ผ้ายกเมืองนคร เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อลือเลื่องของเมืองนครเป็นที่รู้จักกันดีทั่วภาคใต้และในกรุงเทพ ตั้งแต่แรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้นมาแม้ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนที่ขุนช้างแต่งตัวเพื่อเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวคือขุนแผนยังได้กล่าวถึงไว้ว่า” คิดแล้วอาบน้ำนุ่งผ้า ยุคทองของพระยานครให้ ห่มส่านมัดทองเยื้อย่องไป บ่าวไพร่ตามหลังสะพรั่งมา”
ผ้ายกเมืองนครไม่ปรากฏว่ามีมาแต่ครั้งไหนเอาแบบอย่างมาจากที่ใดและอย่างไรเข้าใจว่าสมัยศรีวิชัยคงจะมีการทอผ้าอย่างจริงแล้ว อย่างไรก็ดีมีผู้กล่าวกันว่าชาวนครได้แบบอย่างทอผ้ามาจากแขกเมืองไทรบุรี ครั้งที่เมืองไทรบุรีคิดขบถ เมื่อ พ.ศ. 2354 เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช จึงยกทัพไปปราบได้กวาดต้อนครอบครัวเชลยมา ทั้งแขกที่เป็นชนพื้นเมืองแขกเชื้อสายผู้ดีสกุลสูง เจ้าพระยานครตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับตัวเมืองโดยให้พวกช่างทอผ้าอยู่บริเวณตำบลมะม่วงสองต้น อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แขกจากเมืองไทรบุรีนี้เอง ต่อมากลายเป็นครุสอนชาวนครให้รู้จักทอผ้า
สมัยก่อนชาวนครนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนกันทั้งหญิงและชายโดยเฉพาะเจ้านายผู้หญิงในเมืองนครศรีธรรมราช นุ่งผ้ายกกลีบเวลาออกรับแขกเมืองหรือไปร่วมทำบุญที่วัดประจำ ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ของข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ผู้ที่เข้าประชุมถือน้ำจะต้องนุ่งผ้ายกขาวเชิงทอง หรือผ้าสัมมะรส ส่วนผ้ายกทองนั้นมักใช้เฉพาะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรั้วในวัง ผ้ายกธรรมดาใช้กับผู้หญิงมักนุ่งผ้ายกดอกหน้านางหรือผ้าเก็บนัด ผู้ชายนุ่งผ้าหางกระรอก ลายผ้าทอมีหลายแบบ อาทิ เช่น ลานรัชวัตรเก้ากี่ (ผ้าตาสมุก) ยกริ้วยกร่อง ลายตา(ขาวเงินขาวทอง) ผ้าหางกระรอก ผ้าดอกลายพิกุล ลายก้านแย่ง ลายดอกมะลิร่วม ลายดอกพิกุลแก้ว ผ้าทอดิ้นทอง ผ้ายกโบราณทอดิ้นทอง ฯลฯ
ผ้ายกเมืองนครถือว่าเป็นของที่มีไว้เฉพาะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและข้าราชการผู้ใหญ่ในวังและคหบดีเท่านั้น ส่วนข้าราชการและราษฏรทั่วไปนิยมนุ่งผ้ายกลายธรรมดา การแต่งกายเนื่องในโอกาสพิเศษ เช่น งานมงคล สมรส โกนจุก บวชนาค หรืองานบุญที่วัด ผู้หญิงนุ่งผ้ายกดอกหน้านางหรือผ้าเก็บนัดและผู้ชายนิยมนุ่งผ้าหางกระรอก ส่วนผ้าสัมมะรส ผ้ายกขาวเชิงทองข้าราชการเมืองใช้นุ่ง ศิลปะการทอผ้ายกเมืองนคร ยังไม่สูญหายเพราะมีคนแถบตำบลนาสาร และตำบลช้างซ้าย ในอำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เคยมารับจ้างทอผ้าได้นำไปเผยแพร่ในหมู่บ้านของตน เกิดเป็นกลุ่มทอผ้าสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ บางส่วนเป็นครูสอนทอผ้าในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ศิลปะการทอผ้ายกเมืองนคร จึงได้รับการสืบทอดจนถึงปัจจุบัน