มหาอุด คือวิชาไสยศาสตร์ไทยโบราณ ที่เชื่อกันว่าสามารถป้องกันภยันตรายจากอาวุธของมีคมได้
วิชามหาอุดมีทั้งที่เป็นคาถาสำหรับบริกรรมภาวนา เรียกว่าคาถามหาอุด [อะนิทัสสะนะอัปปะฏิฆา] หรือทำเป็นเครื่องรางของขลังพกติดตัวจำพวก ตะกรุด ผ้าประเจียด หรือพระเครื่องจะช่วยให้ผู้เป็นเจ้าของนั้นอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดพลาดเป้าหมายจากอาวุธมีคมซึ่งเครื่องรางของขลังเหล่านั้นจำเป็นต้องทำพิธีปลุกเสกด้วยวิชา 'มหาอุด' ภายในโบสถ์หรือวิหารที่มีผนังทึบตันรอบด้าน มีช่องทางเข้าออกเฉพาะประตูด้านหน้าแห่งเดียวเพื่อประโยชน์ในการทำพิธีที่เชื่อว่าจะทำให้ขลังยิ่งขึ้น
ชายไทยในสมัยโบราณที่ยังติดพันภาระทางทหารในการรักษาบ้านเมือง มักจะมีเครื่องรางของขลังติดไว้ประจำกาย เพื่อช่วยในเรื่องจิตใจให้เกิดความกล้าแกร่ง รวมถึงขุนโจรชื่อดัง นักเลงและบุคคลทั่วไปที่มีความเชื่อและศรัทธาในวิชามหาอุด จะเสาะแสวงหาเครื่องรางของขลังมาไว้บูชา
โบสถ์มหาอุดจึงมีกระจายอยู่ทั่วไปตามวัดไทยทั่วทุกภูมิภาคที่มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจำวัดอยู่
โบสถ์หรือพระอุโบสถโบราณวัดโขมงสร้างด้วยคอนกรีต ขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๓ เมตรผนังโบสถ์ไม่รวมหลังคาสูงประมาณ ๒.๙ เมตร ด้านหน้าพระอุโบสถมีไขราหน้าจั่วหลังคายื่นออกมาสร้างขึ้นพร้อมกันกับพระอุโบสถ ภายในพระอุโบสถพื้นปูด้วยหินอ่อน ใต้หลังคากรุด้วยไม้แผ่นปิดทึบตีทับเป็นเส้นระแนง ทั้งหมดล้วนเป็นของดั้งเดิมตั้งแต่เริ่มสร้างโบสถ์ มีเพียงการบูรณะและซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดไปตามกาลเวลา พระอุโบสถหลังนี้มีช่องประตูเข้า – ออกหน้าโบสถ์เพียงด้านเดียว ขนาดกว้าง ๑.๖๘ เมตร สูง ๒.๑๖ เมตร มีช่องหน้าต่าง ๘ ช่อง ขนาดกว้าง ๐.๙๗ เมตร สูง ๑.๕๖ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า 'โบสถ์มหาอุด'
พระครูพิพัฒน์พลาทร ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน อธิบายว่า "ในสมัยก่อนโบสถ์หลังนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อด้านคาถาอาคมของคนโบราณ มีการใช้โบสถ์ในการทำพิธีปลุกเสกพระและเครื่องรางของขลัง จึงมีประตูด้านเดียว ตามความเชื่อว่าเป็นการอุดไว้ไม่ให้คาถารั่วไหล" โบสถ์มหาอุดโดยทั่วไปจะเป็นอาคารปิดทึบมีประตูเข้า – ออกด้านเดียวและก่อผนังทึบไม่มีหน้าต่าง พระอุโบสถวัดโขมงมีหน้าต่างถึง ๘ บาน คล้ายกับพระอุโบสถวัดพระพุทธไสยาสน์ [วัดพระนอน] จังหวัดเพชรบุรี ที่มีผนังเจาะช่องหน้าต่างเหมือนกัน แต่มีประตูเข้า - ออกด้านหน้า
วัดโขมง ตั้งอยู่เลขที่ ๕๔ หมู่ที่ ๒ ตำบลโขมง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๓๗ ไร่ ๓ งาน ๑ ตารางวา ประกาศตั้งวัดเมื่อใดไม่ระบุ
ในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒๐ ของกองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ก็ไม่ได้ระบุไว้ แต่มีปรากฎในเอกสารถอดชุดประสบการณ์ความรู้ ฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน คนตะวันออก 'พลิกฟื้นวิถีชุมชนตำบลโขมง' ขององค์กรเพื่อการพัฒนาชุมชนระยอง [องค์กรสาธารณประโยชน์] พิมพ์เมื่อ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ หน้า ๓๗ ระบุว่าประกาศตั้งวัดในราวปี พ.ศ. ๒๓๕๐ หากนำข้อมูลดังกล่าวนี้มาตรวจสอบปีรัชกาลจะตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ซึ่งครองราชย์อยู่ระหว่าง ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒