ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 51' 43.9999"
13.8622222
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 30' 47.9999"
100.5133333
เลขที่ : 188580
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า
เสนอโดย saksith วันที่ 27 เมษายน 2556
อนุมัติโดย นนทบุรี วันที่ 16 มิถุนายน 2564
จังหวัด : นนทบุรี
0 359
รายละเอียด

พระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์(21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 - 2 เมษายน พ.ศ. 2394)พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระองค์แรกที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียมเสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันจันทร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม เวลาค่ำ 10.30 นาฬิกา (สี่ทุ่มครึ่ง) ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ซึ่งภายหลังพระราชชนนีได้รับการสถาปนาเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย พระองค์เสวยราชสมบัติเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 9 ขึ้น 7 ค่ำ ปีวอก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 รวมสิริดำรงราชสมบัติได้ 27 ปีทรงมีเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม 5 พระองค์ มีพระราชโอรส-ราชธิดา ทั้งสิ้น 51 พระองค์ เสด็จสวรรคต เมื่อวันพุธ เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีกุน โทศก จุลศักราช 1212 เวลา 7 ทุ่ม 5 บาท ตรงกับวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 รวมพระชนมพรรษา 64 พรรษา

แรกเริ่มแต่ประสูติ ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น หม่อมเจ้าชายทับ จนกระทั่งพระราชชนกได้อุปราชาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หม่อมเจ้าชายทับจึงได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นโท ออกพระนามว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับเมื่อพระบวรราชชนก กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็น รัชกาลที่ 2 ใน พ.ศ. 2352 พระองค์เจ้าชายทับ จึงได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ จนปี พ.ศ. 2356 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จเถลิงถวัลย์ครองราชสมบัติแล้ว ทรงออกพระนามเต็ม ตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไสย สมุทัยดโรมน สากลจักรวาลาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาธิบดี ศรีสุวิบูลย คุณอถพิษฐ ฤทธิราเมศวร ธรรมิกราชาธิราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิ มงกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว"

นับเป็น "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6"ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่ เป็น "พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐ มหาเจษฎาบดินทร์ สยามินทรวิโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" ออกพระนามโดยย่อว่า "พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว"ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีประกาศให้เฉลิมพระปรมาภิไธย เป็น "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" หรือ "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3"ในปี พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ถวายพระราชสมัญญาว่า "พระมหาเจษฎาราชเจ้า" และได้ใช้เป็นสร้อยพระนามสืบมาจนปัจจุบัน

พระราชประวัติเมื่อครั้งที่ทรงกำกับราชการกรมท่า (ในสมัยรัชกาลที่ 2) ได้ทรงแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายในต่างประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นในท้องพระคลังเป็นอันมาก พระราชบิดาทรงเรียกพระองค์ว่า "เจ้าสัว" เมื่อรัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต มิได้ตรัสมอบราชสมบัติแก่ผู้ใด ขุนนางและพระราชวงศ์ต่างมีความเห็นว่าพระองค์ (ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์) ขณะนั้นมีพระชนมายุ 37 พรรษา ทรงรอบรู้กิจการบ้านเมืองดี ทรงปราดเปรื่องในทางกฎหมาย การค้าและการปกครอง จึงพร้อมใจกันอัญเชิญครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3

การคมนาคมในรัชสมัยของพระองค์ใช้ทางน้ำเป็นสำคัญ ทั้งในการสงครามและการค้าขาย คลองจึงมีความสำคัญมากในการย่นระยะทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง จึงโปรดฯให้มีการขุดคลองขึ้น เช่น คลองบางขุนเทียน คลองบางขนาก และ คลองหมาหอน

การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาพระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก และได้ทรงสร้างพระพุทธรูปมากมายเช่น พระประธานในอุโบสถวัดสุทัศน์ วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดปรินายกและวัดนางนอง ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้น 3 วัด คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเทพธิดารามและวัดราชนัดดาราม ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ วัดเก่าอีก 35 วัด เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งสร้างมาแต่รัชกาลที่ 1 วัดอรุณราชวราราม วัดราชโอรสาราม เป็นต้น

การศึกษาทรงทำนุบำรุง และ สนับสนุนการศึกษา โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิท แต่งตำราเรียนภาษาไทยขึ้นเล่มหนึ่งคือ หนังสือจินดามณี โปรดเกล้าฯ ให้ผู้รู้นำตำราต่างๆ มาจารึกลงในศิลาตามศาลารอบพุทธาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ปั้นตึ้งไว้ตามเขามอและเขียนไว้ตามฝาผนังต่างๆ มีทั้งอักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ พุทธศาสตร์ โบราณคดี ฯลฯ เพื่อเป็นการเผยแพร่วิชาการสาขาต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของกรุงสยาม

การติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านติดต่อกับพม่า ในรัชกาลที่ 3 นี้ อังกฤษติดต่อกับไทยเพื่อขอความช่วยเหลือ ในการยกทัพไปพม่า รัชกาลที่ 3 โปรดให้พระยารัตนจักร คุมกองมอญไปล่วงหน้า และโปรดให้เจ้าพระยามหาโยธา ( ทอเรีย หรือ ทองชื่น คชเสนี บุตรของพระยาเจ่ง ชาวไทยรามัญ ตั้งบ้านเรือนที่ปากเกร็ด ) คุมกองทัพมอญออกไปทางด่านพระเจดีย์ 3 องค์ พระยาชุมพรคุมกองเรือชุมพรไชยา ยกไปทางเรือเพื่อตีเมืองมะริด และเมืองทวาย พระยามหาอํามาตย์กับพระยาวิชิตณรงค์ขึ้นไปเกณฑ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ ยกทัพออกทางด่านแม่ละเมาการติดต่อกับญวน ในรัชกาลที่ 3 ญวนสนับสนุนให้เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เป็นกบฎต่อไทย เท่ากับแสดงตนเป็นอริกับไทย ไทยจึงคิดปราบปรามญวนให้หายกําเริบเสียบ้าง จึงโปรดให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ( สิงห์ สิงหเสนีย์ ) เป็นแม่ทัพบก ยกไปไล่ญวนในประเทศเขมร จนจดไซ่ง่อน และให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพเรือ ตีหัวเมืองเขมรและญวนแถบชายทะเล ทําสงครามอยู่นานในที่สุดได้เลิกสงครามกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้นักองค์อิน เป็นเจ้าเมืองพระตะบอง และให้นักองค์ด้วงไปครองเมืองมงคลบุรี

ด้านความเป็นอยู่พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ดูแลทุกข์สุขของราษฎร ด้วยมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ไม่ทรงสามารถจะบำบัดทุกข์ให้ราษฎรได้ หากไม่เสด็จออกนอกพระราชวัง เพราะราษฎรจะร้องถวายฏกาได้ต่อเมื่อพระคลังเวลาเสด็จออกนอกพระราชวังเท่านั้น จึงโปรดให้นำกลองวินิจฉัยเภรีออกตั้ง ณ ทิมดาบกรมวัง ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อราษฎรผู้มีทุกข์จะได้ตีกลองร้องถวายฎีกาไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อให้มีการชำระความกันต่อไป โดยพระองค์จะคอยซักถามอยู่เนื่องๆ ทำให้ตุลาการ ผู้ทำการพิพากษาไม่อาจพลิกแพลงคดีเป็นอื่นได้ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีศาสนาจารย์และนายแพทย์ชาวอเมริกันและอังกฤษเดินทางเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในจำนวนนี้คือศาสนาจารย์ แดน บีช บรัดเลย์ เอ็ม.ดี. หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนามของ หมอบรัดเลย์ ได้เป็นผู้ริเริ่มให้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ และการฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคและการทำผ่าตัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้หมอบรัดเลย์ยังได้คิดตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้น (ปี พ.ศ. 2379) ทำให้มีการพิมพ์หนังสือภาษาไทยเป็นครั้งแรกโดยพิมพ์คำสอนศาสนาคริสต์เป็นภาษาไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2379 ต่อมาปี พ.ศ. 2385 หมอบรัดเลย์พิมพ์ปฏิทินภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในด้านการหนังสือพิมพ์ฉบับแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 หมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์แถลงข่าวรายปักษ์เป็นภาษาไทย ชื่อ บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) มีเรื่องสารคดี ข่าวราชการ ข่าวการค้า ข่าวเบ็ดเตล็ด ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387หนังสือบทกลอนเล่มแรกที่พิมพ์ขายและผู้เขียนได้รับค่าลิขสิทธิ์คือ นิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิสรางกูร) โดย หมอบรัดเลย์ ซื้อกรรมสิทธิ์ไปพิมพ์ในราคา 400 บาท เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2404 และตีพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404

พ.ศ. 2372 กำเนิดสงฆ์ธรรมยุติกนิกายโปรดเกล้าให้ทำการสังคายนาเป็นภาษาไทยทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่ง และสร้างวัดใหม่ คือวัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดา วัดเฉลิมพระเกียรติ และวัดพระเชตุพนฯลฯได้ตั้งโรงเรียนหลวง (วัดพระเชตุพน) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสอนหนังสือไทยแก่เด็กในสมัยนี้ และได้ถือกำเนิดนิกายธรรมยุติขึ้น โดยพระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ) ขณะที่ผนวชอยู่ได้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญ ชื่อ ซาย ฉายา พุทฺธวํโส จึงได้ทรงอุปสมบทใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2372 ได้ตั้งคณะธรรมยุติขึ้นในปี พ.ศ. 2376 แล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร และตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุติ

วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า

คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 31 มีนาคมของทุกปีเป็น วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า หรือ วันเจษฎาบดินทร์ เป็นวันสำคัญของชาติ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และเห็นชอบให้ให้ถวายพระราชสมัญญาว่า “พระมหาเจษฎาราชเจ้า ” แปลว่า “ พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่"

สถานที่ตั้ง
ตำบล บางกระสอ อำเภอ เมืองนนทบุรี จังหวัด นนทบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด นนทบุรี
บุคคลอ้างอิง ศักดิ์สิทธิ์ วงศ์ตรง อีเมล์ saksith.st.johnpoly.it@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน เครือข่ายทางวัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่