กำเนิดอารยธรรมข้าว
ชุมชนชาวนาแห่งแรกของโลก
ในยุคแรกราว ๑๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว มนุษย์รู้จัดเพียงเก็บข้าวป่ามาบริโภคตามฤดูกาล ไม่มีการเพาะปลูก ต่อมาประชากรมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ข้าวป่าไม่อาจสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ
การเพาะปลูกข้าวนับเป็นครั้งแรกในการปฏิวัติชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษย์ นักโบราณคดีเรียกยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ว่า การปฏิวัติสมัยหินใหม่ (Neolithic Revolution) ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีที่ผ่านมามนุษย์เฝ้าสังเกต และเรียนรู้จากธรรมชาติ จนสามารถสะสมองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากสภาพนิเวศเกิดการปลูกข้าวแบบไร่เลื่อนลอยหรือข้าวไร่ เพื่อเก็บเกี่ยวข้าวไว้บริโภค วิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยนจากเดิมที่เคยเก็บของป่าล่าสัตว์ มาเป็นการผลิตอาหาร นักล่าในยุคแรกๆ เริ่มเปลี่ยนมาเป็นชาวไร่ (ข้าว) เมื่อ ๕,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ชุมชนเกิดการรวมกลุ่มตั้งถิ่นฐานที่ถาวร จึงอาจกล่าวได้ว่าชุมชนชาวนาเป็นหมู่บ้านแห่งแรกของโลก
ชุมชนยุคหินใหม่ที่เก่าแก่ตั้งอยู่ในตะวันออกกลางแถบประเทศตุรกี ซีเรีย อิสราเอล อีรัก อียิปต์และอิหร่าน โดยเฉพาะแหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมียของชาวสุเมเรียน ทางตะวันออกของแม่น้ำไทกรีส เมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล
ในเบื้องแรก มนุษย์ค้นพบวิธีปลูกข้าวแบบทำไร่เลื่อนลอย ดังปรากฏหลักฐานในวัฒนธรรมลุงชาน ประเทศจีน และวัฒนธรรมฮัวบิเนียน ประเทศเวียดนาม เมื่อประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมามนุษย์ค้นพบการทำนาหว่าน ดังปรากฎหลักฐานในวัฒนธรรมยางเชา บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลืองในวัฒนธรรมลุงชานในประเทศจีน และในวัฒนธรรมฮัวบิเนียน ประเทศเวียดนาม เมื่อ ๕,๐๐๐ ปี – ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ภูมิปัญญาด้านการปลูกข้าวพัฒนาสู่การปักดำ พบหลักฐานในวัฒนธรรมบ้านเชียงประเทศไทย เมื่อไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว