บัว ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทวย เป็นงานช่างฝีมือพื้นบ้านประเภทงานศิลปกรรมพื้นบ้าน ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของวัดวาอาราม
วัสดุที่ใช้ในการผลิตผลงาน เหล็กขาว หรือเหล็กทั่วไป ปูนซิเมนต์ ทรายละเอียด ดินน้ำมัน หรือดินเหนียว สีน้ำมันเคลือบปูน กระจกสี สีรองพื้น น้ำมันโซล่า หรือนำมันเครื่อง
เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต เกียง เหล็กฉาก เครื่องตัดเหล็ก แปรงทาสี จอบ ถัง ดินสอ หรือชอล์ก ตลับเมตร มีด ประแจดัดเหล็ก แม่พิมพ์
ขั้นตอนกระบวนการผลิต/วิธีทำ
1. ใช้นำมันหล่อลื่นทาเคลือบแม่แบบให้ทั่ว
2. ผสมปูนกับทรายอัตราส่วน 1 : 1
3. วาดแบบลงบนพื้นที่มีผิวเรียบ แล้วปั้นแต่งขอบแบบด้วยดินน้ำมัน หรือดินเหนียว ตกแต่งขึ้นรูปให้ได้ลักษณะตามแบบที่ต้องการ
4. นำปูนกับทรายที่เตรียมไว้เทลงภายในแบบที่ทำไว้ ตกแต่งขึ้นรูปตามความเหมาะสม ทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อให้ปูนจับตัวแน่น แล้วตกแต่งให้สวยงาม แล้วแกะเอาดินน้ำมัน หรือดินเหนียวออก เซาะลาย หรือร่องให้สวยงาม แล้วทิ้งไว้ให้แห้งสนิท ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง
5. สำหรับงานที่ใช้แม่แบบ ก็จะนำแม่แบบที่เตรียมมาวางไว้ แล้วนำปูนกับทรายที่เตรียมไว้เทใส่ในแบบประมาณครึ่งหนึ่งของแบบ แล้วดัดเหล็กวางขนานกันลงไปในแบบ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เหล็กขาวเพราะไม่ขึ้นสนิม สำหรับงานชิ้นใหญ่จะใช้เหล็กเส้น เพราะจะทำให้เกิดความแข็งแรง ก่อนเทปูนเพิ่มลงไปให้เต็มแบบ
6. นำชิ้นงานที่ได้ไปทาสีรองพื้นให้ทั่วทิ้งไว้ให้แห้ง ก่อนทาสีน้ำมันเคลือบปูนทับอีกชั้นหนึ่ง โดยมากนิยมใช้สีทอง เมื่อสีที่ทาแห้งดีแล้ว ก็จะใช้สีแดงมาตัดลายเส้นให้เกิดความสวยงาม หรือตกแต่งด้วยกระจกสี
7. นำชิ้นส่วนต่างๆ ไปประกอบในจุดที่เหมาะสม เช่น บัว ใช้ประกอบส่วนหัวเสาโบสถ์ วิหาร ทวยใช้ค้ำยันเสา ส่วนช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ก็จะประกอบไว้ที่หน้าจั่ว หรือหน้ามุข โดยใช้ปูนหรือตะขอเหล็กยึด