พระธาตุขามแก่นเป็นพระธาตุเป็นพระธาตุสำคัญองค์หนึ่งของอีสาน มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและเป็นที่มาของชื่อเมืองขอนแก่น โดยจังหวัดมีงานบวงสรวงองค์พระธาตุฯ วันที่ 13 เมษายน
ที่ตั้งอยู่ในวัดเจติยภูมิ ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง
เส้นทางจากอำเภอเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 209 ไปทางอำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ตรงไปข้ามสะพานน้ำพองไปประมาณ 500 เมตร ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2183 ผ่านบ้านโคกสี บ้านหนองบัวน้อย เมื่อถึงสามแยกบริเวณบ้านหนองตูมให้ตรงไปทางบ้านขามประมาณ 4.5 กิโลเมตร วัดเจติยภูมิอยู่ซ้ายมือ
รถประจำทางขึ้นรถสายขอนแก่น-กระนวน
ประวัติตำนานพื้นบ้านเล่าว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน เจ้าเมืองทั้งหลายร่วมใจกันสร้างพระธาตุพนม (จังหวัดนครพนม) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ กษัตริย์โมริยะแห่งนครโมรีย์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศกัมพูชา) พร้อมทั้งพระอรหันต์เก้าองค์ ได้อัญเชิญพระอังคารของพระพุทธเจ้าออกเดินทางไปเพื่อร่วมบรรจุลงในองค์พระธาตุพนม
ขณะเดินทางมาถึงบริเวณที่ต่อมาเป็นที่ตั้งพระธาตุขามแก่น ซึ่งเป็นที่่ดอนมีน้ำไหลผ่านโดยรอบ และมีต้นมะขามยืนต้นตายจนเหลือแต่แก่นต้นหนึ่ง ได้หยุดพักค้างแรมและอัญเชิญพระอังคารไว้บนแก่นไม้มะขามนั้น รุ่งเช้าเมื่อเดินทางต่อไปจนถึง จังหวัดนครพนมก็พบว่า พระธาตุพนมสร้างเสร็จแล้ว ไม่สามารถบรรจุพระอังคารลงได้ จึงเดินทางกลับตามเส้นทางเดิม พบต้นมะขามที่เดิมยืนต้นตายนั้น กลับแตกกิ่งแตกใบสะพรั่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ เห็นเป็นศุภนิมิต จึงร่วมกันสร้างพระธาตุครอบต้นมะขามนั้น โดยบรรจุพระอังคารพระพุทธเจ้าไว้พร้อมด้วยแก้วแหวนเงินทองจำนวนมาก เป็นที่มาของพระธาตุขามแก่น และเมืองขามแก่นโบราณ ซึ่งก็คือเมืองขอนแก่นนั่นเอง
สิ่งที่น่าสนใจนอกจากเป็นปูชนียสถานคู่เมืองขอนแก่นมาแต่โบราณแล้ว องค์พระธาตุขามแก่นยังเป็นเจดีย์ที่มีรูปทรงงดงาม สูงประมาณ 10 เมตร มีฐานเป็นรูปบัวคว่ำ ผังสี่่เหลี่่ยมสอบขึ้นด้านบน ปลายยอดเป็นฉัตรทอง องค์เรือนธาตุซึ่งเป็นดอกบัวตูม ย่อมุมไม้สิบสอง
ด้านทิศตะวันออกติดกับองค์พระธาตุ มีสิม หรือ โบสถ์เก่าซึ่่งสร้างคู่กับพระธาตุมาแต่โบราณ เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างรูปทรวงสวยงาม ลายฉลุไม้ที่หน้าบัน ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และลายรวงผึ้งที่บริเวณซุ้มด้านหน้า ฝีมือประณีตงดงาม ฝาผนังบริเวณประตูสิมมีภาพวาดฝีมือชาวบ้านรูปตำรวจถือปืนยาวเป็นทวารบาล