ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 7° 37' 22.9872"
7.623052
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 8' 33.7092"
100.142697
เลขที่ : 196338
วัดวังพัทลุง(สถาปัตย์สมัยรัตนโกสินทร์)
เสนอโดย พัทลุง วันที่ 25 มีนาคม 2565
อนุมัติโดย พัทลุง วันที่ 7 กรกฎาคม 2565
จังหวัด : พัทลุง
0 216
รายละเอียด

คามสำคัญทางประวัติศาสตร์
วัดวังสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอน พงศาวดารเมืองพัทลุง หลวงศรีวรวัตร(พิณ จันทโรจวงศ์) เขียนไว้ว่าพระยาพัทลุง (ทองขาว) มีศรัทธาได้ทำการสร้างวัด
มีอุโบสถและระเบียงรอบไว้กลางเมืองวัดหนึ่ง เมื่อทำการสร้างเสร็จ จัดการฉลอง
ณ วันที่ ๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ พุทธศักราช ๒๓๕๙ (จ.ศ.๑๑๗๘) ปีชวด อัฐศก

ในหนังสือพงศาวดารและลำดับวงศ์ตระกูลเมืองพัทลุง เขียนโดยพระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง ณ พัทลุง) กล่าวว่า พระยาพัทลุง (ทองขาว) ได้ปฏิสังขรณ์วัดขึ้นที่ตำบลลำปำ
วัดหนึ่ง ให้ชื่อว่าวัดวัง มีอุโบสถพัทธสีมาและวิหาร เป็นวัดถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาสำหรับเมือง

คุณยายประไพ มุตตามระ บุตรีหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ได้ให้ความเห็นว่า
วัดวังคงจะเริ่มสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แต่เพราะบ้านเมืองในสมัยนั้นมีศึกสงครามกับหัวเมืองมลายู อยู่เสมอ จึงทำให้การสร้างวัดมาเสร็จในรัชกาลที่ ๒

ในทำเนียบวัดวังจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) ระบุว่าวัดวังสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๑ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จุดประสงค์ในการสร้างวัดนี้อาจเป็นไปได้ว่าเพื่อใช้เป็นวัดประจำเมือง เพราะในสมัยนั้นได้ย้ายเมืองพัทลุงมาตั้งที่โคกสูง บริเวณนี้ยังไม่มีวัดที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาเมื่อสร้างวัดขึ้นแล้วพิจารณาเห็นว่า วัดควนมะพร้าวซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามาตั้งแต่สมัยธนบุรีนั้นห่างไกลจากตัวเมืองมาก จึงให้ยกวัดขึ้นเป็นวัดถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

สมัยพระยาพัทลุง (ทับ) ได้ทำการบูรณะวัดวัง โดยหลวงยกกระบัตร (นิ่ม) ได้รื้อกำแพงเมืองที่เขาชัยบุรีมาปฏิสังขรณ์วัดวังและได้ทำการฉลองเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก โทศก พ.ศ.๒๔๐๓

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเสด็จประพาสแหลมมลายู ได้เสด็จประพาสเมืองพัทลุงใน ร.ศ.๑๐๘(๒๔๓๒) ดังปรากฏความในจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสแหลมมลายูคราว ร.ศ.๑๐๗ และ ๑๐๘

ต่อมาเมื่อได้ย้ายเมืองพัทลุงไปตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ พ.ศ.๒๔๖๗ วัดวังจึงได้ลดความสำคัญ ลงจากที่เคยใช้เป็นวัดสำหรับประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ทำพิธีสมโภชต้นดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ก็กลายเป็นวัดที่อยู่ไกลเมือง วัดวังก็ทรุดโทรมลง

ชื่อของวัดวังมีที่มา ๒ นัย คือ นัยที่หนึ่ง เนื่องจากวัดวังมีลำคลองน้ำเชี่ยวไหลมาบรรจบกับคลองลำปำทางทิศใต้ของวัด บริเวณนั้นเป็นวังน้ำลึก ชาวบ้านจึงเรียกว่า หัววัง จึงเรียกชื่อวัดนี้ว่าวัดวัง ซึ่งหมายถึงวังน้ำที่มีห้วงน้ำลึก นัยที่สอง เนื่องจากวัดตั้งอยู่ใกล้จวนเจ้าเมือง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วังเจ้าเมืองพัทลุง จึงเรียกวัดนี้ว่า วัดวัง แต่มีปัญหาว่าวังเจ้าเมืองพัทลุง สร้างขึ้นทีหลังวัดวังหรืออาจเป็นไปได้ว่าวังพระยาพัทลุง (ขุน ณ พัทลุง) อาจตั้งอยู่บริเวณโคกสูง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อวัดก็ได้

โบราณสถาน
วัดวังมีอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาทรงไทยมุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา มีช่อระกาประดับด้วยกระจกสี หน้าบันอุโบสถทั้งสอง จำหลักไม้ลงรักปิดทอง ด้านหน้าแกะสลักเป็นรูปพระพายทรงม้า ๓ เศียร ประดับด้วยลายกนกก้านแย่ง รูปยักษ์ รูปเทพธิดาและกินรี ลงรักปิดทอง ด้านหลังเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ๓ เศียร ประกอบด้วยลายกนกลงรักปิดทอง โดยหน้าบันทั้ง ๒ ด้าน ได้จำลองจากของเดิมที่ได้ถอดไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา ตัวอุโบสถเดิมมีขนาดเล็กกว่าปัจจุบัน แต่ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยพระยาพัทลุง (ทับ) เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ โดยได้ก่อฝาผนังอุโบสถขึ้นมาใหม่ให้มีความกว้างยาวกว่าเดิม ด้านหน้าอุโบสถมีมุขยื่นออกมามีเสากลมรองรับ ๒ เสา ภายในมุข มีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งห้อยพระบาท แสดงปางเลไลยก์ มีช้างและลิงปูนปั้นถวายรังผึ้ง เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ด้านข้างเป็นเสานางเรียงกลมก่อด้วยอิฐถือปูนอยู่บนฐานไพทีรับปีกชายคา ด้านละ
๗ เสา หัวเสาประดับลายปูนปั้นรูปกลีบบัวหงาย อุโบสถมีประตูทางเข้าด้านหน้า
๒ ประตู มีบานประตู ๔ บาน เดิมมีภาพลายรดน้ำรูปทวารบาล แต่เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒
ขุนอรรถวิบูลย์ (อรรถ จันทโรจวงศ์) ได้บูรณะใหม่โดยบานประตูด้านขวามือของอุโบสถ ๒ บาน แกะเป็นรูปกินรีบานละ ๖ คู่ ลงรักปิดทอง ส่วนประตูด้านซ้ายมือแกะเป็นรูปทวารบาล บานแรกแกะเป็นรูปเทพธิดาถือดอกไม้ ตอนล่างแกะเป็นรูปหนุมานแบก
อีกบานหนึ่งแกะเป็นรูปพระนารายณ์ ๔ กร ทรงถือสังข์ คฑา จักร และตรี ทรงพญานาค เป็นพาหนะ ตอนล่างของภาพเป็นรูปหนุมานแบกลงรักปิดทอง เหนือขอบประตูทั้ง ๒ มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้พรรณพฤกษาประกอบด้วยรูปสัตว์ต่าง ๆ ตอนใต้ของภาพเป็นรูปสิงห์โตแบบศิลปะจีน ตรงกลางเป็นลายขมวดประสานกันอย่างสอดคล้อง อุโบสถมีหน้าต่างด้านละ ๖ ช่องประดับด้วยลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษา บางช่องปั้นเป็นรูปหน้ากาล ลวดลายปูนปั้นทั้งหมดซ่อมใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย จำนวน ๔ องค์ ประดิษฐานบนฐานชุกชีย่อมุมไม้สิบสอง ฐานพระเป็นฐานสิงห์มีผ้าทิพย์ด้านหน้า พระประธานขนาดหน้าตักกว้าง ๒ เมตร มีพระสาวกปูนปั้นประทับยืนพนมมือ ด้านขวามือของพระประธานมีพระพุทธรูปสำริดทรงเครื่อง ปางห้ามสมุทรพร้อมฉัตร ๕ ชั้น ขนาดสูงรวมฐาน ๒๒๑ เซนติเมตร ส่วนด้านซ้ายมือของพระประธานมีพระพุทธรูปไม้จำหลักบุด้วยโลหะทรงเครื่องปางอุ้มบาตร ๑ องค์ มีขนาดสูงฐาน ๑๖๔ เซนติเมตร ถูกขโมยไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๒๕ ยังไม่ได้คืน ผนังอุโบสถด้านหน้าตอนใน มีรูปยายแก่ปูนปั้นนั่งชันเข่าขวาบนโต๊ะสี่เหลี่ยมก่อด้วยปูน มือขวาจับที่ตำหมาก มือขวาจับครกหมาก ด้านขวามือเป็นไม้เท้า ชาวบ้านเรียกว่า ยายไอ หรือ ยายทองคำ เชื่อว่าเป็นผู้บริจาคที่ดินสร้างวัด ผนังอุโบสถทั้ง ๔ ด้านเหนือกรอบหน้าต่าง เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องพุทธประวัติระดับเหนือภาพุทธประวัติเขียนภาพเทพชุมนุมทั้ง ๔ ด้าน เดิมผนังระหว่างช่องหน้าต่างมีภาพเขียนเรื่องชาดกพระเจ้าสิบชาติ แต่ปัจจุบันลบเลือนหมดแล้ว รอบอุโบสถมีใบเสมาหินทรายแดงประดับลายปูนปั้นเป็นลายพรรณพฤกษานั่งแท่นย่อมุมไม้สิบสองโดยรอบ และยังมีระเบียงคดล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ภายในระเบียงประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น จำนวน ๑๐๘ องค์

สถานที่ตั้ง
บ้านลำปำ
เลขที่ 61 หมู่ที่/หมู่บ้าน 4
อำเภอ เมืองพัทลุง จังหวัด พัทลุง
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
กองพุทธศาสนาสถาน กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๓. พิมพ์ครั้งที่ ๑. โรงพิมพ์การศาสนา
บุคคลอ้างอิง นางเนตรษา ทองแดง อีเมล์ pnuy90170@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง อีเมล์ culture_phatthalung@hotmail.com
ถนน ราเมศวร์
ตำบล ลำปำ อำเภอ เมืองพัทลุง จังหวัด พัทลุง รหัสไปรษณีย์ 93000
โทรศัพท์ 074617958 โทรสาร 074617959
เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/phatthalung
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่