ชายทะเลปากพนังและแหลมตะลุมพุก
เป็นสถานที่ซึ่งอยู่บริเวณตอนบนของอำเภอปากพนัง ด้านที่ติดกับทะเลด้านใน (อ่าวนครฯ) มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ ส่วนด้านนอกที่ติดกับอ่าวไทยเป็นหาดทรายและมีต้นสนขึ้นเป็นแนวยาว เป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์มหาวาตภัยครั้งใหญ่จากพายุโซนร้อนแฮร์เรียตพัดถล่มแหลมตะลุมพุก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2505 ระดับน้ำสูง 5 เมตร กำลังลม 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คลื่นสูง 6.8 เมตร มีชาวแหลมตะลุมพุกสูญหายกว่า 1,300 คน ลักษณะของชายหาดปากพนังเป็นชายหาดยาวไปตามชายฝั่งทะเล มีแหลมตะลุมพุกเป็นแหลมทรายรูปจันทร์เสี้ยวยื่นไปในอ่าวไทย สามารถขับรถไปจนถึงปลายแหลมได้ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 4013 (นครศรีธรรมราช-ปากพนัง) มีทางแยกเข้าสู่แหลมตะลุมพุก ประมาณ 16 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางมีการทำนากุ้งสองข้างทางสลับกับแนวป่าชายเลน
มหาวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก
1. เส้นผ่าศูนย์กลางของพายุ มีขนาด 300 กิโลเมตร หรือใหญ่เท่ากับจังหวัดนครศรีธรรมราช
2. ความเร็วลม 180 – 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
3. ความเร็วในการเคลื่อนที่ 92.622 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
4. เสียงดังเหมือนเครื่องบินไอพ่น,น้ำทะเลม้วนตัวสูงขึ้นเป็นทรงกระบอกสูงกว่าต้นตาลหลายสิบเท่า
5. พายุลูกนี้ชื่อ แฮเลียตเป็นพายุระดับโซนร้อน
6. ระดับความรุนแรงของพายุแบ่งออกเป็น
- ดีเปรสชั่น ความเร็ว 60 - 85 กม./ชม
- พายุโซนร้อน ความเร็ว 86 – 110 กม./ชม.
- พายุไต้ฝุ่น ความเร็ว 111 – 125 กม./ชม.
7. วันที่เกิดเหตุการณ์ 25 ตุลาคม พ.ศ.2505 เวลาประมาณ 19.00-22.30 น.
8. ท้องฟ้าแดงฉาน คลื่นสูงเทียมยอดสน ( 20 เมตร ) ถล่มใส่แหลมตะลุมพุกลูกเดียว
9. ฝนตกลงมาเป็นบ้าเป็นหลังนานกว่า 3 ชั่วโมง
10. พอ 4 ทุ่มคลื่นลมหยุดนิ่งเป็นปลิดทิ้ง ผู้คนเริ่มออกมาสำรวจความเสียหาย
11. อีกครึ่งชั่วโมงต่อมา คลื่นลมมาอีกลูกสวนทางกับลูกแรก กวาดผู้คนและบ้านเรือนลงทะเลเหี้ยนเตียน
( คำอธิบาย – รูปแบบของพายุ เป็นรูปวงกลมตรงกลางเป็นช่องว่างเหมือนโดนัท เมื่อพายุลูกแรกซัดเข้า แหลมก็จะนำน้ำทะเลปริมาณมหาศาลขึ้นมาบนฝั่ง เมื่อเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุ ลมจะสงบนิ่ง และเมื่อพายุเคลื่อนตัวออก ปีกของพายุด้านท้ายจะกวาดต้อนสิ่งของและผู้คนบนแผ่นดินลงไปสู่ทะเล )
12. ลักษณะพื้นที่ของแหลมตะลุมพุก คือแผ่นดินเล็กๆที่ยื่นออกไปในทะเลเมื่อถูกพายุซัดเข้าใส่จะมีความรุน แรงมากกว่าพื้นแผ่นดินริมทะเลทั่วๆไปหลายเท่าตัว
13. ก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำทะเลบริเวณแหลมหดแห้งหายไปในทะเลยาวนับกิโลเมตร
มีหอยกาบปูขึ้นมาตายเต็มความยาวของหาด
14. พื้นที่บริเวณแหลมตะลุมพุก เป็นที่รวมของความหลากหลายทางวัฒนธรรม และ ศาสนา ที่
สามารถอยู่กันได้อย่างกลมกลืน มีทั้งชาวไทยพุทธ, ชาวจีน, ชาวมุสลิมที่เป็นชนส่วนใหญ่บนพื้นที่นั้น
อาชีพหลักคือการทำประมง แต่หลังจากเหตุการณ์มหาวาตภัยครั้งนั้น เหลือแต่ชาวมุสลิมที่ทำนากุ้ง
เท่านั้นและลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก ปัจจุปันถ้าไปยืนที่ปลายแหลมบางครั้งจะได้ยินเสียงลม
ที่เคลื่อนที่เป็นวงกลมอยู่รอบๆตัว
15. ความเสียหายครั้งนั้น มูลค่ากว่า 377 ล้านบาท เป็นจุดเริ่มต้นของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ
สรุปเหตุการณ์ มหาวาตภัยถล่มภาคใต้ ปี พ.ศ. 2505
เมื่อวันที่ 25-26 ตุลาคม พ.ศ.2505 ได้เกิดมหาวาตภัยขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย โดยที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการสูญเสียอย่างหนักกว่าที่ใด คลื่นใหญ่มหึมาม้วนตัวจากทะเลขึ้นบนบกกวาดสรรพสิ่งที่กีดขวาง ไม่ว่าจะเป็นเรือแพที่จอดอยู่หรือบ้านเรือนริมทะเล ต้นไม้ ชีวิตคน สัตว์เลี้ยง ล้วนถูกคลื่นยักษ์ม้วนหายลงไปในทะเลโดยไม่มีโอกาสได้รู้ตัวล่วงหน้า ที่อยู่ห่างชายฝั่งลึกเข้าไปในแผ่นดินก็ถูกพายุโถมกระหน่ำโครมเดียวปลิวว่อนบาดเจ็บล้มตายนับไม่ถ้วน คลื่นยักษ์กวาดบ้านเรือนและราษฎรลงไปในทะเลเกือบทั้งตำบล เรียกว่าวาตภัยในครั้งนี้มีความร้ายแรงที่สุดในรอบศตวรรษเลยทีเดียว ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีอายุ 70-80 ปี บอกว่าเกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นความร้ายแรงของธรรมชาติ และเคยเห็นความเสียหายอย่างมากครั้งนี้เอง จังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่ในสภาพเหมือนถูกปล่อยเกาะ เส้นทางที่จะติดต่อกับจังหวัดอื่นถูกทำลายพินาศหมด ทั่วทุกหัวระแหงในจังหวัดอยู่ในสภาพขาดแคลนทั้งเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค ไฟฟ้าในจังหวัดก็ดับหมด9 จังหวัดในภาคใต้ ได้รับความเสียหายอย่างมาก สถานที่ราชการ อาคารบ้านเรือน โรงเรียน วัด ถูกพายุพัดพังระเนระนาด การไฟฟ้าและสถานีวิทยุตำรวจเสียหายหนักไม่สามารถติดต่อกันได้ เรือที่ออกทะเลเสียหายมากมาย ต้นยาง ต้นมะพร้าวและต้นไม้อื่นๆ ล้มพินาศมหาศาล สวนยางนับแสนๆ ต้นโค่นล้มขวางเป็นสิบๆ กิโลเมตร หลายร้อยคนหาทางออกไม่ได้ คนภายนอกจะเข้าไปช่วยเหลือก็ไม่ได้ การช่วยเหลือต้องส่งเครื่องบินไปทิ้งอาหารให้
กองทัพเรือออกปฏิบัติการช่วยเหลือค้นหาเรือประมงในหลายจังหวัดทางภาคใต้ที่สูญหายไปเป็นจำนวนมาก และได้ค้นพบศพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในทะเลและบนบก รองอธิบดีกรมตำรวจสั่งการไปยังหน่วยบิน และหน่วยปฏิบัติการใต้น้ำแห่งกองบังคับการตำรวจน้ำ ออกค้นหาแต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคคลื่นลมพายุจนหมดความสามารถที่จะค้นหาผู้รอดชีวิตในทะเลได้
การรถไฟแห่งประเทศไทยประกาศงดเดินขบวนรถด่วนสายใต้ เพราะภูเขาดินพังทลายทับรางระหว่างสถานีช่องเขากับสถานีร่อนพิบูลย์ ในทะเลศพเริ่มลอยเกลื่อนไม่เหลือผู้รอดชีวิตให้ช่วยเหลือจากเครื่องบินหรือเรือรบเลย และผู้ที่เหลือรอดเผชิญกับปัญหาความอดอยาก และพบซากเรือแตกทั่วท้องทะเล จังหวัดนครศรีธรรมราชเวลากลางคืนมืดทึบไปหมดทั้งเมืองเพราะไฟฟ้าใช้การไม่ได้
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นปราศรัยถึงผู้ประสบวาตภัยว่ารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง คนไทยทั้งชาติรวมทั้งต่างชาติ อาทิ อังกฤษ, อิตาลี, เวียดนาม, สวีเดน, สหรัฐ ฯลฯ ตกตะลึงต่อข่าวมหาวิปโยค ต่างก็เข้ามาช่วยเหลือและบริจาคให้กับผู้ประสบภัยที่รอดชีวิตในครั้งนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความโทมนัสพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิตกระจายข่าวอย่างละเอียด เชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคกับในหลวงรวบรวมสิ่งของ เครื่องใช้ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเงินตามศรัทธา เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยดังกล่าว เพียงเวลาไม่นานนักประชาชนที่รับฟังข่าวจากวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต ต่างก็หอบหิ้วสิ่งของตามที่มีอยู่และซื้อหามาได้ ทั้งถุงข้าว เสื้อผ้า จอบ เสียม หม้อ กระทะ เข้าสู่พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นทิวแถว ได้ข้าวของมากมายกองเต็มไปหมด
ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ร.ส.พ. รถไฟ เครื่องบินของกองทัพอากาศ เรือของกองทัพเรือ รถยนต์ของหน่วยราชการ ทั้งหมดที่มีที่ช่วยได้ก็ระดมกันมาช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายเป็นการด่วนและเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิด มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานเงินบริจาคให้นำไปบรรเทาทุกข์อย่างทั่วถึงแล้วยังมีเงินเหลืออยู่ จึงทรงพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมประชาสมเคราะห์ ขอจดทะเบียนตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2505 โดยได้พระราชทานเงินจำนวน 3 ล้านบาทให้เป็นทุนประเดิมของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงทีมีการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยอย่างคึกคัก ทั้งทางสถานีวิทยุและสภากาชาดไทย