รำโทน เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย นิยมเล่นกันแพร่หลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๘ นิยมเล่นกันทั้งในพระนครธนบุรี และในชนบท และได้รับความนิยมสูงสุดในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ท่านมีความประสงค์ที่จะเชิดชูการรำโทนให้เป็นศิลปะประจำชาติ จึงได้ส่งเสริมการเล่นรำโทนเป็นวัฒนธรรมประจำชาติอย่างหนึ่ง ไม่มีใครบอกได้รู้แน่ชัดว่า รำโทนเกิดขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้ริเริ่ม หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ความนิยมการเล่นรำโทนก็ลดน้อยลง ส่วนหนึ่งได้พัฒนาไปเป็นการละเล่น รำวง และรำวงมาตรฐาน
การเล่นรำโทนคล้ายกับรำวงในสมัยปัจจุบัน แต่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เรียกว่า รำโทน เพราะใช้กลองโทนเป็นเครื่องดนตรีหลักในการให้จังหวะ ผู้เล่นชาย หญิง ก็จะชวนกันรำเป็นคู่ๆ ไปตามจังหวะเพลง ช่วยกันร้องช่วยกันรำเป็นวง คนที่ไม่ได้เล่นก็จะช่วยกันปรบมือให้จังหวะ เพลงๆ หนึ่งจะร้องซ้ำ ๒-๓ เที่ยว ก็จะเปลี่ยนเพลงต่อไป การรำไม่มีท่ารำแน่นอนตายตัวมักจะใส่ท่ารำตามเนื้อร้อง ผู้เล่นแต่งกายสวยงามตามสมัย ตามสบาย ตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น โอกาสในการเล่นรำโทน ไม่มีโอกาสทีแน่นอน นึกอยากจะเล่นเมื่อใดก็ชวนกันออกมาเล่นที่ลานบ้านคนในคนหนึ่ง จะเล่นกันตอนกลางคืนเท่านั้น และมักจะเริ่มเล่นกันตอนช่วงหัวค่ำเป็นต้นไป
เพลงรำโทน ใช้วิธีจดจำสืบทอดกันมา ไม่นิยมดัดแปลงเนื้อเรื่องท่ารำ คือรำมาอย่างไรก็ร้องและรำไปอย่างนั้น บางครั้งถ่ายทอดมาได้เฉพาะเนื้อเพลง ผู้รำอาจคิดท่ารำประกอบตามความหมายของเนื้อเพลง การถ่ายทอด อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งเนื้อร้องและท่ารำ แม้จะเป็นเพลงเดียวกัน หากคณะผู้เล่นอยู่ต่างท้องถิ่น ท่ารำและเนื้อเพลงก็อาจผิดแผกแตกต่างกันไปได้ แต่บางเพลงก็ยังเหมือนกันทุกประการ
รำโทน เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวไทยทรงดำในหมู่บ้านตลาดควาย ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งรับเอาการรำโทนมาเป็นการละเล่นพื้นบ้านมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่นำการเล่นรำโทนเข้ามาเผยแพรให้ชาวบ้านตลาดควายได้เล่นกัน คือ ร.อ.โทน คำพร้อม ซึ่งเป็นทหารผ่านศึกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเป็นลูกหลานไทยทรงดำในหมู่บ้านตลาดควาย และผู้ที่ช่วยฝึกการร้องรำอีกท่านหนึ่ง คือ นายบุญธรรม คุ้มฮะ รำโทนจึงเป็นการแสดงพื้นบ้านของหมู่บ้านตลาดควายนับตั้งแต่นั้นมา และได้สืบทอดต่อกันมาถึงรุ่นลูก หลาน เหลน มาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นกลุ่มไทยทรงดำกลุ่มเดียวที่เล่นรำโทน เป็นการแสดงพื้นบ้าน ทดแทนการ "อิ้นกอนฟ้อนแคน"
วิธีการเล่นจะมีเฉพาะฝ่ายหญิงเป็นสาวชาวไทยโซ่ง การที่มีเฉพาะฝ่ายหญิงชุมชนไทยโซ่งมีจุดประสงค์จะเปิดโอกาสให้ชายหนุ่มจากชุมชนอื่นเข้ามาในหมู่บ้านและร่วมเล่นกับสาว ๆ ลักษณะการเล่นนั้นสาวชาวไทยโซ่งจะเริ่มเข้าแถวเรียงลำดับอย่างสวยงาม ฟังเสียงโทนกำกับจังหวะและเสียงเพลงเริ่มแรกของการเล่น คือ เพลงชักชวนสาวงาม สาวๆ ชาวไทยโซ่งจะเริ่มเล่นตามจังหวะพร้อมกันฟังเสียงร้องออกมาตั้งแถวเป็นวงกลม จะเดินรำตามวง และเพลงที่ต่อจากเพลงชักชวนสาวงาม คือเพลงไหว้ครูรำโทนจากนั้นจะเป็นเพลงอะไรก็ได้ที่ได้มีการร้อง และประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ผู้เล่นหรือผู้รำจะมีการรำใช้ท่ารำวงทั่วไปเดินรำไปตามจังหวะ และบางเพลงจะใช้ท่ารำที่แสดงความหมายตามคำร้อง เช่น เพลงตาแก่อยากมีเมียสาว เป็นต้น สมัยก่อนจะมีชายหนุ่มมาโค้งสาวขณะรำ และจะร่วมรำคู่กับสาวผู้นั้น มีหยอกล้อด้วยท่ารำขณะรำด้วย ปัจจุบันไม่ได้ใช้แสดงรำโทนมาร้องเล่นกันหมู่บ้านเหมือนดังสมัยก่อน แต่การแสดงรำโทนจะเป็นการสาธิตเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อสืบทอดให้มีรำโทนที่เคยใช้เล่นมาก่อนนั้นได้มีโอกาสสืบทอดอย่างต่อเนื่อง