ชื่อมวยทะเล
ประวัติความเป็นมามวยทะเลเป็นกีฬาพื้นบ้านที่นิยมเล่นอย่างแพร่หลายของภาคใต้ โดยดัดแปลงมาจากการชกมวยไทย นำมาเล่นกันในทะเลแล้วชกต่อยกันให้ฝ่ายใดตกทะเล จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า “มวยทะเล” ชาวบ้านภาคใต้นิยมเล่นในโอกาสต่างๆ เช่น งานบุญหรืองานรื่นเริงในหมู่บ้าน เพื่อความสนุกสนาน มวยทะเลเป็นกีฬาพื้นบ้านที่เด็กหรือผู้ใหญ่ให้ความสนใจ เพราะสนุกกับการคอยลุ้นว่าผู้เล่นคนใดจะเป็นฝ่ายตกทะเล ปัจจุบันการเล่นมวยทะเลยังคงมีอยู่ และนิยมเล่นเพื่อความสนุกสนานมากกว่าการเล่นเพื่อแข่งขัน
โอกาสที่เล่นเล่นในช่วงงานบุญและงานรื่นเริงในหมู่บ้าน
ผู้เล่นนิยมเล่นกันในหมู่ผู้ชาย ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก จำนวนผู้เล่น ๒ คนขึ้นไป
อุปกรณ์ที่เล่น๑.นวม ๑ คู่ ในสมัยก่อนจะใช้ผ้าพันมือแทนการใช้นวม ๒.ไม้หมากหรือเสากลม ๑ ต้น ขนาดขนาดพอเหมาะไม่เล็กและใหญ่จนเกินไป สำหรับใช้เป็นเสาไม้พาด ๓.ไม้หมากหรือเสากลม จำนวน ๔ ต้น ขนาดเท่ากับไม้พาดแต่สั้นกว่าไม้พาด สำหรับเป็นขารองรับไม้พาด
สถานที่เล่นมวยทะเลนิยมเล่นกันในน้ำ หรือในน้ำทะเลตื้นๆ โดยปักเสา ๒ ต้นไขว้กันเป็นขาสำหรับรองไม้พาด จำนวน ๒ ขา โดยให้ขาทั้งสองอยู่ห่างกันพอสมควร แล้วนำเสาไม้พาดหรือไม้หมากมาวางพาดระหว่างเสาไขว้ที่เป็นขาตั้งทั้ง ๒ ข้าง และให้เสาไม้สูงจากพื้นดินประมาณ ๑-๒ เมตร แล้วใช้น้ำมันพืชทาเสาไม้พาดให้ลื่น ติดสัญลักษณ์ไว้กึ่งกลางเสา
วิธีเล่น๑.เล่นครั้งละ ๒ คน โดยให้ผู้เล่นทั้ง ๒ คน สวมนวมที่มือทั้งสองข้าง แล้วปีนขึ้นไปนั่งคร่อมในลักษณะขี่ม้าบนเสาไม้พาด ให้อยู่ห่างจากจุดกลางไม้พาดคนละ ๑ เมตร หันหน้าเข้าหากัน
๒.เมื่อทั้งสองคนพร้อมแล้ว กรรมการจะให้สัญญาณเริ่มเล่น ผู้เล่นทั้งสองคนจะเขยิบตัวเข้าหากัน แล้วก็ชกต่อยเช่นเดียวกันกับมวยทั่วๆไป เพื่อให้อีกฝ่ายตกจากเสาไม้พาด
๓.ผู้เล่นคนใดสามารถชกให้อีกฝ่ายตกจากเสาไม้พาดได้ถือว่าเป็นผู้ชนะ
กติกา๑.การชกต้องกำหมัด ห้ามตบหรือผลักดัน
๒.ผู้เล่นคนใดเสียการทรงตัวไม่สามารถนั่งคร่อมอยู่บนเสาไม้ได้ ปล่อยร่างกายให้ผลิกอยู่ใต้เสาไม้ แต่สามารถเกี่ยวเสาไม้ได้ไม่ตกสู่พื้นน้ำ จะไม่ถือว่าตกจากเสาพาด อนุญาตให้เล่นต่อได้
๓.ถ้ามือหรือท้าของผู้เล่นคนใดถูกพื้นดินหรือพื้นน้ำใต้เสาจะถือว่าตกจากเสาไม้ ถือว่าแพ้