จากข้าวปิ่นแก้ว ถึงข้าวหอมมะลิ
“ประเทศไทยเป็นแหล่งพันธุกรรมข้าวอันอุดมสมบูรณ์และการเกษตร รุ่นแรกที่คัดเลือก ปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับการปลูกในแต่ละท้องถิ่น โดยพัฒนาพันธุ์จากข้าวป่า ซึ่งเป็นแหล่งพันธุกรรมอย่างดีในการปรับปรุงพันธ์ข้าวโดยเฉพาะการสร้างพันธุ์ให้ต้านทานโรค แมลง หรือทนทานต่อสภาพแวดล้อม เพราะธรรมชาติของข้าวป่าจะมีระยะเวลาฟักตัวนานแรมปีเพื่อความอยู่รอด หากเมล็ดข้าวป่าร่วมสู่ดินในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยจะสามารถอยู่ในดินได้นานเกือบปีเพื่อรอฝน คนโบราณจึงปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ปลูกจากข้าวป่านั่นเอง หากยังไม่มีการรวบรวมพันธุ์ข้าวอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนหน้านั้นเราส่งข้าวไปขายยุโรปผ่านบริษัทของอินเดีย แล้วมีข่าวว่าข้าวไทยขายสู้ข้าวอินเดียไม่ได้ เพราะข้าวไทยส่วนมากแตกหัก แต่ข้าวอินเดียมเมล็ดยาวสวยกว่า ช่วงเวลานั้นรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรป พระองค์ท่านทรงตั้งข้อสังเกตว่า ชาวนาไทยอาจปลูกข้าวหลายพันธุ์มากเกินไป ไม่มีการคัดแยกเมล็ดพันธุ์ พระองค์ท่านทรงมองการณ์ไกล จึงทรงมีพระราชดำริให้เกษตรกรนำพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมาประกวดกันเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ที่อำเภอธัญบุรี พันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวดนั้น ทางการได้นำมาปลูกเพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณภาพเมล็ดดีจนได้เป็นข้าวพันธุ์ดีและนำให้เกษตรกรปลูก พันธุ์ข้าวชุดรแกที่รัฐบาลแนะนำในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ คือข้าวพวงเงิน ตามประวัติได้มาจากขุนภิบาลตลิ่งชัน ธนบุรี ข้าวทองระย้าดำ ได้มาจากนายปิ่ว บางน้ำเปรี้ยว พระนคร และพันธุ์ปิ่นแก้ว ซึ่งได้ตัวอย่างมาจาก ชลบุรี มีความยาวเมล็ดหลังจากสีแล้ว ๘.๔ มิลิเมตร ข้าวพันธุ์ปิ่นแก้วมีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะไปชนะเลิศการประกวดพันธุ์ขาวของโลกที่ประเทศแคนนาดา” ดร.สงกรานต์ จิตรากร ผู้เชี่ยวชาญพันธุ์ข้าวแห่งสถาบันวิจัยข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าถึงพัฒนาการข้าวไทยในอดีต
ต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๙๕ มีการรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั่วประเทศอย่างจริงจัง เพื่อค้นหาข้าวพันธุ์ดีแนะนำให้เกษตรกรปลูก ผลจากการประเมินลักษณะเมล็ดและการคัดเลือกจากพันธุ์ข้าวประมาณ ๖,๐๐๐ ตัวอย่าง ก็ได้ข้าวพันธุ์ดีหลายพันธุ์ที่ใช้แนะนำให้เกษตรกรปลูก ในจำนวนนี้มีพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า ข้าวหอมมะลิ รวมอยู่ด้วย
ข้าวขาวหอมมะลิ ๑๐๕ พบครั้งแรกในท้องที่แหลมประดู่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยนายจรูญ ตัณฑวุฒ ได้นำมาปลูกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๓ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการรวบรวมข้าวพันธุ์ดีของประเทศ พนักงานข้าวอำเภอบางคล้ารวมรวมรวงข้าวจากอำเภอบางคล้าจำนวน ๑๙๙ รวม ส่งไปปลูกคัดพันธุ์ให้บริสุทธิ์ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง หลังจากนั่นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้นำไปปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ท้องถิ่นในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์จึงได้ออกประกาศให้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ เป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๐๒ โดยใช้ชื่อว่า ขาวดอกมะลิ ๑๐๕
“สาเหตุที่มีชื่อว่า ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ นั้น เพราะเจ้าหน้าที่เอารวงข้าวทั้ง ๑๙๙ รวมมาเพาะเป็นต้นข้าว จึงเอาแถวที่ ๑๐๕ มาเป็นแม่พันธุ์และกลายเป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ปลูกกันทั่วประเทศไทยเวลานี้ แต่ต้องเข้าใจว่าเดิมนั้น ชื่อของเขาไม่ได้หมายความว่าหอมเหมือนดอกมะลิ และมีกลิ่นหอมเหมือนใบเตย เพราะมีสารบางอย่างเป็นตัวเดียวกับสารในใบเตย ต่อมาเรียกเพี้ยนไปจึงกลายเป็นข้าวหอมมะลิ ข้าวพันธุ์นี้นิยมปลูกเป็นข้าวนาปี เพราะข้าวขาวดอกมะลิเป็นข้าวที่ไวต่อช่วงแสง” ดร.สงกรานต์อธิบาย
ข้าวที่ได้ต่อช่วงแสง หมายถึงข้าวที่จะออกดอกในวันที่กลางคืนยาวกล้ากลางวันเท่านั้น ซึ่งก็คือฤดูหนาว ข้าวที่ปลูกในฤดูนาปีส่วนใหญ่จะเป็นข้าวพันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสง ส่วนข้าวนาปรังเป็นข้าวพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ตลอดปีในเดือนใดก็ได้ เมื่อพันธุ์ข้าวเหล่านี้มีอายุครบกำหนด ก็จะออกดอกออกรวงให้เก็บเกี่ยวได้
“ข้าวที่ไวต่อช่วงแสดงจะออกดอกเมื่อใกล้หน้าฝนต่อหน้าหนาว เดือนตุลาก็เริ่มออกดอกแล้ว หน้านาวนั้นจะมืดเร็ว ช่วงแสงกลางวันจะน้อยกว่า ๑๒ ชั่วโมง เราถึงเรียกข้าวว่า เป็นพืชวันสั้น แต่พันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสงนั้น แม้แสงจะมากกว่าหรือน้อยกว่า ๑๒ ชั่วโมงในแต่ละวันก็ไม่มีผล ปลูกได้ทั้งปี”