เตารีดถ่านโบราณ เตารีด มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยโบราณว่า “อุดเตา” และใช้สำหรับรีดผ้าในสมัยก่อนประมาณ ๕๐ ปีมาแล้ว ทำด้วยเหล็กและทองเหลืองจะมีน้ำหนักมากกว่าปัจจุบัน ๒-๓ เท่า โดยคนสมัยก่อนใช้ถ่านเผาจนแดงแล้วคีบลงในตัวเตารีด เวลาใช้งานต้องคอยยกไปนาบกับใบตองสด เป็นการหล่อลื่นผิวหน้าของเตารีด เพื่อไม่ทำให้เตารีดร้อนเกินไป เตารีดถ่านโบราณ ขนาดหน้าเตา 7 นิ้ว เป็นทองเหลืองทั้งตัว สภาพผิวกลับดำ บ่งบอกอายุที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน มีรูระบายอากาศ 8 รู มีลักษณะพิเศษ คือ “ตัวไก่” ที่ล็อคฝาเตา รูปทรงสูง หล่อลายเส้นคมชัดตลอดตัวไก่ รู้สึกได้ถึงความงดงามแบบงานศิลป์โบราณ , "หูเตารีด" เป็นทองเหลืองรูปทรงอ่อนช้อย , “มือจับ” เป็นไม้เก่าสภาพผิวแห้งขึ้นเป็นมัน ,“ที่รองถ่าน” อยู่ในตัวเตารีด สภาพเก่าแต่ยังสมบูรณ์ดี , คงขาดเพียง “ที่รองเตา” ที่สูญหายไปตามกาลเวลา เตารีดใช้ถ่าน จะทำด้วยทองเหลืองหล่อ ฝาด้านบนมีบานพับด้านท้ายเตา(เปิดฝาบนหงายขึ้น) ด้านปลาย มีสลักงอๆ ที่ใช้แรงโน้มถ่วงเป็นตัวทำให้ล็อก จะเปิดได้โดยหาฉนวนความร้อนเขี่ยเบาๆก็จะเปิดออกได้โดยง่าย ในการใช้งานนานๆ อาจจะต้องเติมถ่าน หรือ เขี่ยถ่านให้ขี้เถ้าล่วงลงไป จะต้องเปิดฝาเพื่อการดังกล่าว ในเตาที่ด้านล่างจะมีตะแกรง เหล็กหล่อสูงราว 1ซมจากพื้นและขอบล่างจะมีรูเล็กๆให้อากาศเข้ามาช่วยการเผาไหม้แบบข้าๆ การใช้งานจะติดถ่านจากเตาถ่านธรรมดาก่อน เมื่อเริ่มติดดีแล้วก็จะคีบมาใส่เตา กลบด้วยขี้เถ้าพอประมาณ เพื่อไม่ให้ร้อนเกินไป (เหมือนการปิ้งกล้วย) มิฉะนั้นผ้าอาจไหม้ได้โดยง่าย ต้องใช้ความชำนาญในการใช้พอสมควรว่าจะคุมความร้อนเย็นของเตาให้เหมาะสมกับชนิดของผ้าที่จะทำการรีด ปรับโดยเติมขี้เถ้าหรือเขี่ยออกให้ถ่านร้อนขึ้น (อากาศเพิ่มมากขึ้น) |