนใจเข้าร่วมเรียนรู้ กินอยู่ และใช้ชีวิตในศูนย์เรียนรู้ปีละ ๒๐ คน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอบรมและค่าที่พัก เพียงให้ช่วยค่าอาหารและค่าเอกสารเท่าที่เป็นจริงเท่านั้น ๓.ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม เพื่อให้การศึกษาอบรมเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน ครู และผู้สนใจทั่วไป ทั้งการจัดกิจกรรมในศูนย์และนอกศูนย์ตามหลักสูตรโครงการต่างๆ เกี่ยวกับภาษา วรรณกรรม การศึกษา และวัฒนธรรม ๔.ก่อตั้ง “กองทุนชีวิตใหม่” ร่วมกับกลุ่มญาติธรรม เพื่อดำเนินกิจกรรมโครงการ “เวทีชีวิตใหม่” สร้างเสริมปัญญา จิตใจ กาย และวิถีวัฒนธรรมนำสันติสุข โดยรับหน้าที่เป็นประธานกองทุน ที่อยู่ ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม ๓๕ หมู่ ๑๓ ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ๗๑๑๗๐ โทรศัพท์ ๐๘๑-๗๕๗๘๘๕๔, ๐๘๑–๙๙๕๖๐๑๖