ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 34' 52.9781"
16.5813828
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 13' 18.7014"
100.2218615
เลขที่ : 196076
พิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ วัดกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 3 มีนาคม 2565
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 3 มีนาคม 2565
จังหวัด : พิจิตร
0 853
รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

แม่ย่านาง คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยเคารพนับถือว่าคอยคุ้มครองปกป้องกันภัยให้แก่พาหนะ เช่น รถ เรือ หรือเชื่อว่าสิงสถิตอยู่ในรถ ในเรือ และให้คุณให้โทษแก่ผู้ขับขี่โดยสารได้

ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับแม่ย่านางมีอยู่หลายกระแสตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจากการสืบค้นพบ นำมาเสนอพอสังเขปได้ดังนี้

ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับแม่ย่านางนั้นมีอยู่ว่า เมื่อพระอิศวรและพระแม่อุมาเสด็จประพาสทะเล กุ้งได้ออกมาร้องเรียนว่าตนเองเป็นสัตว์ที่ร่างกายมีแต่เนื้อ เปลือกห่อหุ้มบาง ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ทำให้ถูกบรรดาสัตว์น้ำอื่น ๆ จับกินเสียมาก พระแม่อุมาจึงประทานพรให้กุ้ง มีเลื่อยสองคนปลายแหลมอยู่บนหัว มีหอกปลายแหลมอยู่ที่หาง เมื่อสัตว์ใดกินเข้าไปจะได้ใช้หางเจาะออกมาให้เข็ดหลาบ ซึ่งอาหารที่กุ้งสามารถกินเองได้ จะต้องเป็นของที่ตายเน่าเปื่อยเท่านั้น

จากนั้นประชากรกุ้งจึงมีมากจนเสียสมดุล กั้งจึงมาชักชวนผสมพันธ์แล้วออกอุบายให้กุ้งใช้อาวุธติดตัวเจาะท้องเรือสำเภาให้จม เมือจีนคนไหนว่ายน้ำไม่เป็นก็จะจมน้ำตาย กลายเป็นอาหารส่วนหัวกุ้งแบ่งให้กั้ง ส่วนตัวกุ้งเอาไปกิน ด้วยเหตุนี้ เรือสำเภาจึงตกเป็นเป้าและได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก พวกนายสำเภาจึงได้วิงวอนของให้เจ้าหมาจ่อช่วยบอกกล่าวเทพเจ้าให้มาช่วยเหลือ เจ้าหมาจ่อสงสารชาวเรือจึงบอกให้นำของมาเซ่นไหว้พลีกรรม ได้แก่ ผ้าแพรสีแดง สีทับทิม สิ่งละสิบพับ กับดอกไม้ธูปเทียน สำหรับเจ้าที่ เมื่อได้รับของถวายเจ้าหมาจ่อจึงให้นายทหารนำของไปถวายเจ้าทั้งแปดทิศ แล้วร่วมปรึกษาหารือกันว่าจะนำความไปกราบทูลพระอิศวรและพระแม่อุมาเทวีให้ตัดสินปัญหา พระแม่อุมาจึงสั่งให้พระอนันตนาคราชไปปราบกุ้งที่ผิดคำสัตย์และใช้อุบายทำให้มนุษย์เดือดร้อน จากนั้นพระอนันตนาคราชรับโองการ ลงไปถึงพระคงคา กุ้งที่ทำผิดก็ร้อนตัวกลัวจนกระเพาะและของเก่าใหม่ขึ้นมาบนสมอง จากนั้นจึงถูกสาปให้เรือสำเภาน้อยใหญ่ที่พวกตนเจาะให้ล่มเข้าไปอยู่ในแก้มซ้ายขวาถ่วงหัวไม่ให้เงยขึ้นมาเจาะเรือสำเราได้อีก แล้วพระอนันตนาคราชจึงสั่งให้จีนเดินสมุทรทั้งหลายนับถือเจ้ายอดสวรรค์ให้คุ้มครองรักษาเรือสำเภาทุกเที่ยวไปมาจนติดมา กระทั่งทุกวันนี้

อีกตำนาน เล่าถึงเรื่องของเจ้ายอดสวรรค์ ที่เป็นลูกสาวชาวประมงในเมืองฟูเกียน ฝันเห็นเรือของพ่อกับพี่ชายกำลังจะจมน้ำ จึงเอาปากคาบเรือของพ่อไว้ แล้วใช้มือซ้ายขวาคว้าเรือพี่ชายไว้ สักพักได้ยินเสียงแม่เรียก จึงเผลอขานรับแล้วตื่นขึ้น สองสามวันต่อมาจึงมีคนมาส่งข่าวว่าเรือของพ่อเธออับปาง ส่วนพี่ชายได้รับความช่วยเหลือจึงรอดมาได้ ซึ่งเธอนั่นเองคือผู้ที่ช่วยพี่ชายเอาไว้ กลายเป็นเรื่องเล่าสืบทอดมายาวนาน และมีการตั้งศาลไหว้นางอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวจีนเดินเรือ

ด้วยเหตุนี้ แม่ย่านางได้กลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเทพผู้พิทักษ์ปกป้องคุ้มครองพาหนะทุกประเภท ทั้งเรือ รถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ ที่ให้คุณให้โทษได้ ผู้ขับขี่จึงมีความเคารพยำเกรงต่อแม่ย่านาง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ในสมัยที่การคมนาคมส่วนใหญ่ใช้ทางน้ำ ประชาชนนิยมโดยสารเรือเป็นหลัก ก็มีการบวงสรวงแม่ย่านางเรือ โดยเฉพาะเรือพระราชพิธีที่ใช้ในการพระราชพิธีสำคัญ เช่น กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ก่อนออกแล่นจริงต้องมีการนำเครื่องบูชามาทำพิธีบวงสรวงเพื่อความเป็นสิริมงคล เข้าใจว่าเพื่อบอกกล่าวแม่ย่านางที่สิงสถิตอยู่กับเรือแต่ละลำได้รับรู้และปกปักรักษาอย่าให้เกิดอุบัติเหตุเภทภัยใด ๆ เรือชาวบ้านก็มีการบวงสรวงเช่นกัน ผู้ที่มีความศรัทธามากนิยมนำผ้าสามสีมาผูกที่หัวเรือ เพื่อแสดงความเคารพแก่แม่ย่านางและเพื่อเสริมสิริมงคลให้แก่เรือลำนั้น ๆ (กรมศิลปากร.นามานุกรมขนบประเพณีไทย หมวดประเพณีราษฎร์ เล่ม ๓(คติความเชื่อ).พิมพ์ครั้งแรก.กรุงเทพฯ :บริษัท แอดวานซ์ วิชั่น เซอร์วิส จำกัด , ๒๕๕๒ หน้า ๒๒๗-๒๒๘)

ในอีกกระแสหนึ่งเล่าว่า เดิมทีนั้นการลากเรือประมงลงน้ำนั้นจะต้องใช้เชือกดึงหัวเรือให้เรือขับเคลื่อน และเชือกที่ใช้ถึงหัวเรือจะใช้เถาวัลย์ที่พันต้นตะเคียน ซึ่งเรียกกันว่า “เชือกย่านาง” เมื่อใช้เชือกย่านางดังหัวเรือบ่อย ๆ เข้า จึงเรียกบริเวณหัวเรือเป็น “ย่านาง” นอกจากนั้นแล้วเชื่อกันว่าไม้ที่นำมาทำเรือในสมัยแรก ๆ นั้น มักจะใช้ไม้ตะเคียน ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าไม้ตะเคียนที่นำมาทำเรือนั้นเป็นไม้ที่มีผีตะเคียนสิงสถิตอยู่ เมื่อนำไม้ตะเคียนมาทำเรือ ความเชื่อเรื่องผีนางตะเคียนจึงติดมากับเรือด้วย ซึ่งในการโค่นไม้ตะเคียนมีพิธีกรรมปรากฏในพิธีทำขวัญเรือว่า

“...เมื่อเข้าป่าหาไม้ใกล้ต้นตะเคียนใหญ่ ได้ยินเสียงปากเหมือนเสียงคน เมื่อได้ยินให้หวั่นหวาด ขอจงเลือกเอาที่รอยคชสารเข้ามาแทง กิ่งคดโค้งกาฝากจากกาฝากยอดไม้ใกล้ธารา ฝ่ายคชสารลักมันเอาไม้มาทำเรือใหญ่ พบรุกขชาติพระยานางไม้ รุกขชาติจึงให้เอาน้ำพระพุทธมต์ มารดทั่วทุกคนหมดแล้วเข้าแดนไพร ตามวิถีเอาเพศเกรียงไกร แล้วสมมุตคนที่ชื่อนายใจ พร้อมด้วยพวกที่ชำนาญไปด้วยกัน เอามือจับขวานเข้าฟันโค่นต้นไม้ ประหนึ่งเหมือนคนร้องครวญครางสะเทือนดง แล้วฟันฟาดไปทางหรดี เสียงสนั่นป่า แล้วตัดปลายไม้ แล้วจัดเครื่องพิธีกรรมอันจะสังเวยเจ้าพระยานางไม้...” (ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ โลกทรรศน์ไทยภาคใต้ ,๒๕๒๒ :หน้า ๑๓๖)

ระยะเวลาประกอบพิธี

เดือนสิงหาคมของทุกปี

รายละเอียดและขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม

การประกอบพิธีกรรมบวงสรวงแม่ย่านางเรือพลายแก้ว พลายงาม เพชรสยาม และเรือเพชรประกายมาศ จะมีประกอบพิธีกรรมที่วัดกำแพงดิน ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร สำหรับการประกอบพิธีบวงสรวงนั้นจะมีขึ้นในวันที่ ๑๒ สิงหาคมของทุกปีโดยตัวแทนเทือกเรือหรือฝีพายเรือเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม

สิ่งของที่ใช้ในพิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ

๑.เครื่องบวงสรวงได้แก่ อาหารคาว – หวาน ประกอบด้วย

หัวหมูต้มสุก พร้อมน้ำจิ้ม ข้าวสุก หมูสามชั้นต้มสุก ไข่ต้ม ขนมถ้วยฟู

๒.ผลไม้ที่มีรสหวานต่าง ๆ ในพื้นที่ตามฤดูกาล

ขั้นตอนการประกอบพิธีบวงสรวง

๑.เทือกเรือ (ฝีพายเรือ) หรือเจ้าหน้าที่จะจัดสถานที่ให้พร้อมในบริเวณที่จะประกอบพิธีและจัดวางเครื่องบวงสรวงต่าง ๆ ให้เรียบร้อย

๒.เทือกเรือ (ฝีพายเรือ) นำพวงมาลัยไปคล้องที่หัวเรือและท้ายเรือทุกลำที่เข้าร่วมพิธีบวงสรวง

๓.เทือกเรือ (ฝีพายเรือ) นำเครื่องสังเวย ได้แก่ บายศรี น้ำเปล่า น้ำแดง มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำว้า และผลไม้ต่าง ๆ ตามฤดูกาลไปวางที่โขนเรือ (บริเวณหัวเรือ)

๔.เจ้าอาวาสวัดทำพิธีเจิมเรือที่บริเวณหัวเรือทุกลำที่เข้าร่วมพิธีบวงสรวง พร้อมปิดแผ่นทองเพื่อเป็นสิริมงคล

๕.ตัวแทนเทือกเรือ (ฝีพายเรือ) จุดธูป ๙ ดอก แล้วนำไปปักที่โขนเรือเพื่อบอกกล่าวแม่ย่านางเรือ

๖.เทือกเรือ (ฝีพายเรือ) ทุกคนที่เข้าร่วมพิธี จุดธูป ๙ ดอก เพื่อบอกกล่าว ขอขมาและขอพรจากแม่ย่านางเรือ และนำธูปไปปักที่กระถางธูปที่เตรียมไว้หน้าเครื่องบวงสรวง

๗.เมื่อธูปที่จุดบอกกล่าวแม่ย่านางใกล้หมดดอกแล้ว เทือกเรือ (ฝีพายเรือ) จะทำการจุดประทัดเพื่อเป็นสิริมงคล และทำพิธีลาเครื่องบวงสรวงที่โต๊ะเครื่องบวงสรวง

ผู้ประกอบพิธีกรรม/ผู้ร่วมพิธีกรรม

ผู้ประกอบพิธีกรรม เทือกเรือ (ฝีพายเรือ) ของเรือทุกลำที่เข้าร่วมพิธีบวงสรวง

ผู้ร่วมพิธีกรรม พระครูศรีปริยัติวิธูร เจ้าอาวาสวัดกำแพงดิน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในชุมชนตำบลกำแพงดิน

บททำขวัญในพิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ

โองการบวงสรวงบูชาฤกษ์

วันทิตวา อาจาริยะปาทัง เมสักการิยะ สัมพินทะยายัง สัพพะโธสัง วินัสสันติ สิริเทพพะเอยยา วิโยทะยามัง มะเหสุรัง ปะทะวะสัง วิสุทธะเทเวสสะ สัพโพทิพพยะสังเค มันตุมาระสิทธิ ฯ

โอมพระภูมิ พระธรณี กรุงพาลี ตัมเปยยะปริวารา เอหิสัตถายะ อาคัจฉันตุ ปริภัณชันตุสวาหายะ ฯ

นะมามิสิระสานาโค ปะถะวียัง ปะริพาระโต สุคคะสัมปัตติ สัพพะทาฯ

ปุริมะทิสัง ธะตะรัฎโฐ จะ มหาราชา ทิสาภาเค เตปิตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ ฯ

อาคะเณยัสมิง คันธัพโพ จะ มะหาราชา ทิสาภาเค เตปิตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ ฯ

ทักขิณัสมิง วิรุฬหโก จะ มหาราชา ทิสาภาเค เตปิตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ ฯ

หะระติสมิง เทวา จะ มะหาราชา ทิสาภาเค เตปิตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ ฯ

ปัจฉิมัสมิง วิรูปักโข จะ มหาราชา ทิสาภาเค เตปิตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะฯ

พายัพพัสมิง นาโค จะ มหาราชา ทิสาภาเค เตปิตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ ฯ

อุตะรัสมิง กุเวโร จะ มหาราชา ทิสาภาเค เตปิตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ ฯ

อิสาณัสมิง ยักขา จะ มหาราชา ทิสาภาเค เตปิตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ ฯ

สูปะพะยัญชะนะสัมปันนัง ปริภุญชันตุ

โอมนะโมพุทธะรัตนัง สะระนังคัจฉามิ

โอมนะโมธัมมะรัตนัง สะระณังคัจฉามิ

โอมนะโมสังฆะรัตนัง สะระณังคัจฉามิ ฯ

อุปะริสมิง ทิสาภาเค จัตตาโรเทวา มะหาเทวา จันโท จะ สุริโย จะ อินโท จะ พรหมมาโน จะ เสยยะถีทัง ทิโต จะ สุรักโข จะ เทวะเสฎโฐ จะ เทวะปุญญะโก จะ เอเตจัตตาโรเทวา มะหาเทวา พุทธะปัสสะนา

ธัมมะปัสสะนา สังฆะปัสสะนา พุทธะคาระวะตา เอหิสะมาคันตะวา อาคัจฉันตุปะริภุญชันตุ ทิโต จะ สุรักโข จะ เทวะเสฎโฐ จะ เทวะปุญญะโก จะ จะรังวา ฐิตังวา ติฎฐังวา นิสินนังวา สะยานังวา รัตติงวา ทิวังวา สัพพะทา ตัง รักขันตุ มะหาเทวาติ ฯ

คำบูชาฤกษ์

นะมามิ อะธิปะติง มะหาเทวัง ท่านผู้มีบุญญาธิการ คือองค์พระปรเมศวรผู้เป็นเจ้าได้มาครอบครองกล่าวว่าบรรดาพราหมณ์ ฤาษีมุนี ให้เป็นกรรมสิทธิ์ แลอมรินทราธิราชเจ้า อันเป็นประธานแก่หมู่นิกร อมรคณา เทวดา อันรักษาสัพตะพิธีฤกษ์ในภูมิโลกนี้

และกาลบัดนี้ ข้าพเจ้าจะทำพิธีกรรม บูชายาคะพิธี ตามวิสัยจารีตโบราณ ขอเดชะอำนาจพระอิศวราราชาธิบดี จงประสิทธฺกิจ โดยอิสรภาพแด่...................................................................ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี (ลั่นฆ้อง ๓ ที)

ด้วยเดชานุภาพแห่งพระรัตนตรัย อันเป็นมงคล และด้วยอานุภาพแห่งเทพยดาทั้งหลายขอให้พิธี.......................................................................ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยเป็นสิริมงคลบังเกิดผลดี แก่..............................................ประธานฯและท่านทั้งหลายที่ได้มาร่วมในพิธีนี้ ประกอบกิจการสิ่งใด จงสัมฤทธิ์ผลสมความปรารถนา ให้มีความสุขความเจริญรุ่งเรืองถาวรสืบไป ทั้งปราศจากอุปสรรคอันตรายและทุกข์โศก โรคภัยทั้งหลาย เทอญ ฯ

คำขอพรเทวดา

สัพพะทุกขา วินาสสันติ สัพพะภัยยา วินาสสันติ สัพพะโรคา วินาสสันติ พุทธะเตเชนะ ธัมมะเตเชนะ สังฆะเตเชนะ ปะริวาตะปะติ ทิวาทิตโจ รัตติมา ภาติจันทิมา สันนัตโธ ขัตติโย ตะปะติ ชายีตะ ปะติ พรหมโณ อะถะสัพพะ มะโหรัตตัง พุทโธ ตะปะติ เตชะสาติ ฯ

สิทธิกิจจัง กิจจานุกิจใด ที่ตั้งใจก่อสร้าง จงเสร็จสมอย่าค้าง ขัดข้องแรมนานเลยนา ฯ

สิทธิกัมมัง การงานสิ่งใด ที่ตั้งใจผดุง บำรุงอย่าช้า อย่าเริดอย่าราค้าง สฤษดิ์ได้ สมประสงค์ พลันเทอญ ฯ

สิทธิการิยะ ตะถาคะโต พระสัพพัญญู ตรัสรู้จบ มารสยบหลีกแล้ว ปลอดภัยแผ้ว คลาดแคล้วพ้นภัยพาล ฉับพลันนา ฯ

สิทธิเตโช ชะโยนิจจัง เดชอำนาจแผ่ทั่งผอง อริสยองหย่อนห้าว จงมีชัยชนะทุกด้าน ปราบล้างไพรี แลนา ฯ

สิทธิลาโภ นิรันตะรัง อีกราชลาภทุกสิ่งสรรพ์ จงนิรันดรหลั่งล้น ดุจหนึ่งนทีธารท้น อย่ารู้ขาดสูญ เลยนา ฯ

สัพพะสิทธิ ภะวันตุ เม ขอสรรพพร จงประสาทประสิทธิ์ แด่ท่านผู้เป็นประธาน และท่านทั้งหลายที่มาร่วมในพิธีนี้ จงมีความสุขสวัสดี ให้สำเร็จสมดังข้าพร้องพร่ำนี้เทอญ ฯ

สาระที่สะท้อนความเชื่อหรือเหตุผลในการจัดพิธีกรรม

พิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ เป็นประเพณีโบราณ เพื่ออันเชิญแม่ย่านางมาประทับทรงเพื่อขอให้ตั้งชื่อเรือ ถามเรื่องสีเสื้อและผ้าแพรประดับโขนเรือให้ถูกโฉลกกับแม่ย่านาง เพื่อเป็นมงคลแก่ทีม มีความเชื่อว่าแม่ย่านางเรือเป็นเทพยดาองค์หนึ่ง ซึ่งสิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ เรียกว่า รุกขเทวดา และไม้ที่ขุดเรือนำมาจากป่า การนำไม้มานั้นก็เท่ากับว่าได้อันเชิญรุกขเทวดาที่ปกปักษ์รักษาไม้มาด้วย เพื่อจะได้เกิดสิริมงคลและปกป้องภัยอันตรายต่าง ๆ พิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ ปกติจะทำทุกปีก่อนที่จะนำเรือลงน้ำ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้เจ้าของเรือและฝีพายเรือ เพื่อเป็นสิริมงคลและแสดงความกตัญญูต่อองค์เทพที่ปกปักษ์รักษา

สถานภาพปัจจุบัน

สถานะการคงอยู่ขององค์ความรู้

เสี่ยงต่อการสูญหายต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน

ข้อมูลอ้างอิงบุคคล (ผู้ให้สัมภาษณ์ เช่น ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่)

ชื่อ-นามสกุล พระครูศรีปริยัติวิธูร

ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดกำแพงดิน

ข้อมูลเจ้าของเรื่อง (ผู้สัมภาษณ์)

ชื่อ-นามสกุล นางสาวสุริสา นิลนารถ

ตำแหน่ง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ

หน่วยงาน/องค์กร สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร

ที่อยู่หน่วยงาน/องค์กร ศาลากลางจังหวัดพิจิตร (หลังเดิม) ถนนบุษบา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

เบอร์โทรสำนักงาน ๐ ๕๖๖๑ ๒๖๗๕

ที่อยู่ บ้านเลขที่ ๓๗/๗ หมู่ที่ ๒ ตำบล คลองคะเชนทร์ อำเภอ เมืองพิจิตร

จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ ๖๖๐๐๐ เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๑ ๘๗๐๗๔๐๔

E-mail : p.nilnart@hotmail.com

สถานที่ตั้ง
วัดกำแพงดิน
ตำบล กำแพงดิน อำเภอ สามง่าม จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
วัดกำแพงดิน
บุคคลอ้างอิง นางสาวสุริสา นิลนารถ อีเมล์ p.nilnart@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ศาลากลางจังหวัดพิจิตร (หลังเดิม)
ถนน บุษบา
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66000
โทรศัพท์ 0818707404 โทรสาร 0 5661 2675
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่