ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 6° 35' 34.8767"
6.5930213
ลองจิจูด (แวง) : E 101° 32' 51.1472"
101.5475409
เลขที่ : 195988
บ้านโบราณทรงลีมะห์ (ปั้นหยา)
เสนอโดย ปัตตานี วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
อนุมัติโดย ปัตตานี วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : ปัตตานี
0 391
รายละเอียด

บ้านหรือภาษา มลายูถิ่น เรียกว่า รูมะอ์ นับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์ เพื่อป้องกันอันตรายจากลมฟ้าอากาศและสัตว์ร้ายซึ่งลักษณะการปลูกสร้างบ้านแต่ละหลังต้องเหมาะสมกับลักษณะ ดินฟ้าอากาศ และรูปแบบการดำเนินชีวิตในยุคนั้นๆ

บ้านไม้ตะเคียนหลังคาทรงลีมะห์ (ปั้นหยา) หลังนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ คำนวณ อายุได้ ประมาณ ๑๑๐ ปี ตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๑๙ หมู่ ๓ ตำบลตะโละดือรามัน อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี เจ้าของบ้านคือ นางสาวซาปารี ปาแย (ผู้ครอบครองรุ่นที่ ๔) นายต่วนสือแม มือฆะ (ญาติของนางต่วนโมง) เล่าให้ฟังว่า เดิมที ผู้ครอบครองหรือเจ้าของบ้านหลังนี้ คือ นางต่วนโมง ลาดอ เป็นทายาทของเชื้อสายราชวงค์ในสมัยนั้น นายช่างสร้างบ้านหลังนี้ คือนายต่วนมูดอ ซึ่งเป็นสามีของนางต่วนโมง ใช้เวลาในการก่อสร้าง ประมาณ ๑ ปี เนื่องจากคนในสมัยก่อน การสร้างบ้านและที่อยู่อาศัยจะเป็นหน้าที่ของสามีเป็นหลัก ผู้ชายในสมัยก่อนส่วนใหญ่แล้วจะมีความเชี่ยวชาญในการสร้างบ้าน หากผู้หญิงคนใดแต่งงานและได้สามีที่มีความสามารถในการสร้างบ้านแล้ว จะถือว่ามีบุญ และต่อมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ (โดยประมาณ) นางต่วนโมงได้ขายบ้านหลังนี้ให้กับ นายซาหลง หรือ ชาลง(ทวดของนางซาปารี ปาแย) ผู้มีฐานะในหมู่บ้าน เนื่องจากในเวลานั้น นางต่วนโมงเจอมรสุมชีวิต มีหนี้สิน เนื่องจากนางต่วนโมงเป็นคนชอบเล่นการพนัน และแพ้พนันวัว จนติดหนี้ เลยจำยอมต้องขายบ้านหลังนี้ เดิมที บ้านหลังนี้ ตั้งอยู่ ทางเหนือของหมู่บ้านและอยู่ใกล้บริเวณริมน้ำ และเมื่อได้ขายให้กับนายซาหลงแล้ว จึงมีการเคลื่อนย้ายบ้านหลังนี้ โดยการใช้คนในการแบกหาม และใช้กำลังคนทั้งหมด มากกว่า ๑๐๐ คน โดยอาศัยกำลังคนในหมู่บ้านและบริเวณใกล้เคียง หลังจากแบกหามเสร็จ ก็จะมีการเลี้ยงอาหาร ตามกำลังของเจ้าของบ้านโดยไม่มีการจ้าง

บ้านโบราณหลังนี้ ใช้วัสดุในการสร้างด้วยไม้ตะเคียนเกือบทั้งหมด มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา เนื่องจากมีความแข็งแรงและมีความทนทานในการใช้งานสูง และป้องกันความร้อนได้ดี ลักษณะการปูกระเบื้องจะวางซ้อนสลับกัน ลักษณะของบ้านเป็นแบบไม้ยกพื้นสูง เหนือศีรษะ โดยพื้นที่ใต้ถุนจะใช้เป็นพื้นที่ในการเก็บอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพต่างๆและยังเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ลักษณะของบ้านหลังนี้จะเป็นบ้านหลังคาทรงลีมะห์(ปั้นหยา) ที่ตัวเรือนหลัก เป็นหลังคาลักษณะปิดคลุมรอบตัวบ้าน สามารถบังแดด บังลม และป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายต่างๆได้ดี แต่ไม่สามารถระบายอากาศได้ดีเท่าที่ควร จึงจำเป็นที่ต้องสร้างตัวเรือนให้มีช่องลม เพื่อระบายอากาศควบคู่ไปด้วย และ หลังคาทรงหน้าจั่ว (บูแย) ที่ตัวเรือนรอง (ชานบ้าน) เป็นหลังคาที่สามารถระบายอากาศได้ดี และมีความสวยงามกว่าหลังคาทรงลีมะห์ ตัวเรือนมีช่องลมหรือช่องแสง เป็นลายตีตาราง คล้ายตาข่ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ระหว่างช่องแสงมีความกว้างประมาณ ๒ เซนติเมตรเพื่อรับลม รอบตัวบ้าน บริเวณหน้าห้องนอน จะประดับผนังด้วยลายพระอาทิตย์ครึ่งดวงซึ่งเป็นลายที่นิยมในช่วงสมัยนั้น และทั้งนี้เพื่อป้องกันสัตว์ร้ายต่างๆเข้าบ้าน เนื่องจากสมัยก่อนสัตว์ต่างๆค่อนข้างเยอะ หากมีสัตว์เข้ามาในบ้านจะถือว่าเป็นลางร้าย และเพื่อป้องกันความปลอดภัยของเจ้าของบ้านด้วย หน้าต่างแต่ละบานเป็นหน้าต่างทรงบอด(บูตอ) ทั้งหมด และมีประตูบานสูงมีลูกกรง เพื่อรับลม และเพื่อป้องกันเด็กเล็กพลัดตก

การปลูกสร้างของบ้านหลังนี้ ไม่มีการฝังเสาเรือนลงในพื้นดิน แต่จะใช้ฐานเสา หรือบาทเสา (ปราเป๊ะ) ที่ทำด้วยอิฐฉาบปูน และนำตัวเรือนของบ้านมาไว้บนบาทเสา เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย เพราะคนในสมัยก่อน จะมีการเคลื่อนย้ายบ้านเรือนบ่อยครั้งด้วยเหตุผลหลากหลายประการ อาทิ เมื่อเจ้าของบ้านเจ็บไข้ได้ป่วย อยู่บ่อยครั้ง เจ้าของบ้านจะสัน นิฐานถึงฮวงจุ้ยที่ไม่ไม่เหมาะกับตนเองหรือสมาชิกในครัวเรือนอยู่แล้วไม่มีความเจริญรุ่งเรือง เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีการย้ายที่ตั้งของบ้านไปยังอีกที่หนึ่ง การปูพื้นของบ้าน จะเว้นระยะห่างของไม้แต่ลพชิ้นประมาณ ๑-๒นิ้ว ทั้งนี้ เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะใช้พื้นที่ตรงนั้นให้คนป่วยพักฟื้น เป็นที่ชำระร่างกาย หรือการขับถ่าย เพราะบ้านสมัยก่อนไม่นิยมสร้างห้องน้ำภายในบ้าน หรืออาจไม่มีการสร้างห้องน้ำแต่จะอาศัยพื้นที่ธรรมชาติในการทำธุระ หรือการเก็บกวาดบ้าน ก็จะกวาดขยะลงในช่องนั้น เพราะสมัยก่อนไม่มีที่โกยขยะ การสร้างบ้านหลังนี้จะใช้ลิ่มไม้ในการประกอบเสาบ้านและข้อต่อในส่วนต่างๆเนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีสกรูในการยึดตัวบ้าน ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของบ้านหลังนี้

บ้านหลังนี้ มีพื้นที่ใช้สอยหลักๆ ด้วยกัน ๓ ส่วน คือ ๑ ตัวเรือนหลัก หรือประธานบ้าน ภาษามลายูรียกว่า รูมะห์อีบู พื้นที่บริเวณนี้จะเป็นพื้นที่ใช้สอยของเจ้าของบ้าน และไว้ใช้ในการจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ ๒ พื้นที่ส่วนครัว ภาษามลายูเรียกว่า รูมะห์ ดาโปห์ เป็นพื้นที่เชื่อระหว่างตัวเรือนหลักแต่จะมีการลดระดับพื้นให้ต่ำลงจากพื้นตัวเรือนหลักเล็กน้อย ใช้เป็นพื้นที่ประกอบอาหารและรับประทานอาหาร ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพื้นที่ใช้สอยของผู้หญิง ๓ ส่วนริมระเบียงหน้าบ้าน หรือภาษามลายูเรียกว่า ซรัมบี เป็นพื้นที่สำหรับต้อนรับแขกมาเยือน หรือเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับผู้ชายเป็นหลัก แต่ปัจจุบันตรงพื้นที่ส่วนนี้ ได้ถูกรื้อถอน โดยเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน เนื่องจากบริเวณส่วนนี้ มีความทรุดโทรมตามกาลเวลา จึงมีการซ่อมแซมและต่อเติมเป็นระเบียงบ้านแบบปูน

อัตลักษณ์ที่โดดเด่น

ขนาดของบ้านที่มีขนาดใหญ่ สร้างด้วยไม้ตะเคียเกือบทั้งหมดเป็นบ้านที่สามารถถอดสัดส่วนได้หากมีการเคลื่อนย้ายบ้านรูปทรงหลังคา ทรงลีมะห์ หรือทรงปั้นหยา ที่ยังคงรูปทรงดั้งเดิมไว้อย่างสมบูรณ์ตัวเรือนมีช่องลมหรือช่องแสง เป็นลายตีตาราง คล้ายตาข่ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ระหว่างช่องแสงมีความกว้างประมาณ ๒ เซนติเมตรเพื่อรับลมและระบายอากาศภายในบ้าน

ผู้ให้ข้อมูล ๑ นางซาปารี ปาแย เจ้าของบ้าน

๒ นายต่วนสือแม มือฆะ ปราชญ์ชาวบ้าน

สถานที่ตั้ง
๑๙ หมู่ ๓ ตำบลตะโละดือรามัน อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี
เลขที่ ๑๙ หมู่ หมู่ที่/หมู่บ้าน ๑๙ หมู่ ๓ ตำบลตะโละดือรามัน อำเภอกะพ้อ จังหวัดป
อำเภอ กะพ้อ จังหวัด ปัตตานี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
อีเมล์ pattani94_@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรม
ตำบล สะบารัง อำเภอ เมืองปัตตานี จังหวัด ปัตตานี รหัสไปรษณีย์ 94000
โทรศัพท์ 073323197
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่