ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 14° 45' 17.9773"
14.7549937
Longitude : E 104° 17' 54.7771"
104.2985492
No. : 101592
เรือมอันเร
Proposed by. ssk Date 3 July 2011
Approved by. ศรีสะเกษ Date 14 November 2024
Province : Si Sa Ket
0 1461
Description

คำว่าเรือมอันเรหรือลูดอันเร เป็นชื่อการละเล่นอีกอย่างหนึ่งของชาวไทยที่พูดภาษาถิ่นหรือภาษาพื้นบ้าน เป็นภาษาเขมร ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษในอดีต นิยมเล่นกันในเดือนห้าหรือ แคแจด เป็นการเล่นในวันว่าง คือวันหยุดสงกรานต์ เพื่อความสนุกสนานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ชายหนุ่มในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อได้ยินเสียงกระทบสากก็จะมาร่วมสนุก และเข้าร่วมเรือม โดยจะคอยมองดูสาวที่ตนหมายปองเวลาเรือม ก็จะเข้าไปร่วมเรือมด้วย และถ้าต้องการใกล้ชิดสาวที่ตนหมายปองก็จะพาเรือมเข้าไปในสากที่กระทบกัน

ลักษณะการร่ายรำสนุกสนานครื้นเครงของชาวบ้าน โดยเฉพาะหนุ่มสาวจะมีท่ากระโดดเต้นเข้ากับจังหวะของสากที่กระทบกัน เกิดเสียงดังสนุกสนาน สากตำข้าวที่นำมากระทบกันทำให้เกิดเป็นจังหวะนั้น ใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้พยูง หรือไม้ประดู่(แต่ในการละเล่นเรือมอันเรของบ้านลมศักดิ์ในครั้งนี้ ได้ประยุกต์ใช้เป็นไม้ไผ่ เนื่องจากในปัจจุบัน ชาวบ้านไม่ได้ตำข้าวเพื่อรับประทานแต่ใช้โรงสีข้าวแทน) จึงเรียกว่าลูดอันเรหรือเรือมอันเร

เรือม แปลว่า รำ ลูดแปลว่า กระโดด หรือ เต้น อันเร แปลว่า สาก ดังนั้น คำว่าเรือมอันเร จึงแปลว่ารำสาก หรือเต้นสาก ภาคกลางเรียก “รำกระทบไม้”

การละเล่นเรือมอันเร ได้ถ่ายทอดสืบเนื่องมาตั้งแต่เมื่อใด มีใครเป็นผู้คิดริเริ่มไม่มีใครทราบ ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดให้มีงานเทศกาลดอกลำดวน ประจำปี ๒๕๓๐ และจัดให้มีการแสดง แสง สี เสียง “ศรีพฤทเธศวร” ซึ่งแสดงถึงประวัติความเป็นมาของจังหวัดศรีสะเกษ โดยกำหนดให้มีการแสดงเรือมอันเร เข้าฉากขบวนศรีพฤทเธศวรด้วย ท่านสุนาย ลาดคำกรุง นายอำเภอขุขันธ์ ในขณะนั้น จึงได้มอบหมายให้ นางหทัยรัตน์ อินทะพันธ์ นางวรลักษณ์ คิ้วสุวรรณ และคณะครูโรงเรียนขุขันธ์ ดำเนินการฟื้นฟู และประดิษฐ์ ท่ารำ กำหนดวิธีการเล่น ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่(ผู้รู้) และแนะนำการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย โดยผู้เรือม เป็นข้าราชการทุกสังกัด เช่น ครู ตำรวจ ทหาร หมอ พยาบาล เป็นต้น ส่งผลให้การแสดงพื้นบ้านเรือมอันเร ได้มีการพัฒนารูปแบบการรำขึ้น และรำเข้าฉาก งานแสง สี เสียง ศรีพฤทเธศวร ในงานเทศกาลดอกลำดวน ประจำปีมาโดยตลอด จะเปลี่ยนผู้แสดงบางส่วน ไปเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้แสดง เป็นข้าราชการ ในปี ๒๕๔๘ท่านกฤช รังสิเสนา ณ อยุธยา นายอำเภอขุขันธ์ในขณะนั้น เห็นว่า การเรือมอันเร เป็นการละเล่นพื้นบ้าน เป็นการละเล่นของชาวบ้าน จึงได้มีการหันมาฝึกให้ชาวบ้านเรือมอันเร เพื่อเข้าฉากแทนข้าราชการ และ ท่านได้เลือกกลุ่มเป้าหมาย คือ บ้านจันลม และได้มอบหมายให้องค์การ-บริหารส่วนตำบลลมศักดิ์ และนางเครือวัลย์ คำไสย์ นักวิชาการวัฒนธรรมผู้ประสานงานอำเภอขุขันธ์ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีนางวรลักษณ์ คิ้วสุวรรณ และคณะเป็นผู้ให้การฝึกซ้อม

ผู้แสดง ในการเรือมอันเร ไม่จำกัดจำนวน การฟ้อน แต่เดิมฝ่ายหญิงจะรำรอบสากที่ กระทบกัน ฝ่ายชายจะยืนอยู่รอบ ๆ ถ้าใครจะรำคู่กับฝ่ายหญิง ที่ตนหมายปอง ก็จะเข้าไปโค้งและขอรำคู่ด้วย ถ้าคู่ไหนรำเก่งและมีความแม่นยำในจังหวะการกระทบสาก ก็จะพากันรำเข้าสากในช่วงสากแยกออกจากกัน และรีบชักเท้าออกเมื่อสากกระทบกันตามจังหวะ และท่วงทำนองในการแสดง จะใช้คนรำมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานที่และโอกาส

การแต่งกาย การเล่นเรือมอันเร แต่เดิมไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์อะไรมาก เพราะชาวบ้านไม่ได้พิถีพิถันในเรื่องการแต่งกายมากนัก เสื้อผ้าที่นุ่งห่มเท่าที่มีอยู่โดยเลือกที่ดีที่สุด ถ้าเป็นหญิงจะนุ่งผ้าไหมที่ ทอเองหรือทอในหมู่บ้าน เช่น ผ้าถุงโฮลหรือซัมป๊วดโฮล การนุ่งซัมป๊วดโฮลจะต้องมีการต่อประโบล (เชิงผ้านุ่ง) ด้วย ส่วนผู้ชายจะนุ่งโสร่ง ต่อมามีการพัฒนาให้เป็นรูปแบบเดียวกันเพื่อความสวยงาม คือฝ่ายหญิงจะสวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้าโฮล ห่มสไบเฉียงไปมัดรวมกันด้านข้าง ดอกไม้ทัดหูและใส่สร้อยหรือสายสังวาล นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับอื่น ๆ เช่น ตุ้มหู สร้อยคอ เป็นต้น ส่วนฝ่ายชายจะสวมเสื้อคอกลมแขนสั้นนุ่งโจงกระเบน เป็นผ้าไหมพื้นบ้านที่เรียกว่าผ้ากระเนียว (ผ้าหางกระรอก) มีผ้าขาวม้าคาดเอวและพาดบ่า แล้วทิ้งชายผ้าไปข้างหลังทั้งสองชาย

ดนตรีและเพลง เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเรือมอันเร ประกอบด้วย โทน ๑ คู่ ปี่ใน ๑ เลา ซออู้ ๑ คัน ตะโพน ๑ ใบ ฉิ่ง ฉาบ กรับ อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบในการเรือมอันเร คือ สาก ๒ อัน ความยาวประมาณ ๓-๔ เมตร มีไม้หมอน ๒ อัน วางรองหัวท้ายสาก

เพลงที่ใช้ประกอบการแสดงเรือมอันเร การละเล่นพื้นบ้าน จะมีบทเพลงขับร้อง โดยมีดนตรีประกอบจังหวะ ซึ่งบทร้องจะเป็นภาษาพื้นบ้านของชาวไทยที่พูด ภาษาเขมร ทำนองและจังหวะเรือมอันเร สมัยก่อนมีเพียง ๓ จังหวะ คือ จังหวะจึงมูย จังหวะมลปโดง และจังหวะจึงปีร์ ชื่อท่ารำเรียกตามลักษณะการเข้าสาก เช่น ท่าจึงมูย หมายถึง ขาเดียว ในการเข้าสากในจังหวะนี้ จะก้าวไปในสากทีละขา ส่วนขาอีกข้างหนึ่งแยกออกจากกันตามจังหวะของดนตรี ท่ามลปโดง หมายถึง ร่มมะพร้าว ลีลาการฟ้อนคล้าย ๆ กับใบมะพร้าวกำลังโดนลมพัดเอนไป เอนมา ซึ่งเป็นการเรียกชื่อตามธรรมชาติที่อยู่ใกล้ตัว ท่าจึงปีร์ หมายถึง สองขา การรำเข้าสากนี้ จะเข้าไปอยู่ในสาก ทีละสองขาในช่วงจังหวะของสากแยกออกจากกันและต้องรีบ ชักเท้าออกให้ทันจังหวะสากกระทบกัน ต่อมาได้มีการพัฒนาท่ารำและจังหวะเพิ่มขึ้น ท่ารำส่วนมากเป็นท่าอิสระเพื่อความสนุกสนาน เกี้ยวพาราสี การเข้าไปรำในสากที่กระทบกัน ฝ่ายชายจะรำเดินไล่ฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายหญิงจะถอยรำตามระวังไม่ให้ฝ่ายชายถูกเนื้อต้องตัว ในการฟ้อนรำต้องใส่อารมณ์ให้แสดงออกมาทางสีหน้าประกอบท่าฟ้อน จึงจะให้ความสนุกสนาน ลักษณะเด่นของการเรือมอันเร อยู่ที่ความอ่อนช้อยของท่าฟ้อนรำทั้งชายและหญิง ประกอบท่วงทำนองเพลงที่ไพเราะ สนุกสนาน การเปลี่ยนท่ารำจากท่าหนึ่งไปอีกท่าหนึ่ง พร้อมกับท่วงทำนองของดนตรี สอดประสานกลมกลืนกับจังหวะของสากที่กระทบกัน ผู้รำเข้าสาก ในแต่ละเพลง ถือเป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่งด้วย การเรือมอันเร ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น เวลา สถานที่ และผู้เรือม และการเรือมอันเร เป็นการเพิ่มความสามัคคี กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม เป็นเครื่องผ่อนคลายความกดดันทางด้านจิตใจ ให้ความบันเทิงกับชาวบ้านและเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวชาวบ้านได้มีโอกาสได้พบปะกันด้วย

ที่มาข้อมูล:นางเครือวัลย์ คำไสย์ วัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

รูปภาพ:๑. งานเทศกาลดอกลำดวนบาน ปี ๒๕๔๙

๒. เว็บไซต์http://www.isangate.com/entertain/dance_07809.html

Category
Etc.
Location
บ้านจันลม
Moo 8 บ้านจันลม
Tambon ลมศักดิ์ Amphoe Khukhan Province Si Sa Ket
Details of access
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ
Email sisaket@m-culture.go.th
Road เทพา
Tambon เมืองเหนือ Amphoe Mueang Si Sa Ket Province Si Sa Ket ZIP code 33000
Tel. 045-617811-12 Fax. 045-617812
Website https://sisaket.m-culture.go.th/
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่