ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 5' 20.5573"
17.0890437
ลองจิจูด (แวง) : E 103° 49' 20.3588"
103.8223219
เลขที่ : 196025
เฮือนอีสาน
เสนอโดย สกลนคร วันที่ 1 มีนาคม 2565
อนุมัติโดย สกลนคร วันที่ 1 มีนาคม 2565
จังหวัด : สกลนคร
0 999
รายละเอียด

เฮือนอีสาน มีวิวัฒนาการมาจาก "ถ้ำ" หรือ "เพิงผา" ที่เป็นที่อยู่อาศัยของบรรพชนในอดีต ที่ยังคงหาอาหารด้วยการล่าสัตว์ คลี่คลายมาเป็น "เถียงนา" ซึ่งเป็นบ้านแบบชั่วคราว สร้างไว้คุ้มแดด คุ้มฝนไว้หัวไร่ปลายนา เมื่อมีการทำการเกษตร ปลูกพืชผักต่างๆ รวมทั้งการปลูกข้าวในนา ใช้วัสดุง่ายๆ เช่น ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างหลักและพื้นเป็นไม้ฟาก มุงด้วยใบตอง หรือหญ้าคา ต่อมาเมื่อรวมกันเป็นชุมชนหรือหมู่บ้าน จึงมีการใช้วัสดุที่มั่นคงแข็งแรงขึ้น เช่น ใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นเสา ตง คาน โครงสร้างหลังคา ผนังกั้นห้อง ส่วนการมุงหลังคาได้หันมาใช้กระเบื้องดินเผา หรือแผ่นไม้เนื้อแข็งมามุงแทนหญ้าคา หรือใบตอง เรียก "ไม้แป้นเกล็ด" จะเห็นว่า หลังคาเฮือนอีสานจะเป็นจั่วสูง มีความชันมาก เพื่อให้การไหลของน้ำฝนผ่านหลังคาได้รวดเร็ว ไม่รั่วซึมง่ายนั่นเอง

การจำแนกประเภทเฮือนอีสาน

ลักษณะชั่วคราว สร้างไว้ใช้เฉพาะบางฤดูกาล เช่น "เถียงนา" หรือ "เถียงไฮ่" ทำยกพื้นสูงเสาไม้จริง โครงไม้ไผ่หลังคามุงหญ้าหรือแป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนเก่า พื้นไม้ไผ่สับฟาก ทำฝาโล่งหากไร่นาไม่ไกลสามารถไปกลับได้ มีอายุใช้งาน 1-2 ปี สามารถรื้อซ่อมใหม่ได้ง่าย

ลักษณะกึ่งถาวร คือ กระต๊อบ หรือเรือนเล็ก ไม่มั่นคงแข็งแรงนัก มีชื่อเรียก "เรือนเหย้า" หรือ "เฮือนย้าว" หรือ "เย่าเรือน" อาจเป็นแบบเรือนเครื่องผูก หรือเป็นแบบเรือนเครื่องสับก็ได้ เรือนเหย้ากึ่งถาวรยังมี "ตูบต่อเล้า" ซึ่งเป็นเพิงที่สร้างอิงกับตัวเล้าข้าว และ "ดั้งต่อดิน" ซึ่งเป็นเรือนที่ตัวเสาดั้งจะฝังถึงดิน และใช้ไม้ท่อนเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่ เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกมาจากเรือนใหญ่ เรือนเหย้ากึ่งถาวรอีกประเภทหนึ่ง คือ "ดั้งตั้งคาน" หรือ "ดั้งตั้งขื่อ" ลักษณะคล้ายเรือนเกยทั่วไป แต่พิถีพิถันน้อยกว่า อยู่ในประเภทของเรือนเครื่องผูก แตกต่างจากเรือนดั้งต่อดิน ตรงที่เสาดั้งต้นกลาง จะลงมาพักบนคานของด้านสะกัด ไม่ต่อถึงดิน

ลักษณะถาวร เป็นเรือนเครื่องสับหรือเรือนไม้กระดาน อาจจำแนกได้เป็น 3 ชนิด คือ คือ เฮือนเกย เฮือนแฝด เฮือนโข่ง ลักษณะใต้ถุนสูงเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ เรือนเครื่องสับเหล่านี้ ไม่นิยมเจาะช่องหน้าต่าง มักทำหน้าต่างเป็นช่องแคบๆ เรียกว่า "ป่องเอี้ยม" สำหรับการมองออกมาภายนอกได้ แต่ไม่สามารถปีนป่ายเข้าออกทางช่องนี้ ส่วนประตูเรือนทำเป็นช่องออกทางด้านหน้าเรือนเพียงประตูเดียว ภายในเรือนจึงค่อนข้างมืด เพราะในฤดูหนาวมีลมพัดจัดและอากาศเย็น จึงต้องทำเรือนให้ทึบและกันลมได้ หลังคาเรือนทำเป็นทรงจั่วอย่างเรือนไทยภาคกลาง มุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือกระเบื้องไม้สัก จั่วกรุด้วยไม้ตีเกล็ดเป็นรูปรัศมีของอาทิตย์ทั้งสองด้าน รอบหลังคาไม่มีชายคาหรือปีกนกยื่นคลุมตัวบ้านเหมือนอย่างเรือนไทยภาคกลาง

เอกลักษณ์ของเรือนไทยภาคอีสาน

ไม่นิยมทำหน้าต่างทางด้านหลังตัวเรือน ถ้าจะทำจะเจาะเป็นช่องเล็กๆ พอให้ยี่นศีรษะออกไปได้เท่านั้น

ไม่นิยมต่อยอดป้านลมให้สูงขึ้นไปเหมือนเรือนของชาวไทยล้านนาที่เรียกว่า "กาแล"

ไม่นิยมตั้งเสาเรือนบนตอม่อเหมือนเรือนของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ ด้วยเหตุที่ชาวไทยภาคอีสานปลูกเรือนด้วยการฝังเสา และพื้นดินส่วนใหญ่แข็ง มีหินรองรับ จึงไม่มีการตั้งบนตอม่อ

องค์ประกอบของเรือนไทยภาคอีสาน

เรือนนอนใหญ่ จะวางด้านจั่วรับทิศตะวันออก-ตะวันตก หรือเรียกว่า "วางเฮือนตามตะเว็น" เจาะหน้าทางทางทิศใต้ ส่วนมากจะมีความยาว3ช่วงเสา เรียกว่า "เฮือนสามห้อง" ใต้ถุนโล่ง มีการแบ่งออกเป็นพื้นที่ส่วนเปิดโล่ง และพื้นที่ส่วนตัว ชั้นบนแบ่งออกเป็น3ส่วนคือ

-ห้องเปิง หรือ ห้องที่อยู่ของผีเรือน ใช้เก็บเครื่องรางของขลัง บูชาบรรพบุรุษ และเป็นห้องนอนของลูกชาย เป็นส่วนเปิดโล่งมักไม่มีการกั้นห้อง หรือจะกั้นเพียงบางด้านก็ได้ แต่เดิมนั้น จะห้ามลูกเขย หรือลูกสะใภ้ก้าวล่วงขึ้นไปในห้องเปิง โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นข้อห้ามที่มีบทบาทหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมลูกเขยหรือลูกสะใภ้ที่ต้องเคารพยำเกรงผู้ใหญ่ และจะมีผลต่อการใช้แรงงานทางเศรษฐกิจในครอบครัวของลูกเขย และการอบรมเลี้ยงดูลูกหลานของลูกสะใภ้

-ห้องพ่อ-แม่ เป็นพื้นที่ส่วนตัว อาจกั้นเป็นห้องเฉพาะขนาดใหญ่ หรืออาจปล่อยโล่งบางด้านก็มี เป็นที่นอนรวมของทุกคนในครอบครัวในวัยเด็ก เมื่อเติบโตหรือมีครอบครัวก็จะย้ายออกไป

-ห้องส่วม หรือเรียกว่า ห้องนอนลูกสาว มีประตูเข้า มีฝากั้นมิดชิด เป็นพื้นที่ส่วนตัวเฉพาะ หากมีลูกเขยก็จะให้นอนในห้องนี้ ก่อนจะขยับขยายออกไปสร้างครอบครัวใหม่

ส่วนชั้นล่างของเรือนนอนใหญ่ (ใต้ถุน) อาจใช้สอยได้อีก เช่น กั้นเป็นคอกวัวควาย ที่เก็บอุปกรณ์ในการทำนา พวกคราดไถ เกวียน หรืออุปกรณ์ทอผ้า ฯลฯ รวมทั้งเป็นที่พักผ่อนทำกิจกรรมในฤดูร้อนของครอบครัว หรือสังสรรค์กับเพื่อนบ้าน

เกย คือ บริเวณชานโล่งที่มีหลังคาคลุม เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาจากเรือนนอนใหญ่ มักใช้เป็นที่รับแขก หรือที่รับประทานอาหาร ส่วนของใต้ถุนจะเตี้ยกว่าปกติ อาจไว้ใช้เป็นที่เก็บฟืน

เรือนแฝด เป็นเรือนทรงจั่วแฝดเช่นเดียวกับเรือนนอน โครงสร้างทั้งคานพื้นและขื่อหลังคาจะฝากไว้กับเรือนนอน แต่หากเป็นเรือนแฝดลดพื้นลงมากกว่าเรือนนอน ก็มักเสริมเสามารับคานไว้อีกแถวหนึ่งเพิ่มต่างหาก

เรือนโข่ง มีลักษณะเป็นเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอนใหญ่ แต่ต่างจากเรือนแฝดตรงที่ "โครงสร้างของเรือนโข่งจะแยกออกจากเรือนนอนโดยสิ้นเชิง สามารถรื้อถอนออกไปปลูกใหม่ได้ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อเรือนนอน" การต่อเชื่อมของชายคาทั้งสองหลังใช้รางน้ำ โดยใช้ไม้กระดาน 2 แผ่น ต่อกันเป็นรูปตัววี แล้วอุดด้วยชันผสมขี้เลื่อยกันการรั่วของน้ำฝน ในกรณีที่เรือนไม่มีครัวก็สามารถใช้พื้นที่ส่วนเรือนโข่งนี้ทำครัวชั่วคราวได้

เรือนไฟ (เรือนครัว) ส่วนมากจะเป็นเรือน 2 ช่วงเสา มีจั่วโปร่งเพื่อระบายควันไฟ ฝานิยมใช้ไม้ไผ่สานลายทแยงหรือลายขัด ให้ลมพัดผ่านได้บ้าง

ชานแดด เป็นบริเวณนอกชานเชื่อมระหว่างเกย เรือนแฝดกับเรือนไฟ มีบันไดขึ้นด้านหน้าเรือน มี "ฮ้างแอ่งน้ำ" (นั่งร้านยกขึ้นเพื่อวางอ่างน้ำดินเผา) อยู่ตรงขอบของชานแดด บางเรือนที่มีบันไดขึ้นลงทางด้านหลังจะมี "ชานมน" ลดระดับลงไปเล็กน้อยโดยอยู่ด้านหน้าของเรือนไฟ

เสาแฮก (แรก) เสาขวัญ จะยึดเสาคู่ในทางตะวันออก เสาแฮกจะอยู่ด้านใน ซึ่งเป็นด้านขยายตัวเรือนออกเป็นเฉลียง ชาน ถ้ากรณีหันหัวนอนไปทางทิศใต้ตำแหน่งเสาแฮก-เสาขวัญจะสลับกันกับเสาลักษณะแรก การเลือกเสาคู่นี้ต้องเลือกเสาที่ดี วิธีผูกเสาแฮก-เสาขวัญ การผูกเสาจะใช้สิ่งที่เป็นมงคลและที่มีความหมายเป็นศรีแก่เรือนและผู้อยู่อาศัย ให้มีความเป็นสิริมงคล เช่น ใบยอ ใบคูน ยอดอ้อย กล้วย ไซใส่เงิน-ทอง อัก (เครื่องมือสำหรับเก็บด้ายทอผ้า) ดูรายละเอียดในเรื่อง การปลูกเฮือน

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ในบริเวณบ้าน คือ บริเวณในแนวเขตที่ดินของตนที่อยู่นอกบริเวณใต้ถุนเรือน จะมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยที่หลากหลาย คือ พื้นที่ทำครัวมักจะอยู่บริเวณใกล้ๆ บันได หรือด้านข้างชานแดด ส่วนพื้นที่ปลูกพืชสวนครัวมักจะอยู่บริเวณริมรั้วใกล้ทาง ด้านหลังบ้านมักจะปลูกพืชไม้ผล ส่วนเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) จะสร้างไว้ห่างตัวเรือนใหญ่ไปเล็กน้อย ใกล้ๆ กันหรือริมชายคาเรือนใหญ่จะตั้งครกมองสำหรับใช้ตำข้าว

คำสำคัญ
เฮือนอีสาน
สถานที่ตั้ง
อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร
ตำบล กุดบาก อำเภอ กุดบาก จังหวัด สกลนคร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร
บุคคลอ้างอิง นายสำเริง ทรงศิริ อีเมล์ Krulearng@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานเทศบาลตำบลกุดแฮด
ตำบล กุดบาก อำเภอ กุดบาก จังหวัด สกลนคร
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่