ประวัติชีวิตส่วนตัว
นายศิวกานท์ ปทุมสูติ เดิมชื่อ “สวัสดิ์ ปทุมสูติ” เกิดเมื่อ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๙๖ ที่บ้านวังหลุมพอง บ้านเลขที่ ๒๔ หมู่ ๒ ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี บิดาชื่อนายกรวย ปทุมสูติ มารดาชื่อนางทองมา ปทุมสูติ สมรสกับนางพราม ปทุมสูติ มีบุตร ธิดา ๒ คน คือ นายภูมิไฑ ปทุมสูติ และ นางสาวในดวงตา ปทุมสูติ
ปัจจุบันอยู่ที่ “ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม” เลขที่ ๓๕ หมู่ ๑๓ ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ๗๑๑๗๐
๒.ประวัติการศึกษา
พ.ศ.๒๕๐๖ ป.๔ โรงเรียนวัดปทุมวนาราม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
พ.ศ.๒๕๑๔ ป.๗ ฝึกฝนตนเอง สมัครสอบสนามสอบกรุงเทพมหานคร
พ.ศ.๒๕๑๖ ม.ศ.๓ โรงเรียนผู้ใหญ่มหาวีรานุวัตร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.๒๕๑๘ ป.กศ. วิทยาลัยครูสวนสุนันทา กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๑ พ.ม. จากการฝึกฝนตนเอง (ชุดวิชาครูและชุดวิชาสังคมศึกษา) สมัครสอบสนามสอบราชบุรี และอบรมภาคฤดูร้อน (ชุดวิชาภาษาไทย) จากวิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง และ (ชุดวิชาวิทยาศาสตร์) วิทยาลัยครูนครปฐม
พ.ศ.๒๕๒๕ ค.บ. (ครุศาสตรบัณฑิต ภาษาไทย) วิทยาลัยครูกาญจนบุรี
พ.ศ.๒๕๕๐ ศศ.ม. (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ภาษาไทย) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
ประวัติการทำงาน
ชีวิตจากท้องไร่ท้องนาของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้พัฒนาการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ต่างๆ มากมาย แม้ต้นทุนชีวิตจะขาดแคลน ต้องระเหระหนไปเท่าที่จะมีทางให้เดิน ทว่าก็เป็นโอกาสให้เรียนรู้ชีวิตอย่างเข้มข้น คลุกคลีกับผู้คนที่หลากหลาย ท่ามกลางความหมายของชีวิต ทั้งหน้าที่การงานและงานวรรณกรรม
ในช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่นศิวกานท์ ปทุมสูติ ผ่านการทำงานทั้งเป็นเด็กเลี้ยงควาย ทำไร่ทำนา ค้าขายของชำ รับจ้างปะยางรถจักรยาน เป็นช่างตัดผม ตลอดจนเป็นนักเชียร์รำวง และเล่นเพลงพื้นบ้านตามเทศกาลในละแวกชนบทบ้านเกิด จากนั้นได้เดินทางไปประกอบอาชีพ ศึกษาต่อ และสร้างสรรค์ผลงานควบคู่กันไปในที่ต่างๆ โดยสังเขปดังนี้
พ.ศ.๒๕๑๒-๒๕๑๘
-ช่างตัดผมประจำร้าน “เนื่องเกษา”จ.ภูเก็ต
-พนักงานขายหนังสือให้สำนักพิมพ์กรุงธนบุรี
-บุรุษไปรษณีย์โทรเลข ไปรษณีย์กลาง บางรัก กทม.
-เซลส์แมน บริษัท ซี.คอเปอเรชั่น
พ.ศ.๒๕๑๕-๒๕๑๘
-มีผลงานตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารมหาราษฎร์
-ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “เสียงสนธยา” นศ.ครูภาคค่ำ วิทยาลัยครูสวนสุนันทา
พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๓๒
-เริ่มรับราชการครูครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านมะขามเอน กิ่ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
-ครูโรงเรียนวัดโพธิ์ทองเจริญ, โรงเรียนวัดปทุมวนาราม และโรงเรียนสุพรรณภูมิ
จ.สุพรรณบุรี ตามลำดับ
-คณะจัดทำและผู้เขียนประจำกองบรรณาธิการวารสาร “นักกลอนไทย”
-คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ “ประชากร” (หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสุพรรณบุรี)
-กรรมการสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
-บรรณาธิการเฉพาะกิจ (ดูแลงานวรรณกรรม) “สำนักพิมพ์ต้นอ้อ”
-เขียนบทกวีและงานเขียนอื่นๆ คู่ขนานมากับการทำงานเป็นข้าราชการครู
พ.ศ.๒๕๓๒-๒๕๔๗
-โอนย้ายสังกัดมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย วิทยาลัยครูกาญจนบุรี และได้ดำรงตำแหน่งเลขาศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี, หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย, หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์, บรรณาธิการวารสาร “แควใหญ่”, กรรมการสภาประจำสถาบันราชภัฏกาญจนบุรี, รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฏกาญจนบุรีตามลำดับ
-อุปนายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
-คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกาญจนบุรี
-คอลัมนิสต์นิตยสาร “มาตุภูมิ” คอลัมน์ “พื้นบ้านพื้นเมือง”
-คณะกรรมการพัฒนาหนังสือเรียนฯ สพฐ.กระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ.๒๕๔๗
-ลาออกจากราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ ๘เมื่อ ๑ เมษายน ๒๕๔๗
พ.ศ.๒๕๔๗ - ๒๕๔๙
-ดำเนินโครงการ “เติมไฟให้ครูเรียนรู้วรรณกรรม” ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ร่วมกับ
กานติ ณ ศรัทธา ในรูปแบบธุดงค์วรรณกรรมสัญจรเป็นวิทยาทาน
พ.ศ.๒๕๔๙
-จัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม” เพื่อให้การเรียนรู้ทางด้านภาษา วรรณกรรม วัฒนธรรม
และการใช้ชีวิต โดยได้เริ่มดำเนินโครงการ“โรงเรียนกวี” และ “ครูรากแก้วการอ่าน”
พ.ศ.๒๕๕๐-ปัจจุบัน
-วิทยากรโครงการ “แก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้และปลูกนิสัยรักการอ่าน” ให้การเรียนรู้แก่ครู ผู้บริหารการศึกษา ทั้งโรงเรียนในสังกัด สพฐ. สช. เทศบาล และหน่วยงานการศึกษาอื่นๆ ตลอดระยะเวลากว่า ๑๐ ปี ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
-วิทยากรโครงการ “โรงเรียนอ่านออกเขียนได้ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงพระเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา” โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่ ๓๒ (พะเยา-น่าน-เชียงราย)
-วิทยากรให้การอบรมครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส) โครงการ “โรงเรียนอ่านออกเขียนได้ฯ” ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
-วิทยากรโครงการด้านภาษา วรรณกรรม การศึกษาเพื่อชีวิตและการศึกษาทางเลือก
-คอลัมน์นิสต์ “ทางกวี” (บทกวีในภาพ) นิตยสาร “ทางอีศาน”
-เขียนบทกวีประจำวารสาร “ผู้ไถ่”
พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๑
-อุปสมบทที่วัดสันติธรรม จ.เชียงใหม่ และศึกษาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานที่วัดถ้ำพระ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน สืบต่อมาที่วัดดอยปุย จ.เชียงใหม่, วัดถ้ำขุนนิล จ.เชียงใหม่ และจำพรรษาที่วัดป่าคำอุดม จ.กาฬสินธุ์
พ.ศ.๒๕๖๑-ปัจจุบัน
-ลาสิกขา (๒๕๖๑) ใช้ชีวิตกวีและเป็นวิทยากรอิสระ
-ดำเนินโครงการ “โรงเรียนกวี” เป็นวิทยาทานปีละ ๑ รุ่น ต่อเนื่องจากปี ๒๕๕๐จนถึงปัจจุบัน
-จัดทำโครงการ “ล้อมวงอ่าน” ให้กับ โรงเรียนบ้านแม่ลิด จ.แม่ฮ่องสอน, โรงเรียนบ้านแม่จอ
จ.แม่ฮ่องสอน, ภาคภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ สถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ เป็นวิทยาทานตามโอกาส
-จัดทำโครงการโรงเรียนชีวิตศานติศรัทธา ระยะที่ ๑ (๒๕๖๓-๒๕๖๕) สร้างหนังสือ “โรงเรียนนอกคอก ศิษย์นอกตำรา” ร่วมกับคณะศิษย์ “ทุ่งสักอาศรม”
-ยังคงสร้างสรรค์ผลงานกวีนิพนธ์ต่อเนื่อง
-เริ่มสนใจสร้างสรรค์งานจิตรกรรมควบคู่กับงานกวีนิพนธ์
ผลงานวรรณศิลป์
กว่าสี่ทศวรรษที่ศิวกานท์ ปทุมสูติ ก้าวเดินบนเส้นทางวรรณศิลป์ บนทางชีวิตที่ขรุขระ และคลุกคลีกับวิถีชีวิตผู้คน ผ่านความขัดสนข้นแค้น อุปสรรคขวากหนาม ความงาม ความรัก ตลอดจนความอยุติธรรมของสังคม ซึ่งหล่อหลอมพลังการต่อสู้ การก่อเกิดมโนคติ จิตสำนึกและอุดมการณ์ในการใช้ชีวิต ล้วนเป็นต้นธารแห่งการสร้างงานวรรณกรรมของเขาทั้งสิ้น เริ่มจากเขียนบทกวี เรื่องสั้น และงานเขียนอื่นๆ นับเนื่องจากปี ๒๕๑๙ ระยะแรกมีผลงานเผยแพร่ในนิตยสารฟ้าเมืองไทย, วิทยาสาร, ชัยพฤกษ์, สตรีสาร, สกุลไทยและต่อมาในนิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, ข่าวพิเศษ, มติชนสุดสัปดาห์, เนชั่นสุดสัปดาห์, ขวัญเรือน, กุลสตรี, แพรวสุดสัปดาห์และอื่นๆ ทั้งยังสร้างสรรค์งานเขียนเป็นเล่มของตนเองอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ผลงานเล่มสำคัญๆ ของเขาได้แสดงพัฒนาการของรูปแบบและเนื้อหาแห่งชีวิต ที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางวรรณศิลป์ ความแปลกใหม่ ความก้าวหน้าอย่างมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น และทั้งเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต ซึ่งมวลศิษย์และบุคคลที่ใกล้ชิดจะสัมผัสรับรู้ได้ว่างานเขียนในรอยทางชีวิตของศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้สะท้อนตัวตนของเขาอย่างชัดเจนยิ่ง
งานเขียนที่ทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์และอุดมคติ มีทั้งบทกวี เพลง นวนิยาย สารคดี และงานวิชาการ โดยมีผลงานพิมพ์เล่ม หรือสื่ออื่นๆ ที่เผยแพร่มาไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี และมีงานหนังสือมากกว่า ๔๐ เล่ม ผลงานสำคัญมีดังนี้
ผลงานประเภทวรรณกรรม
๑.นิราศอู่ทอง(๒๕๒๕) : ผลงานกวีเล่มแรกที่เขียนถึงภูมินามท้องถิ่นด้วยความรักและความบันดาลใจจากชีวิตในละแวกถิ่นฐานบ้านเกิด
๒.สมเด็จพระภัทรมหาราชคำฉันท์(๒๕๒๕):กวีนิพนธ์คำฉันท์อันสร้างสรรค์รจนาพระราชประวัติและราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์ เผยให้เห็นพระอัจฉริยบารมีและพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาล
๓. เพื่อนแก้วคำกาพย์(๒๕๒๘):กวีนิพนธ์คำกาพย์แนวขนบประยุกต์ที่แต่งเป็นเรื่องยาว เป็นนิยายพื้นบ้าน มีทั้งกาพย์แบบฉบับ เพลงพื้นบ้าน และคำประพันธ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ นำเสนอวิถีชีวิตท้องไร่ท้องนา ทั้งด้านมืดและด้านสว่างของสังคม โดยมีนัยของรักสามเส้าและอิทธิพลท้องถิ่น ทิ้งโศกนาฏกรรมสะท้อนสะเทือนใจให้ขบคิด
๔.บทกวีร่วมสมัย(๒๕๒๙) : กวีนิพนธ์รวมเล่มหลากฉันทลักษณ์ สะท้อนความคิดพินิจสังคม เผยให้เห็นความขัดแย้งที่เกิดจากความอยุติธรรม และการเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นปกครองกับราษฎร ผ่านบุคลาธิษฐานและชะตากรรมของตัวละครชีวิต
๕. เพลงรักพื้นบ้าน(๒๕๓๐):รวมเพลงปฏิพากย์โต้ตอบระหว่าง “ทิดหนวด” กับ “แม่นกเอี้ยง” (ผ่านการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร “สตรีสาร” พ.ศ.๒๕๒๗-๒๕๒๙) เป็นแนวเพลงอิงขนบการเกี้ยวพาราสี สะท้อนปัญหาสังคมร่วมสมัย ด้วยท่วงทำนองและลีลาโวหารแบบพื้นบ้านประยุกต์
๖. คลื่นซัดฝั่งทราย(๒๕๓๐) :รวมบทกวีและเพลงพื้นบ้านพัฒนาเนื้อหาสะท้อนสังคม การเมือง และการศึกษา ที่เชื่อว่าแม้เพียงคลื่นที่ซัดสาดก็จะยังให้ฝั่งทรายร่วมรู้สึกรู้สาและพังทลายได้
๗. ดอกจันในดวงใจ(๒๕๓๑) :รวมบทกวีขนาดยาว ๖ เรื่อง ที่สร้างสรรค์ต่างวาระ โดยผนวกเอานิราศอู่ทองที่เคยตีพิมพ์เป็นเล่มแรกมารวมเข้าไว้ด้วย
๘. นิราศปรารถนา(๒๕๓๑): กวีนิพนธ์แนวนิราศอุดมคติ มิได้นิราศไปกับเส้นทางและสถานที่จริง ทว่าผูกประพันธ์สถานที่ต่างๆ ขึ้นเป็นบุคลาธิษฐาน สะท้อนความรู้สึกนึกคิด อันสืบเนื่องจากทุกขสัจจะของสังคม เพื่อสื่อสารถึงมโนสำนึกและมโนธรรมสังคมที่มุ่งหวัง
๙.หนึ่งทรายมณี(๒๕๓๑) : กวีนิพนธ์หลากฉันทลักษณ์แบบฉบับและกลอนพื้นบ้าน สะท้อนนัยของทรายมณีแห่งชีวิตและพลังของมวลสารในจิตวิญญาณมนุษย์ที่จะต้องยืนหยัดต่อสู้ เพื่อสันติสุขแห่งการดำรงอยู่ร่วมกัน
๑๐.ลิขิตไฟ(๒๕๓๑):นวนิยายการต่อสู้ของชายหนุ่มหญิงสาวที่ถูกชะตากรรมผลักเคลื่อนให้ชีวิตหักเห ท่ามกลางอำนาจเถื่อน อิทธิพลมืด ไฟแค้นและไฟราคะ เขา เธอ และเพื่อนผู้มิอาจหลีกเลี่ยง อนาคตที่มิอาจลิขิตได้จึงเป็นไปในเพลิงไฟที่รุ่มร้อน
๑๑. สร้อยสันติภาพ(๒๕๓๑):กวีนิพนธ์ซึ่งร้อยรัดสัมผัสกันด้วยจินตภาพอันกว้างไกล เผยให้เห็นสงครามภายนอกและภายในจิตใจมนุษย์ ด้วยน้ำเสียงแห่งสำนึกห่วงใย มุ่งมั่นและฟันฝ่าภายในโลกอุดมคติ ที่ท้าทายโลกความเป็นจริง
๑๒.สองเธอ(๒๕๓๒):นวนิยายเยาวชน เรื่องของวัยรุ่นหนุ่มสาว ที่เดินทางจากภาคกลางสู่ภาคเหนือเพียงลำพังสองเธอ ผ่านสถานการณ์ของความรัก ความรู้สึก ธรรมชาติของกิเลสตัณหาภายใน ขณะต่างมีสำนึกผิดชอบต่อความควรมิควร เขาและเธอต้องต่อสู้กับภาวะอารมณ์และเหตุการณ์สำคัญ ของการก้าวข้ามที่สุ่มเสี่ยง
๑๓.กำไรจากรอยเท้า(๒๕๓๓):บทกวีสำหรับเยาวชนที่อบอุ่นด้วยน้ำเสียงเชื้อชวนให้ทบทวนชีวิตที่ผ่านพบ ทั้งดีร้าย ทุกก้าวเดิน ให้กล้าเผชิญและฟันฝ่า ด้วยความเชื่อมั่นในรอยเท้าของตนทุกๆ ย่างก้าว
๑๔. บันทึกแห่งดวงหทัย(๒๕๓๔):กวีนิพนธ์รวมเล่มหลากฉันทลักษณ์ เผยความรู้สึกที่ซ่อนลึก ที่สะท้อนจากแรงกระทบกระทำต่อจิตใจมนุษย์ ปลุกเร้าพลังทางปัญญาและอุดมคติ ผ่านมุมมองชีวิต ธรรมชาติ
๑๕.หน้าต่างดอกไม้(๒๕๓๖):กวีนิพนธ์เชิงอุดมคติ ที่สร้างสรรค์จินตภาพของแผ่นดินด้วยบุคลาธิษฐานทางความคิด เผยภาพชีวิตและความรู้สึกพิสุทธิ์ ให้พลังแห่งความหวัง และทางออกจากความเสื่อมในรอยวิถี
๑๖.กระจกสีขาว(๒๕๓๖):กวีนิพนธ์กลอนเปล่า ที่ส่องสะท้อนการมองโลก ธรรมชาติ และชีวิต ด้วยกระจกของถ้อยคำ ทั้งในบทกวีและจิตใจ เปิดพื้นที่สีขาวในมโนวิญญาณให้ตรึกคิดอย่างอิสระ
๑๗.นครคับแคบ(๒๕๓๗):กวีนิพนธ์รวมเล่มหลากลีลาฉันทลักษณ์ สะท้อนความอึดอัดขัดข้องและคับแคบของดวงใจนคร ทั้งเรื่องราวจากเหตุการณ์ทางการเมือง สังคม และชะตากรรมของผู้ตกเป็นเหยื่อ
๑๘. ครั้งหลังยังจำ(๒๕๓๘):สารคดีชีวิตวัยเยาว์ของศิวกานท์ ที่ถ่ายทอดเรื่องราววันคืนของความรัก ความสุข ความตื่นเต้น การเรียนรู้ ประสบการณ์ ตำนาน เรื่องเล่า และการเดินทางของวันวาน ที่เป็นพลังผลักเคลื่อนชีวิต จากกาลครั้งนั้นถึงวันนี้ วันที่เหมือนและแตกต่างจากครั้งหลัง
๑๙. ทุ่งดินดำ แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง(๒๕๓๘) : กวีนิพนธ์คำโคลงประยุกต์เรื่องยาว สะท้อนวิถีชีวิตชนบท ที่เผยให้เห็นความขัดแย้งของอำนาจกับอุดมการณ์ของการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งยังแฝงนัยปรัชญาและปริศนาธรรม
๒๐. เสียงปลุกยามค่ำคืน(๒๕๔๑):กวีนิพนธ์สร้างสรรค์ฉันทลักษณ์ใหม่ชุด “กาพย์หัวเดียว” โดยปรับประยุกต์จากกลอนเพลงพื้นบ้าน เนื้อหาแบ่งเป็นสามภาค คือ วันคืนแห่งอดีตที่สุขสงบ ปัจจุบันสมัยรุ่งเรืองที่ผกกลับหลับใหล และอนาคตแห่งความครุ่นคำนึง ผ่านคำกวีอันกระทบกระแทก เสียดสี ซ่อนเศร้า และแสวงหวัง
๒๑. ข้าวเม่ารางไฟ(๒๕๔๔):กวีนิพนธ์สร้างสรรค์ฉันทลักษณ์ “กาพย์หัวเดียว” สืบต่อจาก “เสียงปลุกยามค่ำคืน” เสนอฉากและชีวิตวิถีชนบทที่เสมือนข้าวเม่าซึ่งถูกราง (คั่ว) ในกระทะที่พวกเขาไม่อาจเลือกฟืนหรือความร้อนของไฟ ชะตากรรมของพวกเขาราวกับข้าวเม่าอ่อนไฟ สุกๆ ดิบๆ หรือบางครั้งก็แก่ไฟจนไหม้เกรียม
๒๒.รักนั้นเป็นฉันนี้(๒๕๔๖):กวีนิพนธ์ที่อบอุ่นและกรุ่นอวลด้วยความรักความปรารถนา จุดไฟฝัน ให้เกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์รัก
๒๓.ไม้ ตะปู และหัวใจ(๒๕๔๗):กวีนิพนธ์ในนาม “จันทร วรลักษณ” ใช้กลอนสั้นๆ เรื่องละบทเดียว แบ่งเป็นหมวดหมู่ความคิด ส่งผ่านเนื้อหาเชิงปรัชญาชีวิต หยั่งวัดมโนคติ ดุจปลายแหลมของตะปูที่ทิ่มลงบนแผ่นไม้หัวใจ เมื่อค้อนแห่งถ้อยคำกระหน่ำตี
๒๔.ครอบครัวดวงตะวัน(๒๕๔๗):กวีนิพนธ์แห่งชีวิต ที่ผูกร้อยเรื่องราวของครอบครัวเล็กๆ ผ่านการเรียนรู้และการใช้ชีวิตในฐานะปัจเจกกวี ซึ่งมิอาจปฏิเสธการอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมอันใหญ่กว้าง โดยใช้พื้นฉากชีวิตสามัญ ทุกข์ สุข และวิถีของครอบครัวซึ่งมี “ทาง” แห่งความรัก ความอบอุ่น เปิดทางเลือกและพื้นที่อิสระทางความคิดให้ปรากฏ
๒๕.กว่าจะข้ามขุนเขา(ด้วยปลายมีดของเธอและฉัน) (๒๕๔๙) : กวีนิพนธ์แนวปรัชญาชีวิต ที่เล่นกับรหัสและกุญแจอันหลากหลายของฉันทลักษณ์ ในนาม “ธมกร” (ศิวกานท์ ปทุมสูติ) สะท้อนผ่านตัวละครต่างๆ และตัวตนเชิงบุคลาธิษฐาน ท่ามกลางอุปสรรคขวากหนาม อันเป็นดั่งขุนเขาภายใน ที่ต่างสร้างขึ้นและมีอยู่ ต่างจะต้องเรียนรู้ เฝ้าดูมัน เชื้อชวนกันอ่านและก้าวผ่านไปกับบทกวี
๒๖. ต่างต้องการความหมายของพื้นที่(๒๕๕๕):กวีนิพนธ์ ๒ ภาษา ไทย-อังกฤษ แปลภาคภาษาอังกฤษโดย “มานพ ประธรรมสาร”สะท้อนภาวะความขัดแย้งภายในและภายนอกของหมู่ชน ที่ต่างต้องการที่หยัดที่ยืน ขณะที่ต่างฝ่ายมิได้เรียนรู้ความหมาย ที่แท้จริงของพื้นที่ ก่อเกิดปัญหาของการก้าวล่วงพื้นที่ของกันและกัน กระทั่งรุกรื้อทำลายพื้นที่สาธารณะของความเป็นมิตรญาติอย่างใหญ่หลวง
๒๗.นัยตากวี(๒๕๕๕) : กวีนิพนธ์บทสั้นๆ เรื่องละ ๑-๓ บท แฝงปรัชญาความคิด ที่มองผ่านมิตินัยของธรรมชาติ ชีวิต และสภาวะอารมณ์ ด้วยมุมมองของ “ตาดวงที่สาม” เพื่อสื่อ “นัย” ความคิดที่ละเอียดอ่อน ปลุกตื่นมโนคติ และความเข้าใจชีวิต
๒๘. เมฆาจาริก(๒๕๕๖):กวีนิพนธ์เชิงปรัชญาชีวิต ในนามปากกา “ธมกร” ใช้กลอนสุภาพต่อเนื่องกันตลอดเล่ม ด้วยท่วงทำนองคลี่คลายจากรูปแบบ เผยอิสระในจินตภาพดั่งเมฆาที่จาริกตนไปเพียงละอองไอพิสุทธิ์และบางเบา และแทรกตัวไปได้ในทุกสภาวะ ตื่นรู้ไปกับการเดินทาง ทั้งเมฆาที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
๒๙. ทางจักรา(๒๕๕๙) : ปรัชญานิยายกวีนิพนธ์เรื่องยาว เขียนด้วยฉันทลักษณ์หลากหลายร้อยต่อกันดั่งข้อโซ่จักรา ดำเนินไปในเส้นทางจักรยานของครูกวีและศิษย์กวีหนุ่ม ผู้ต่างเผยให้เห็นปมปัญหาของชีวิตของกันและกัน ทับซ้อนกับปัญหาของสังคมและหมู่มวลมนุษยชาติ ทั้งในเส้นทางที่ผ่านพบ และในห้วงคิดคำนึง ที่สุดแห่งความจริงแห่งทุกข์และพันธนาการของมนุษย์อันสะท้อนสะเทือนผ่านจักราชีวิต
๓๐. ด้วยก้าวของเราเอง(๒๕๖๒):กวีนิพนธ์แนวนวัตกรรมวิวัฒน์ในนามปากกา “ธมกร” ทั้งบทยืนเรื่อง บทเสียงภายใน และบทนอกบรรทัด สื่อสะท้อนภาวะหลับและตื่นของจิตปัญญา ท้าทายการต่อสู้กับตัวตน สัจจะ วิทยาศาสตร์ และความหมายของชีวิต ทั้งต่อการเลือกทาง เลือกกระทำ และเลือกก้าวเพื่อการ “เปลี่ยนพบ” สู่ความเปลี่ยนแปลง เพื่อสิ่งที่ดีกว่า
๓๑. นาฏกรรมจำนรรจ์(๒๕๖๕):กวีนิพนธ์แนววรรณสัญญะพหุนัยซ้อนนัยที่ใช้ความงามและสัจภาวะเป็นสื่อให้เข้าถึงความดีงามและความจริงของศานติดุลยธรรม ที่ท้าทายการก้าวออกไปจากปุ่มปมของปัญหาและอัตตาวิถี สู่คุณค่าของความมีอยู่ของชีวิตที่จริงแท้