ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 6° 27' 9.6358"
6.4526766
ลองจิจูด (แวง) : E 101° 6' 18.7726"
101.1052146
เลขที่ : 176964
ชุดบานง
เสนอโดย ยะลา วันที่ 23 มกราคม 2556
อนุมัติโดย ยะลา วันที่ 23 มกราคม 2556
จังหวัด : ยะลา
0 1338
รายละเอียด

ชุดบานงภาษามลายูกลาง เรียกว่า บันดง ซึ่งเป็นชื่อเมืองทางตะวันตกของเกาะชวา เป็นเสื้อที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซีย เสื้อบานงมักตัดด้วยผ้าเนื้อค่อนข้างบางความยาวเสื้อระดับสะโพกถึงเข่า อาจปักฉลุลวดลายตรงชายเสื้ออย่างสวยงามเป็นเสื้อคอวี ผ่าหน้าและพับริมปกเกยซ้อนไว้ตลอด กลัดด้วยเข็มกลัดสวยๆ ๓ ตัว ชายเสื้อด้านหน้าแหลม แขนเสื้อยาวรัดรูปจรดข้อมือ เสื้อบานงใช้นุ่งกับผ้าถุงธรรมดาหรือกระโปรงยาวระดับข้อเท้า หรือผ้ายกหรือผ้าพันที่ท้องถิ่นนี้เรียกว่า "กาเฮงบือเละ" ผ้าพันเป็นผ้าลวดลายปาเต๊ะยาวประมาณ ๓ เมตร ไม่เย็บเป็นถุง วิธีนุ่งผ้าพันนั้นไม่ง่ายนัก ต้องมีเทคนิคเฉพาะเพื่อให้ก้าวขา เดินได้สะดวก หรือผ้าถุงสำเร็จ มีวัสดุเกาะเกี่ยว เช่น กระดุม ตะขอ ซิป ตัดเย็บด้วยผ้าชนิดต่างๆ เป็นผ้าพื้นหรือลาย ตกแต่งด้วยวัสดุอื่น เช่น ลายปัก ลูกไม้

ประวัติความเป็นมา/ความสำคัญ

คำว่า "บานง" มาจากภาษามลายูกลางว่า บันดง (Banduang) หมายถึง เมืองทางตะวันตกของเกาะชวา"ชุดบานง" เป็นเสื้อชุดที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินโดนีเซีย ประกอบด้วย เสื้อที่มีลักษณะเป็นเสื้อเข้ารูปพอดีตัว คอวี ผ่าหน้าตลอดตัว สาบเสื้อตลบออกด้านนอกตั้งแต่คอเสื้อจนถึงชายเสื้อ ส่วนของชายเสื้อด้านหน้ามีลักษณะปลายแหลมยาวลงมา แขนเสื้อยาวรัดรูปจรดถึงข้อมือความยาวเสื้อยาวถึงระดับสะโพกหรือถึงระดับเข่า ส่วนของผ้าโสร่งหรือกระโปรงเป็นผ้าถุงธรรมดา ผ้าถุงสำเร็จ ผ้าทอยกดอกหรือผ้าพัน ยาวถึงข้อเท้า เสื้อบานง เป็นเสื้อที่ดัดแปลงมาจาก "เสื้อกูรง" มี ๒ลักษณะ คือ" เสื้อบานงมาตรฐาน" และ"เสื้อบานงแมแด" "เสื้อบานงมาตรฐาน" มีลักษณะเป็นเสื้อคอปีน ผ่าหน้าและพับริมปกเกยซ้อนไว้ตลอด มีสาบพับยาวตลอดชายถึงเสื้อ มักตัดด้วยเนื้อผ้าค่อนข้างบาง อาจปักฉลุลวดลายตรงชายเสื้ออย่างสวยงาม ใช้กระดุมลักษณะเป็นเข็มกลัดทำด้วยทองคำประดับด้วยเพชรพลอย จำนวน ๓ เม็ด เพื่อเป็นการแสดงถึงฐานะและเพิ่มความสวยงามยิ่งขึ้น แขนเสื้อยาวถึงข้อมือแต่ไม่กว้างมากนัก นิยมใช้กับกระโปรงป้ายหรือกระโปรงจีบหน้านาง ส่วน"เสื้อบานงแมแด"คำว่า "บานงแมแด" ภาษามลายูกลาง เรียกว่า "บันนงเมดา" เป็นชื่อเมืองทางเหนือของเกาะ สุมาตราเป็นเสื้อที่ได้รับอิทธิพลจากอินโดนีเซีย ผ้าที่ใช้ตัดเสื้อนิยมตัดด้วยผ้าลูกไม้ ผ้ากำมะหยี่ ผ้าต่วนและผ้าชีฟอง "เสื้อบานงแมแด" อาจจะนุ่งกับผ้าถุงธรรมดา ผ้าถุงสำเร็จ ผ้าพัน หรือกระโปรงยาว ปลายบานก็ได้ มีลักษณะเป็นเสื้อคอสามเหลี่ยมหรือคอวีกว้างปิดทับด้วยลิ้นสามเหลี่ยม แขนยาวแคบ ความยาวเสื้อคลุมสะโพกล่างสวมเข้าชุดกับกระโปรงยาวจีบหน้านาง และคลุมทับด้วยผ้าคลุมศีรษะที่ใช้ผ้าชนิดเดียวกันหรือใช้ผ้าคลุมชนิดปักตกแต่งก็ได้ การแต่งกายของหญิงไทยมุสลิมด้วย "ชุดบานง" ดังที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้เป็นอย่างดี ควรแก่การอนุรักษ์สืบไป

เอกลักษณ์ต้องมีลักษณะเฉพาะของชุดบานง ดังนี้

1. เสื้อ เป็นเสื้อเข้ารูปคอวี ผ่าหน้าตลอดตัว สาบเสื้อตลบออกด้านนอกตั้งแต่คอเสื้อถึงชายเสื้อ แขนยาว ความยาวเสื้อระดับสะโพกถึงเข่า

2. ผ้าถุงหรือกระโปรง เป็นผ้าถุงธรรมดา ผ้าถุงสำเร็จ หรือกระโปรงยาวระดับข้อเท้า อาจตัดเย็บด้วยผ้าชนิดเดียวกับตัวเสื้อ

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของสตรีมุสลิมชายแดนใต้ ในยุคปัจจุบันได้มีการประยุกต์ใช้ โดยยึดแบบพื้นเมือง และมีการผสมผสานประยุกต์กับแบบแบบสมัยใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อให้เข้ากับสภาพสังคมในปัจจุบันแต่การแต่งกายยังคงมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เปลี่ยนแปลงในยามที่เหตุการณ์บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ ประชาชนต่างดำรงชีวิตด้วยความตื่นตระหนกมีชีวิตอยู่อย่างระมัดระวัง แต่ละคนต่างต้องหาวิธีป้องกันหรือดูแลตัวเองเพื่อให้มีชีวิตรอด ชุมชนยังมีความหวาดระแวงต่อกัน แต่ชีวิตต้องดำเนินไปข้างหน้า การรู้จักแก้ปัญหา รู้จักเอาตัวรอด จึงจะทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปในสังคมแห่งนี้ได้ ประชาชนบางกลุ่มที่มีความกดดันและรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะละทิ้งถิ่นฐานไปอยู่ที่จังหวัดแถบอื่นๆ ของประเทศไทย ส่วนประชาชนที่ยังยึดมั่นยังมีความรักและความผูกพันต่อผืนดินเกิดแห่งนี้ ยังคงยืนหยัดที่จะอยู่ต่อไปเพื่อรักษาบ้านเกิด โดยร่วมกันจรรโลงประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่ ดังนั้นความภาคภูมิใจในการแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองที่เรียกว่า"บานง" และ "กูรง" จึงกอปรด้วยความงาม ที่แฝงด้วยศิลปวัฒนธรรมและความรับผิดชอบที่จะให้ชุมชนและสังคมแห่งนี้ยังคงดำรงสืบทอดวัฒนธรรม และประเพณีอันสวยงามที่เป็นเสน่ห์ของชายแดนใต้ตลอดไป
ผู้ให้ข้อมูล


นางยูวะเฮ ดอโบ๊ะ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าและมีความสามารถในการตัดเย็บชุดบานง เกิดเมื่อปี ๒๕๑๕ อยู่บ้านเลขที่ ๑๒๕/๒ ตำบลบาโร๊ะ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ปัจจุบันอายุ ๔๐ ปี นับถือศาสนาอิสลาม

สถานที่ตั้ง
เลขที่ 125/2 หมู่ที่/หมู่บ้าน 1 บ้านบาโร๊ะ
ตำบล บาโร๊ะ อำเภอ ยะหา จังหวัด ยะลา
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
นางยูวะเฮ ดอโบ๊ะ
บุคคลอ้างอิง นางสาวกนกวรรณ พรหมทัศน์ อีเมล์ k-yala@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา อีเมล์ yala@m-culture.go.th
เลขที่ 37 ถนน สุขยางค์
ตำบล สะเตง อำเภอ เมืองยะลา จังหวัด ยะลา รหัสไปรษณีย์ 95000
โทรศัพท์ 073203511,073213916 โทรสาร 073203511,073213916
เว็บไซต์ ้http://povince.m-culture.go.th/yala
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่