คำขวัญอำเภอขาณุวรลักษบุรี ได้มาจากการส่งคำขวัญเข้าประกวด ปรากฏว่า นางสาวชิดชนก วิสิทธิ์เขตกิจ เกิดวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๐ อยู่บ้านเลขที่ ๑๖๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลป่าพุทรา อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร เป็นผู้ชนะการประกวด ดังนี้ “เมืองตอเป็นแสน ดินแดนประพาสต้น ถิ่นคนผมแดง แหล่งอารยธรรมโบราณ” ซึ่งที่มา ดังนี้
พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสต้นและพักแรมที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี ตอนหนึ่งว่า
“ เวลาบ่ายสี่โมง แวะจอดถ่ายรูปหาดแล้วลงเรือชลาประพาสเที่ยวต่อไปแวะบ้านข้างฝั่งตะวันออกถึงบ้านตาแสนปม เป็นปมไปทั้งตัวแม้ไม่มีอะไรแดดเผา จึงได้ลงเรือต่อมาจนเวลาย่ำค่ำขึ้นที่บ้านหาดแสนตอ เดินข้ามไปวัดสว่างอารมณ์ ตำบลที่เรียกว่า แสนตอ เป็นชื่อเมืองขาณุนี้ มีตอมากจริงๆ เรือได้โค่นครั้งหนึ่ง เพราะเหตุที่ตลิ่งพังมาก เดินตามถนนฝั่งตะวันตก แวะเก็บอะไรต่ออะไรบ้าง มาจนถึงวัดที่เป็นวัดสร้างใหม่ เรียกว่า วัดหัวเมือง ตั้งแต่วัดนั้นจนถึงที่ว่าการเมือง ซึ่งเป็นเรือนหลังคามุงแฝกทั้งนั้น ที่จอดเรืออยู่เหนือที่ว่าการนิดหนึ่ง”
อำเภอขาณุวรลักษบุรี ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลแสนตอ บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงทางทิศตะวันตก ห่างจากลำน้ำปิงประมาณ 300 เมตร มีถนนจาก ที่ว่าการอำเภอ ไปจรดถนนพหลโยธิน ที่ตลาดสลกบาตร ตำบลสลกบาตร อำเภอขาณุวรลักษบุรี ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นชุมชนโบราณเรียกว่า เมืองแสนตอ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณรุ่นเดียวกับเมืองเทพนคร เมืองไตรตรึงษ์ เมืองพาน เมืองคณฑี เมืองนครชุม เมืองชากังราว
ชุมชนเก่าแก่ของอำเภอขาณุวรลักษบุรี คือชุมชนเขากะล่อน เป็นชุมชนในยุคหินใหม่มีอายุประมาณ 5,000 - 1,000 ปี จากการสำรวจของคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อพุทธศักราช 2530 พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก อาทิ ขวานหินขัด หัวธนู กำไล ลูกปัด เศษภาชนะดินเผา จากหลักฐานดังกล่าวยืนยันได้ว่า
ชุมชนเมืองแสนตอเป็นเมืองเก่าแก่ก่อนประวัติศาสตร์ของจังหวัดกำแพงเพชร แต่เดิมอำเภอขาณุวรลักษบุรี มีฐานะเป็นกิ่งอำเภอ แยกจากอำเภอคลองขลุง มีชื่อว่า "กิ่งอำเภอแสนตอ"
เดิมทีที่ว่าการกิ่งอำเภอแสนตอตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง (หน้าโรงเรียนวัดน้อยวรลักษณ์ในปัจจุบัน สาเหตุที่ย้ายที่ว่าการอำเภอขาณุมาอยู่ที่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันนี้ เนื่องจากที่ว่าการอำเภอได้พังลงน้ำปิงไปหมดแล้ว)