บ้านเจริญศิลป์ เดิมมีชื่อบ้านหัวทุ่ง ความเป็นมา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๓ นายลอย คำภูแสน ได้อพยพครอบครัวมาจาก อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนครมาจับที่ทำกิน อยู่ที่บ้านทุ่งคำ พอทำนาเสร็จก็ย้ายครอบครัวมาอยู่หัวทุ่งทางทิศตะวันออก ของหนองทุ่งมน ทางด้านทิศตะวันตกของหนองทุ่งมน เป็นบ้านทุ่งมน ซึ่งหมู่บ้านเดิม คือหมู่ ๙ ตำบลทุ่งแก อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร หลังจากนายลอยมาปลูกบ้านอยู่ครอบครัวแรกก็มี นายอุ่ย คำภูแสน ซึ่งเป็นน้องชายนายลอย มาจากบ้านงิ้ว ตำบลพังฮอ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และอีกหลายครอบครัวตามมา จนเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ขึ้นเป็นบ้านฝากของหนองทุ่งมน หมู่ที่ ๙ ตำบลทุ่งแก มีนายจันทร์ พาราช เป็นผู้ใหญ่เป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน ตำบลทุ่งแก บ้านหัวทุ่งก็มีประชาชนจากถิ่นต่างๆอพยพเข้ามาอย่างต่อเนื่องกำนันพาราช จึงตั้งนายตา จันทร เป็นผู้ช่วยให้ดูแลประชาชนเขตบ้านหัวทุ่ง ต่อมา นายอุ่ย คำภูแสน ได้พาชาวบ้านตัดถนนหนทาง ให้ได้มาตรฐานโดยแบ่งกันให้ครัวเรือนละ ๑ ไร่ และได้สร้างวัดขึ้นในเน้อที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน โดยนิมนต์หลวงปู่ช่วย มาจำพรรษา ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๔ -๒๔๙๕ พระคำสุวรรณศิริ ได้ธุดงค์จากอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี มาพักที่วัด และได้พัฒนาวัดสร้างกุฏิ ที่พักสงฆ์ขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ -๒๔๙๘ ประชาชนได้อพยพมาอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ นายจันทร์ พาราช ป่วยและเสียชีวิตลง ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านตำบลทุ่งแกว่าง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ กรรมการการปกครองจึงได้จัดให้ มีการเลือกตั้ง มีผู้สมัคร ๒ คน นายตา และนายจรัส คำภูแสน ซึ่งเป็นลูกชายของนายลอย คำภูแสน ผลการเลือกตั้ง นายจรัส ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๙ ต.ทุ่งแกและได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันในปีเดียวกัน ในปีนั้น นายจรัส คำภูแสน ได้แยกโรงเรียนทุ่งมนสมานมิตร จากฝั่งบ้านทุ่งมน มาอยู่บ้านเจริญศิลป์ ตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ ณ สถานที่ตั้งโรงเรียนอนุบาลเจริญศิลป์ในปัจจุบัน และได้แยกตำบลโคกศิลาออกจากตำบลทุ่งแก มีนายสุธรรมเป็นกำนันตำบลโคกศิลา คนแรกมีเขตปกครอง ๕ หมู่บ้าน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๑๗ นายจรัส คำภูแสน ป่วยและเสียชีวิตลง ตำแหน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านว่างลงจึงมีการเลือกตั้งใหม่ได้ นายลี สีสานอก บ้านทุ่ง เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๙ ตำบลทุ่งแก และต่อมาขอแยกออกจากหมู่ ๙ ตำบลทุ่งแก เป็นหมู่ ๑๒ ตำบลทุ่งแก มีนายพร ศรีวิภักดิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ บ้านเจริญศิลป์มีประชากรมาก จึงขอแบ่งแยกการปกครองจากตำบลทุ่งแก เป็นตำบลเจริญศิลป์ และแบ่งหมู่บ้านออกเป็น ๒ หมู่ และหมู่อื่นๆ คือ หมู่ ๑ หมู่ ๒ หมู่ ๓ บ้านทุ่งคำ หมู่ ๔ หนองฮังแหลว หมู่ ๕ แกดำ หมู่ ๖ นาดี หมู่ ๗ สร้างฟาก หมู่ ๘ กุดนาขาม มี นายบุญหลาย สอดส่อง เป็นผู้ใหญ่บ้านเจริญศิลป์ หมู่ ๑ และเป็นกำนันเจริญศิลป์คนแรก บ้านเจริญหมู่ ๒ นายพร ศรีวิภักดิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมานายบุญหลาย สอดส่อง ได้ลาออกจากตำแหน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ได้เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านเจริญศิลป์ หมู่ ๑ นายแสวง มูลสุวรรณ เป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ตำบลเจริญศิลป์ในเวลาต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นายแสวง มูลสุวรรณ เสียชีวิต นายบุญหลาย สอดส่อง ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านเจริญศิลป์ หมู่ ๑ และเป็นกำนันตำบลเจริญศิลป์ สมัยที่ ๒ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๓ หมดวาระ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต่อมา นายทองแดง หันจางสิทธิ์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน จนถึง ปี พ.ศ.๒๕๔๗ จึงหมดวาระการดำรงตำแหน่งต่อมา นายสุภี แสงชาติ ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านและนายวรรณชัย แพงพา เป็นกำนันตำบลเจริญศิลป์จนถึงปัจจุบันต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๕๐ บ้านเจริญศิลป์ได้แบ่งแยกออกเป็น ๒ หมู่คือหมู่ ๑๒ บ้านเจริญศิลป์ มีนายบุญช่วย ศรีมงคล เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๕๒ นายสุภี แสงชาติ หมดวาระการดำรงตำแหน่ง และมีการเลือกตั้งใหม่ได้ นายพงศ์มิตร สัพโส เป็นผู้ใหญ่บ้านเจริญศิลป์หมู่ ๑ จนถึงปัจจุบัน ๒.ศาสนา/ความเชื่อ ประชากรกว่า ๙๘ % นับถือศาสนาพุทธ ในปัจจุบันมีคนจากที่อื่นเข้ามาซื้อที่ดิน เพื่อปลูกสร้างบ้านและเปิดกิจการหลายอย่าง เพราะบ้ายเจริญศิลป์หมู่ ๑ อยู่ในเขตเทศบาล ซึ่งกำลังขยายตัวในทางเศรษฐกิจ ประกอบกับแรงงานที่เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ กลับมาทำมา หากินในบ้านเกิดตัวเอง บ้านเจริญศิลป์หมู่ ๑ มีวัด ๒ วัด คือ ๑ วัดศิริราษฎรวัฒนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ๒ วัดภูหินกอง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ๓.วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจาก จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรม และยังเคารพนับถือเครือญาติเป็นส่วนใหญ่ ให้เกียรติผู้อาวุโส ผู้เฒ่า ผู้แก่เป็นสำคัญ เมื่อก่อน ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ครั้งแรกได้จัดแบบแผนแปลนบ้านไว้สวยงาม กล่าวได้ว่าสวยที่สุดในจังหวัดสกลนคร บ้านเจริญศิลป์หมู่ ๑ เมื่อก่อนเป็นหมู่บ้านใหญ่ มี ๕๐๐ ครัวเรือน มาปี พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงได้แบ่งหมู่บ้านออกเป็นหมู่ ๑๒ จนถึงปัจจุบันบ้านเจริญศิลป์หมู่ ๑ แบ่งการปกครองออกเป็น ๒ ชุมชน โดยทศบาลเจริญศิลป์มีคณะกรรมการดูแลชุมชน ประชากรส่วนใหญ่ทำนา ทำไร่ ทำสวน ตามฤดูกาล ๔.วัฒนธรรมประเพณี บ้านเจริญศิลป์ยังคงรักษาประเพณี ฮีตสิบสองครองสิบสี่ กล่าวคือ บุญเดือนสาม งานสงกรานต์ บุญเบิกบ้าน บุญบังไฟ บุญเข้าพรรษา บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก ออกพรรษา ตักบาตรเทโวโรหะนะ บุญกฐิน ขึ้นปีใหม่ ๕.สถานที่สำคัญ/บุคคลสำคัญ/ปราชญ์ชาวบ้าน วัดศิริราษฎรวัฒนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตบ้านเจริญศิลป์ ทั้งสามหมู่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ หลวงพ่อบุญมี ฐานิสโร ได้ตั้งวัดภูหินกองขึ้นซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านและมีผู้นำทางศาสนา ซึ่งเป็นผู้เฒ่าผู้แก่เช่น นายวงศ์ สมทอง นายสุบิน สายคำ นายแสง นามเดช เป็นต้น ด้านปราชญ์ชาวบ้าน นายวงศ์ สมทอง ผู้นำด้านความเชื่อ พิธีกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน การจักรสาน เครื่องใช้ในครัวเรือน นายสุบิน สายคำ พิธีกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน การจักรสานเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นผู้นำด้านความสามัคคีในหมู่บ้าน นายพูล ปัจฉิมมา ผู้นำด้านพิธีกรรมความเชื่ออาทิ เช่น หมอสูตขวัญ นายถนอม หน่อแก้ว นางเฉลาชนะมาร ผู้นำด้านการกลอน หมอลำ ผะหยา วัดศิริราษฎรวัฒนา เจ้าอาวาสองค์แรกจนถึงปัจจุบัน ๑.พระครูศรี ภูมานุรักษ์ ๒. พระครูศิริ ธรรมโกศล ๓.พระอาจารย์วีระ กันตะศิริ (องค์ปัจจุบัน) วัดภูหินกอง เจ้าอาวาสองค์แรกจนถึงปัจจุบัน ๑.หลวงปู่บุญมี ฐานิสโร (หลวงพ่อน้อย)ปีพ.ศ. ๒๕๓๑- ปัจจุบัน ปราชญ์ชาวบ้าน ๑.นายวงศ์ สมทอง ผู้นำด้านความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ ๒.นายสุบิน สายคำ พิธีกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ๓.นายถนอม หน่อแก้ว นางเฉลา ชนะมาร ผู้นำด้านกาพย์ กลอนหมอลำ ผะหยา ๔.นายพูล ปัจฉิมมา ผู้นำด้านพิธีกรรม หมอสูตขวัญ พิธีต่าง ๆ ๕.นางประนอม แสงดี ภูมิปัญญาท้องถิ่น มัดไหม ทอผ้าฝ้าย รายชื่อกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเจริญศิลป์ ๑.นายบุญหลาย สอดส่อง ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ – ๒๕๒๐ (ผู้ใหญ่บ้าน ) ๒.นายแสวง มูลสุวรรณ ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๓๙ ( กำนัน ) ๓.นายบุญหลาย สอดส่อง ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ – ๒๕๔๓ ( กำนัน ) ๔.นายทองแดง หันจางสิทธิ์ ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ – ๒๕๔๗ ( กำนัน ) ๕.นายสุภี แสงชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ – ๒๕๕๒ ( ผู้ใหญ่บ้าน ) ๖.นายพงศ์มิตร สัพโส ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ – ปัจจุบัน ( ผู้ใหญ่บ้าน ) ๖.อื่นๆ ด้านการพัฒนา จากอดีต ( ถนนสายสว่าง-นาบัว-หนองทุ่งมน-การตั้งกิ่งอำเภอเจริญศิลป์ ) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๘ สมัยนายลี สีสานนอก เป็นกำนันตำบลทุ่งแก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมท เป็นรัฐบาลได้ผันเงินสู่หมู่บ้านในชื่อ ป.ร.ช.ต. ได้แต่งตั้งกรรมการ ๕ คน โดยนายสุบิน สายคำ เป็นคณะกรรมการ ๑ ใน ๕ คน ได้ขอเงินโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ (หนองทุ่งมน) ในอดีตหนองทุ่งมนช่วงฤดูแล้งหนองทุ่งมนจะแห้งจึงได้นำชาวบ้านรอบหนองทุ่งมนทำคูดินรอบหนองทุ่งมนเพื่อกั้นน้ำไว้ แต่ยังเล็กพอเป็นแนวกั้นและเป็นถนนให้ผู้คนสัญจรไปมาระหว่างบ้านทุ่งมนกับบ้านเจริญศิลป์เมื่อได้รับเงินงบประมาณจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาทจึงได้เสริมคันคูดินใหญ่ขึ้นกว่าเดิม รถยนต์สามารถวิ่งผ่านได้ ในช่วงนั้นสงครามชิ่งมวลชนก็ครุกลุ่นขึ้น กลุ่ม ผ.ก.ค. ได้แผ่อิทธิพลจากดงสีชมพู – ดงผาราช แผ่ลงมาเขตตำบลทุ่งแก โดยร้อยละ ๙๐ ตดอยู่ใต้อิทธิพลและเข้าเป็นมวลชนของ ผ.ก.ค. แทบทั้งสิ้น ทางกองทัพภาคที่ ๒ จึงส่ง พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก สมัยนั้นยศพันเอกพิเศษมาเป็น ผ.บ.ช.ค.๒๓ ส่วนหน้าตั้งฐานเฉลิมพล อยู่ที่สว่างแดนดิน (อำเภอสว่างแดนดินในปัจจุบัน) มีร้อยเอกเรวัต บุญทับ เป็นเสนาธิการ ช.ค.๒๓ และส่งร้อยเอกไมตรี ลาทา เข้ามาฝึก ท.ส.ป.ช. (ไทยอาสาป้องกันชาติ) ได้แต่งตั้งนายสุบิน สายคำ เป็นประธานรับอาวุธจากทางการและอยู่เวรยามในหมู่บ้าน สมัยนั้นถนนสายสว่าง – เจริญศิลป์ ยังเป็นทางเกวียนไปมาลำบากมากนายสุบิน สายคำ จึงได้เข้าหาลือกับท่านเส เรวัต ช่วยพัฒนาถนนท่านรับปากช่วยเต็มที่ โดยนำทหารจาก ช.ค.๒๓ ทั้งหมดพร้อมท่านวินัย (นายแขวงการทางสว่างแดนดินสมัยนั้น) และสุขาภิบาลสว่างโดยการนำของท่านนายอำเภอดาวเรือน นิชรัตน์ (นายอำเภอสว่างแดนดิน) นายสุบิน สายคำ ได้นำ ท.ส.ป.ช. บ้านเจริญศิลป์ *บ้านทุ่งมน*บ้านหนองน้อย*บ้านหนองแสง*บ้านทุ่งปลากัด ทั้งชายและหญิงถางป่ายกร่องถนนจากบ้านสนามชัยถึงบ้านเจริญศิลป์ ทำอยู่ ๘ วัน และเมื่อพัฒนาถนนเสร็จ นายสุบิน สายคำ จึงถือโอกาสฝากถนนสายนี้กับ นายแขวงวินัย ท่านก็เมตตาปัจจุบันเข้าในโครงการทางหลวงแผ่นดินและสร้างถนนในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทให้มาเพื่อสร้างแหล่งน้ำ นายสุบิน สายคำจึงเข้าขอจากกำนันลี สีสานอก และปลัดโอ่ง (ปลัดสว่างแดนดิน) ลงหนองทุ่งมนแต่มี ผู้คัดค้านเนื่องจากบริเวณหนองทุ่งมน มีเนื้อที่พันกว่าไร่และเจ้าของมีเอกสารสิทธิ์คือส.ค.๑ ทั้งสิ้น กำนันผู้ใหญ่บ้านทุ่งมน*เจริญศิลป์*หนองน้อย ได้เข้าขอจากเจ้าของที่ดินได้เกือบทั้งหมดที่สละให้ เหลืออยู่ ๑ คน ที่ไม่ยอมสละให้ และเป็นวันสุดท้ายที่จะส่งเอกสารถ้าส่งไม่ทันเงิน ๕, ๐๐๐,๐๐๐ บาท จะตกไปที่อื่น นายสุบิน สายคำ ได้อาสาเข้าเจรจากับเจ้าของที่ดินโดยเข้าใจและเห็นใจท่านยอมเซ็นชื่อมอบให้ความขัดแย้งจึงจบลงและเป็นวาสนาของชาวเจริญศิลป์ที่มีโอกาสได้ชมทิวทัศน์หนองน้ำที่สวยงามเชิดหน้าชูตามาจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๘ ชาวเจริญศิลป์ขอแบ่งแยกการปกครองเป็นกิ่งอำเภอเจริญศิลป์ จากอำเภอสว่างแดนดินทางการให้หาแนวร่วมให้ครบ ๕ ตำบลซึ่งได้แล้ว ๔ ตำบล คือ เจริญศิลป์*ทุ่งแก*บ้านเหล่า*โคกศิลา ยังเหลืออีก ๑ ตำบลจึงจะครบจึงแต่งตั้งคระกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งประกอบด้วยนายแสวง มูลสุวรรณ นายสุบิน สายคำ อาจารย์ธีระวัฒน์ คำหนองคู อาจารย์เริงศักดิ์ เพชรคำ อาจารย์สมอก เดชภูมี รวมทั้งกรรมการการศึกษาและประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง เดินทางไปตำบลหนองแปน ซึ่งมีกำนันถัน เป็นกำนันตำบลหนองแปน ท่านก็ยินดีเข้าร่วมและให้ประชุมชาวบ้านที่ศาลาวัดนาสีนวล ก่อน มีบางกลุ่มไม่พอใจและไม่อยากเข้าร่วม โดยฉะเพราะกลุ่มวัยรุ่นในสมัยนั้น ตะโกนด่าขับไล่บางคนขู่ว่าจะวางระเบิด ซึ่งดูแล้วน่ากลัวมากสำหรับคณะทำงาน ในวันนั้นสุดท้ายก็ไม่ได้ผลกลับมามือเปล่า ต่อมาก็กลับไปอีก ครั้งที่ ๒ โดยการนำของท่านปลัดโอ่งปลัดอำเภอสว่างแดนดินครั้งนี้ก็ไม่ได้ผล ๑๐๐ % มีมาบ้างประมาณครึ่งหนึ่ง ไปอีกครั้งที่ ๓ จึงสำเร็จผล โดยเข้าต่อรองให้สร้างถนนจากเจริญศิลป์ไปบ้านเหล่าเข้าดงผาราชเข้าสู่ตำบลหนองแปนโดยเร่งด่วนจึงตกลงกันได้ส่งเรื่องถึงกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พร้อมหาที่ดินปลูกสร้างสถานที่ราชการทางการอนุมัติเป็น กิ่งอำเภอเจริญศิลป์ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ โดยที่ทำการชั่วคราวโรงเรียนเจริญศิลป์ศึกษาโพธิ์คำอนุสรณ์มอบอาคารเรียนให้ ๒ หลังเป็นที่ทำการชั่วคราว ส่วนสถานีตำรวจได้บ้านดาบตำรวจปิยะ มหาจักร เป็นที่ทำการ นายประยุทธ รัชตวรรณ เป็นปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอเจริญศิลป์ จากวันนั้นถึงวันนี้ พ.ศ. ๒๕๕๓ *๒๐ กว่าปีแล้วถนนที่คณะกรรมการให้สัญญาไว้ในอดีตไปถึงไหนแล้ว ขอเรียนฝากหน่วยงานที่รับผิดชอบสานต่อให้สำเร็จด้วย แหล่งอ้างอิง นายสุบิน สายคำ ผู้ให้ข้อมูล นายพงค์มิตร สัพโส ผู้จัดเก็บข้อมูล