เกิดตำบลบางปรอก
“บางปรอก” เป็นชื่อของตำบลหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองปทุมธานีมีคลองบางปรอกเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงใต้วัดหงส์ปทุมาวาส ปลายคลองยาวลึกเข้าไปทางทิศตะวันตก ออกไปทางหนองกะลาและหนองอ้อ และปลายคลองวกไปทางทิศเหนือเชื่อมต่อกับคลองบางโพธิ์เหนือ ทะลุเข้าเขตอำเภอลาดหลุมแก้ว
คำว่า “บาง” หมายถึง ตำบลที่อยู่ริมน้ำ และคำว่า “ปรอก” แปลว่า ปลาร้า เพี้ยนมาจากภาษามอญที่เรียกปลาร้าว่า “ฮาล็อก” และมอญเรียกบ้าน หรือบางว่า “กวาน” ฉะนั้นคำว่า บางปรอก มอญจึงเรียกว่า “กวานฮาล็อก” หมายถึง หมู่บ้านที่ทำปลาร้า
ตำบลบางปรอกเป็นตำบลที่มีความสำคัญตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองปทุมธานี ประชาชนส่วนหนึ่งของตำบลบางปรอกเป็นกลุ่มชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี ในสมัยที่มอญอพยพมาตั้งรกรากที่ตำบลบางปรอก ถือได้ว่าเป็นตำบลที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะปลาชุกชุมมาก ชาวมอญในตำบลนี้ จึงเอาปลามาหมักทำเป็นปลาร้า ปลาแห้ง ปลาเค็ม เพื่อเก็บไว้กินนานๆ ฝีมือการทำปลาร้าของคนมอญที่นี่ยอดเยี่ยมมาก หอม มีรสอร่อยน่ารับประทานกว่าปลาร้าที่อื่น ทำสะอาด ใครอยากกินปลาร้าดี ต้องมาซื้อที่ตำบลบางปรอก
ปลาร้าที่ชาวบ้านบางปรอกทำ ล้วนเป็นมืออาชีพ แต่ก่อนคนในหมู่บ้านบางปรอกทำปลาร้าขายแทบทุกบ้าน จนมีชื่อเสียง มีทั้งปลาร้าปลาช่อน ปลาร้าปลาดุก ปลาร้าปลาหมอ มีทั้งปลาขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ให้เลือก มีกลิ่นหอมคลุ้ง ชาวบ้านทำปลาร้าขายจนร่ำรวยเป็นหลักฐาน จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นในหมู่บ้าน ให้ชื่อว่า “วัดหงษา” เพื่อรำลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนที่เมืองหงสาวดี ประเทศพม่า ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดหงส์ปทุมาวาส” จวบจนทุกวันนี้
ปัจจุบัน มีคนอาศัยในตำบลบางปรอกเป็นจำนวนมาก และหลายเชื้อชาติ กุ้ง ปลา ไม่ว่าตัวเล็กตัวใหญ่ถูกคนจับกินหมด ปลาร้า ปลาเค็ม ในตำบลนี้ที่คนมอญเป็นคนทำก็หากินได้ยาก ไม่เหลือคำล้อเลียนสาวมอญว่า “มอญช้อนกุ้ง กระบุงลอยน้ำ น้ำท่าไม่อาบ เหม็นสาบหอย” ให้ได้ยินอีกแล้ว คงเหลือแต่ชื่อที่เป็นอนุสรณ์ว่า “บางปรอก” หรือ “กวานฮาล็อก” เท่านั้น