การทำยาสูบตากแห้งของชาวบ้านอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านที่จะแปรรูปผลผลิตใบยาสูบสดที่เก็บเกี่ยวได้มาเป็นยาสูบแห้ง เพื่อเก็บรักษา ใบยาสูบไว้ให้นานเพื่อใช้มวนเป็นบุหรี่สูบในยามที่ว่างจากการทำงานและเพื่อขับไล่แมลง
ขั้นตอนการทำยาสูบตากแห้งหลังจากเก็บเกี่ยวใบยาสูบที่มีอายุ ๖๐ วันแล้วนำมาบ่ม การบ่มใบยาเพื่อให้ใบยาสูบสุกสม่ำเสมอกันทั้งใบ โดยจะบ่มไว้ในกระสอบป่าน ทำการพลิกใบยาสูบทุกวันเพื่อตรวจสอบว่า ใบยาสุกหรือยัง สังเกตุจากใบยามีสีเหลืองทั่วใบ โดยทั่วไปจะใช้เวลาในการบ่มประมาณ ๒- ๓ วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หลังจากบ่มใบยาเสร็จแล้วนำใบยาสูบมาจัดเรียงให้เป็นตับเพื่อเตรียมการซอยยา การซอยยาในสมัยก่อนจะใช้เครื่องซอยที่ใช้แรงคนเป็นผู้ซอย (ม้า) เครื่องซอยยามีลักษณะคล้ายกับใบมีดยาวรองด้วยเขียงไม้รูปเหลี่ยมผืนผ้า ในปัจจุบันใช้เครื่องซอยยาใช้แรงหมุนใบมีดจากมอเตอร์แทนแรงคนทำให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น การซอยยาจะทำกันในเวลาเช้ามืด หลังจากซอยยาเสร็จแล้วจะนำยาไปตากแดด โดยจะมีแตะที่สานจากไม้ไผ่เหลาขนาดกว้างประมาณ ๘๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๒ เมตร นำยาซอยไปตากบนแตะให้เป็นกองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ ๓๐Í๕๐ เซนติเมตร ในหนึ่งแตะจะตากยาได้ประมาณ ๖ –๗ กอง ตากยาไว้ประมาณ ๔ –๕ วัน จนกว่ายาจะแห้ง โดยจะกลับยาทุกวันในตอนเช้า จนยาแห้งแล้วจึงพับยาที่แห้งเก็บเป็นพับขนาดเท่าฝ่ามือและเก็บในถุงพลาสติก เพื่อเตรียมไว้จำหน่ายต่อไป ราคาจำหน่าย กิโลกรัมละ ๒๘๐ –๓๐๐ บาท