กู่แก้วเป็นปราสาทหินศิลาแลง สถาปัตยกรรมสมัยลพบุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นอโรคยาศาลา หรือสถานพยาบาลในชุมชนสมัยนั้น ปัจจุบันเหลือสถาปัตยกรรมเพียงบางส่วนให้ชม ส่วนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น ภายในบริเวณสภาพรกเรื้ออยู่บ้างเพราะขาดการดูแล
ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดกู่แก้วสามัคคี บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง
เส้นทางจากตัวเมืองขอนแก่นใช้ทางหลวงหมายเลข 12 ไปทางอำเภอบ้านฝาง ผ่านมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปประมาณ 11 กิโลเมตร ถึงสี่แยกฉางข้าวให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2062 ไปประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วข้ามคลองห้วยหัวหินไปไม่ไกล พบสี่แยกบริเวณบ้านเหล่านาดี ให้เลี้ยวซ้ายผ่านบ้านหว้า บ้านเหล่าโพนทอง ไปประมาณ 750 เมตร มีทางแยกขวามือเลี้ยวเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร ถึงวัดกู่แก้วสามัคคี
รถประจำทางขึ้นรถสายขอนแก่น-มัญจาคีรี ลงรถที่บ้านเหล่านาดี แล้วต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
สิ่งน่าสนใจเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน องค์ปราสาทหรือกู่สร้างด้วยศิลาแลง โดยมีกำแพงล้อมรอบพื้นที่ขนาด 24X36 เมตร มีการค้นพบศิลาจารึกภาษาสันสกฤตในโบราณสถานนี้ ระบุว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นอโรคยาศาลาหรือสถานพยาบาล กรมศิลปากรขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ.2529-2530
โบราณสถานที่คงเหลืออยู่ประกอบด้วย ปราสาทประธานมีมุขด้านหน้า บรรณาลัยหรือห้องสมุด กำแพงศิลาแลงมีโคปุระหรือซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก และบารายหรือสระน้ำกรุผนังด้วยศิลาแลง
โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ ประติมากรรมสลักหินทรายรูปพระยมทรงกระบือ นารายณ์ทรงครุฑ พระโพธิสัตว์ รวมทั้งศิลาจารึกที่ระบุถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทั้งหมดจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น