หมู่ที่ ๓ ๔ ๕ ๗ และหมู่ที่ ๑๑ บ้านป่าแดง ตำบลป่าเลา อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
ประวัติความเป็นมา
บ้านป่าแดง ตั้งเป็นหมู่บ้านมาประมาณ ๓๐๐ ปี (พ.ศ. ๒๒๔๒) เล่าสืบกันมาว่า ชาวบ้านป่าแดงได้อพยพมาจากประเทศลาวมากันหลายครอบครัวได้เดินทางข้าม แม่น้ำโขง มาทางภาคอีสานได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ร้อยเอ็ด และได้อพยพหนีความแห้งแล้ง แยกกันออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งได้เดินทางไปโคราช อีกฝ่ายหนึ่งเดินทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโคราช ได้ตั้งรกรากอยู่ที่นั่นไม่นานจึงเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ จนมาอยู่ที่เพชรบูรณ์โดยอพยพมาทางเขากระพังเพยทรัพย์ บ้านเจียง บ้านสีเสียด บ้านบ่อไทย บ้านวังท่าดีและได้เดินทางต่อมาเรื่อย ๆ ผ่านบ้านพราหมณ์ (ปัจจุบันคือบ้านพลำ) ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ตอนใต้ของหมู่บ้าน ปัจจุบันเรียกว่า บ้านเก่า และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บนเนินของหมู่บ้าน (หมู่ที่ ๑๑ ในปัจจุบันนี้) และชาวบ้านเคร่งในศาสนา มีศาสนาพุทธเป็นที่ยึดเหนี่ยวจึงได้บวชพระกันนาน ๆ หลายพรรษา คนที่บวชนาน เรียกว่า ประแดง เช่น พระประแดงปิ่น พระประแดงยัง พระประแดงอยู่ พระทั้งสามรูปมีความสามารถในด้านไสยศาสตร์และมีความรู้ทางด้านสมุนไพร ชาวบ้านจึงพากันมารักษากับพระทั้งสามรูปและได้เรียกนามบ้านตามพระทั้งสามว่า บ้านประแดง ต่อมาเพี้ยนเป็นป่าแดง
สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ และสงครามเอเซียมหาบูรพา ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ จอมพลป.พิบูลสงคราม ผู้นำของไทย คิดย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยออก พระราชกำหนดระเบียบการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และสร้างพุทธบุรี พ.ศ. ๒๔๘๗ ระหว่างยื่นพระราชกำหนดกระทรวง และกรมต่าง ๆ ได้เตรียมเคลื่อนย้าย เช่น กรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นหน่วยงานบังคับบัญชา โรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนนายร้อยเทคนิค โรงเรียนนายร้อยสำรอง และโรงเรียนเตรียมทหารบก รวมทั้งโรงเรียนนายร้อยฝากเรียน จึงย้ายหน่วยงานในความรับผิดชอบจากกรุงเทพฯ เข้ามาตั้งที่เมืองเพชรบูรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ และไปตั้งกองบัญชาการที่วัดโพธิ์กลาง บ้านป่าแดง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันสำคัญต่าง ๆ ประเพณีที่นิยมถือปฏิบัติต่อกันมาช้านาน คือ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันวิสาขบูชา ก่อพระทรายข้าวเปลือก แห่งน้ำพระทอง ซึ่งตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี การแต่งกายนิยมแต่งกายแบบประเพณีไทยและตามแบบสมัยนิยม ภาษา ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษาถิ่น การละเล่นพื้นบ้าน ได้แก่ รำแห่ดอกไม้ในเทศกาลงานแห่พระทอง ร้องเพลงแห่นาคในงานบวช การเล่นตุ๊บเก่ง (หมายถึง เครื่องดนตรีชนิดที่ใช้ในงานมงคลและงานศพ) การเล่นดนตรีไทยในงานมงคล