ประเพณีงานบุญกลางบ้านบ้านโคกมอญ ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นประเพณีงานบุญที่เกิดขึ้นหลังเสร็จสิ้นจากการเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรชาวนา มักจัดขึ้นในราวเดือน ๓-๖
ปัจจุบันชาวบ้านโคกมอญได้นำมาผสมผสานกับประเพณีของไทยพวน ลาวและจีน จนกลายเป็นประเพณีที่รวมกิจกรรมของไทย ลาว และจีน ไว้ด้วยกัน
ขั้นตอนพิธี คือ ตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์ ๙ รูป หรือมากกว่านั้น โดยทำบุญที่โบสถ์เก่ากลางหมู่บ้าน หลังจากพระสงฆ์สวดจบหนึ่งบท ชาวบ้านจะร่วมกันสวดมนต์เย็น ในชุมชนบางแห่งจะมีการตีฆ้องสามครั้ง หลังสวดมนต์เสร็จมีการละเล่นจำพวก หมอลำ ลิเก รำวง ฯลฯ เช้าวันรุ่งขึ้นจะนิมนต์พระสงฆ์มาฉันเช้า มีการเผาข้าวหลามถวายพระสงฆ์ และมีการทำกระทงใบตอง ใส่ในถาดกาบกล้วยที่ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วใช้กาบกล้วยตัดเป็นรูปคน หรือดินเหนียวปั้นเป็นรูปคน สัตว์เลี้ยง ใส่ไว้ในกระทง อาจมีการใส่อาหาร เช่น พริกแห้ง หัวหอม เกลือ ข้าวดำ ข้าวสาร จุดธูปปักลงในกระทง ใส่สตางค์ไปด้วย จากนั้นนำถาดดังกล่าวไปวางทางทิศตะวันตก เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จก็จะนำน้ำมารูปละ ๑ แก้ว ยืนเป็นวงกลม แล้วกรวดน้ำราดลงไปในกระทง เสร็จแล้วนำถาดไปวางไว้ที่ทางสามแพร่งหรือที่โคก หลังเสร็จพิธีชาวบ้านจะนั่งรับประทานอาหารร่วมกัน